ข้องผิวไม้ไผ่ ของดีศรีเมืองใหม่

ปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมไปทำธุระที่อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ความที่ไม่เคยไปที่นั่นมาก่อน ก็เลยซอกแซกเที่ยวดูนั่นดูนี่หลายอย่าง ที่คิดว่าได้พบของดี น่าเอามาเล่าสู่กันฟัง ก็คือมีผู้พาไปดูการสานข้องและตะกร้าผิวไม้ไผ่ฝีมือดีมาก ที่ตำบลแก้งกอก นอกตัวอำเภอไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย

ก่อนไป ผมก็นึกว่าคงไปพบเจอคุณลุงแก่ๆ ผมหงอกหัวขาวนั่งสานข้องอยู่แน่ๆ ที่ไหนได้ คุณอุทิศ สระแสง หรือ คุณตั้ง ช่างสานข้องฝีมือเยี่ยมอายุเพิ่งจะ 46 ปีเท่านั้น สถานที่ทำงานสานข้องของคุณตั้งก็อยู่ใต้ร่มเงาไผ่กลางลานบ้านริมลำห้วยเล็กๆ ที่มองเห็นกอไผ่เรียงรายเป็นระยะๆ นั่นเอง

“ผมก็ซื้อไผ่บ้านจากละแวกนี้แหละครับ กอที่เห็นๆ นี่ ไม่พอใช้สานหรอก” คุณตั้งชี้ให้ดูลำไผ่กองใหญ่ข้างตัว “ซื้อเขามาลำละ 20 บาท เราต้องไปเลือกที่กอเองเลยนะครับ ดูลำขนาดอายุ 2 ปีขึ้นไป เนื้อไม้มันนิ่มกว่า ถ้าแก่เกินไปก็แตกง่าย ตรงข้อก็จะสีต่างกัน แล้วโปนขึ้นมาต่างจากตรงลำมากอีก เราเอามาเลื่อยเป็นท่อนยาวๆ ไม่ต้องแช่น้ำหรือรมไฟอะไรนะครับ ผ่าเป็นเส้น แล้วเอาเนื้อไม้ออก เพราะเราใช้แต่ผิวครับ”

ผมนั้นนึกว่าคุณตั้งจะมีมีดแบบนั้นแบบนี้ สำหรับทำงานแต่ละขั้นตอนที่แตกต่างกัน แต่ปรากฏว่ามีเพียงเล่มเดียวเท่านั้น แถมเป็นมีดทรงจงอยปากนกที่ใช้ตัดอ้อยธรรมดาๆ เสียอีก

“ตอนแรกผมเรียนกับน้าเขยครับ แกอายุ 60 กว่าปี แกใช้พร้าเลยแหละ ทั้งผ่า ทั้งเกลาผิว นี่ผมก็ต้องมีคีมไว้คอยหนีบ คอยตัด มีมีดไว้เหลาเส้นตอก มีที่ตัดเล็บ ไว้เก็บงานเล็กๆ ละเอียดๆ ตอนนี้ผมทำแค่ข้องกับตะกร้าสองอย่างครับ เพราะถ้าเราทำหลายอย่าง มันจะไม่ชิน สมมุติว่าทำหลายแบบ หลายทรง บางทีเราวางมือวางน้ำหนักไม่ถูก มันก็มีเพี้ยน มีเบี้ยวบ้างอะไรบ้าง แต่ถ้าต้องทำทุกวัน มันก็ได้อยู่นะครับ”

ผมเห็นคุณตั้งค่อยๆ นั่งสานตะกร้าไปช้าๆ ไม่รีบร้อน เลยถามว่าวันหนึ่งสานได้กี่ใบครับ คุณตั้งตอบว่า ถ้าใบขนาดกลางก็ได้ราว 2 ใบ แต่ก่อนนั้นเคยทำใบเล็ก จนถึงเล็กมากๆ ทำนองเป็นของตั้งโชว์ไว้ดูสวยๆ แต่ว่าทำยากกว่าตะกร้าหรือข้องขนาดปกติเสียอีก อันนี้ผมเพิ่งทราบจริงๆ

“ยิ่งใบใหญ่ยิ่งสานง่ายเลยครับ เร็วด้วย สมัยก่อนผมก็เคยสานสุ่มไก่” คุณตั้งชี้ให้ดูสุ่มไก่ฝีมือละเอียดสามสี่อันข้างบ้าน “สานสุ่มใหญ่ๆ อย่างที่เห็นนี่วันเดียวก็เสร็จครับ ขายได้ 200 บาท แต่คิดแล้วค่าไม้มันจะแพงกว่าเราสานตะกร้ามาก แล้วตั้งแต่มีโควิดมา บ่อนไก่ก็ต้องเลิก ตอนนี้ยังไม่กลับมาเลยครับ”

ผมเองไม่รู้วิชาการสานตอกสานผิวไม้ไผ่เอาเลย จึงได้แต่นั่งดูคุณตั้งเริ่มหยิบผิวไม้ไผ่แบนๆ มาขัดกันเพื่อสานขึ้นรูปจากส่วนก้น หมั่นคอยเอากระบอกฉีดน้ำฉีดเพื่อให้เส้นตอกผิวไม้ไผ่ยึดติดกันดีขึ้น ค่อยๆ สานจากก้นขึ้นไปด้วยตอกเส้นเล็กไปหาเส้นใหญ่ขึ้น ส่วนช่วงที่ผมได้ยินภาษายากๆ ประมาณว่า “สานข้างละ 14 เส้น คว่ำ 3 นอน 3 วนซ้าย ถ้า 16 เส้นจะวนขวา ขึ้นลง 3 ตอก ฯลฯ” นั้นก็ไม่เข้าใจหรอกครับ แต่เห็นเลยว่า ทั้งตะกร้าและข้องสานใหม่หมาด ผิวยังเขียวสดอยู่นั่น มีการขัดตัวของผิวไม้ไผ่ที่เรียบแน่นจริงๆ

ผมสงสัยว่า วิธีที่จะใช้ภาชนะสานแบบนี้ให้มีอายุงานนานๆ ต้องทำอย่างไร ไม่ควรล้างบ่อยใช่ไหม ปรากฏว่าผิดครับ “เห็นรูปทรงแบบนี้ พอสักสามปี มันจะเริ่มกรอบครับ เราต้องหมั่นทำความสะอาด คือใช้เสร็จก็ล้าง ตากให้แห้ง เก็บในร่ม จะทนกว่ามากครับ” คุณตั้ง ยังบอกว่า ฤดูกาลก็สำคัญ อย่างหน้าฝนแบบช่วงนี้ โอกาสที่จะมีมอดกินไม้ไผ่น้อยกว่าหน้าแล้งมาก

ทั้งตะกร้าและข้องสานฝีมือดีมากๆ นี้ คนสานขายราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ คือราวร้อยกว่าบาท แล้วแต่ขนาดและทรง จนผมอดไม่ได้ที่จะต้องบอกคุณตั้งไปตรงๆ ว่า น่าจะตั้งราคาขายสูงกว่านี้ได้อีก ถ้าคิดถึงฝีมือและความตั้งใจคัดเลือก ตระเตรียมวัตถุดิบ จนได้ของคุณภาพสูงระดับนี้ แต่ดูท่าแล้วคุณตั้งไม่คิดจะเพิ่มราคาแน่ ผมรู้สึกได้ถึงอารมณ์และเหตุผลบางอย่างที่คนสานตะกร้าชาวตำบลแก้งกอกผู้นี้คิด เพราะเมื่อถามว่า มีใครทำแบบนี้อีกบ้างไหม คุณตั้งบอกว่า

“ก็มีนะครับ แต่น้อยแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ที่ผมไม่สานอย่างอื่นไปพร้อมๆ กัน ก็เพราะว่านี่มันเป็นทางของเรา ตอนนี้เท่าที่รู้ มีหลายคนที่เขายังสานตุ้มกบตุ้มปลากันอยู่นะครับ ซึ่งผมก็จะไม่ทำอันนั้นหรอก เราจะไม่ไปแย่งเขาครับ”

บางทีมันอาจเป็นเรื่องเล็กๆ ดูไม่สลักสำคัญ โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่ผู้คนต้องไขว่คว้าหาโอกาสและรายได้เพิ่ม แต่คุณตั้งผู้ซึ่งเดิมทีรับงานก่อสร้างทั่วๆ ไป และเพิ่งรื้อฟื้นฝีมือเก่าที่รับถ่ายทอดจากน้าเขย กลับมาสานข้องสานตะกร้าได้เพียง 2-3 ปี ก็แสดงให้เห็นชัดเจนแน่วแน่ถึงจิตวิญญาณการเคารพพื้นที่และการสร้างงานช่างฝีมือของกันและกัน ไม่ได้มีร่องรอยของการจ้องจะเบียดขับช่วงชิงสินค้าและลูกค้า อย่างที่นโยบายการค้าสมัยใหม่มักเป็นกัน

เมื่อถูกถามว่า หากมีคนสั่งซื้อชิ้นงาน จะรับทำให้ไหม คุณตั้งตอบเลี่ยงๆ ไปว่า ที่มีคนสั่งมาตอนนี้ ก็ยังทำแทบไม่ทันอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี ผมก็ได้ขอเบอร์โทรศัพท์ไว้ เผื่อว่าจะมีใครผ่านไปทางอำเภอศรีเมืองใหม่ แล้วอยากแวะไปดู ไปเยี่ยมชมงานสานภาชนะธรรมดาๆ ด้วยผิวไม้ไผ่คุณภาพเยี่ยม ลองติดต่อ คุณตั้ง-คุณอุทิศ สระแสง ที่เบอร์โทร. 081-548-4889 ดูได้ครับ

ยิ่งสำหรับใครที่สนใจจะลองฝึกทำ ฝึกสานงานผิวไม้ไผ่ดีๆ คุณตั้ง บอกว่า ตนเองยินดีให้มาดู มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้เสมอ ผมเลยนึกไปถึงโรงเรียน นึกถึงเด็กนักเรียนในละแวกใกล้เคียงด้วยซ้ำ ที่น่าจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณและจัดแจงตารางเวลาจากทางโรงเรียน ให้ได้มาฝึกทักษะฝีมือท้องถิ่น ที่อาจมีคนรู้จักทำ รู้จักใช้ น้อยตัวลงทุกทีๆ แล้วครับ