สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ต่อยอดสู่โรงเรียน ผลิต แปรรูป พร้อมจำหน่าย

นางสุมิตรา กลิ่นบุบผา ครูชำนาญการพิเศษโรงเรียนบ้านคลองมดแดงสาขาป่าคา บ้านใหม่ชุมนุมไทร (ป่าคา) ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า โรงเรียนตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า มีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานของชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาโรงเรียนได้รับการสนับสนุนในหลายด้านจากสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บ้านป่าคา ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนซึ่งได้รับการสนับสนุนส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืน โดยการปลูกพืชยืนต้นที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น กาแฟ และอะโวกาโด ทดแทนการปลูกพืชไร่อายุสั้น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวไร่ และผัก สร้างรากฐานที่ดีให้แก่ชุมชน และโรงเรียนได้ต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลผลิตของชุมชน เช่น อะโวกาโด ภายใต้แนวทางการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตามธรรมชาติในเด็กและเยาวชนอย่างเต็มศักยภาพ โดยเรียนรู้จากประสบการณ์จริงฝึกทักษะให้ “ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง” ผสมผสานสาระความรู้ในด้านต่างๆ ปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ผ่านการจัดตั้งโครงการ “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งผลิตภัณฑ์” ขึ้น ให้นักเรียนทำผลิตภัณฑ์ในรูปแบบโครงงานตามหลักสูตรของโรงเรียน

“อะโวกาโด เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญในพื้นที่โดยรอบของโรงเรียน ด้วยรสชาติและเนื้อสัมผัสที่ดี ผลผลิตมีปริมาณมากและให้ผลผลิตเกือบตลอดทั้งปี ประกอบกับโรงเรียนมีกลุ่มวิชางานอาชีพทำให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำผลิตภัณฑ์สบู่และแชมพูจากวัสดุในท้องถิ่นซึ่งก็คือ อะโวกาโด เป็นผลิตภัณฑ์สบู่และแชมพูจากอะโวกาโด 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางขึ้นมาเยี่ยมชมสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ” นางสุมิตรา กล่าว

สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง บ้านป่าคา จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2551 มีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ความรู้และส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร สร้างความเป็นอยู่ที่ดี อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อมให้แก่ชาวไทยภูเขาบ้านป่าคาและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีหมู่บ้านเป้าหมาย ได้แก่ บ้านป่าคา หมู่ที่ 8 ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน บ้านโละโคะ และบ้านป่าหมาก หมู่ที่ 10 ตำบลโกสัมพี อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่จัดตั้งสถานีในเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า จำนวน 1,340 ไร่ และพื้นที่ขยายผลโครงการในหมู่บ้านเป้าหมายทั้ง 3 หมู่บ้าน จำนวน 16,208 ไร่

“อะโวกาโดเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงแร่ธาตุและวิตามินต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สามารถนำมาบำรุงผิวพรรณเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นป้องกันผิวแห้ง และช่วยบำรุงเส้นผมโดยใช้เนื้ออะโวกาโดหมักผมป้องกันผมแห้งเสียจากแสงแดด โดยเลือกผลอะโวกาโดที่ห่ามและไม่สุกจนเกินไปมาล้างให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า ลอกเปลือกและหั่นเป็นชิ้นพอดีสำหรับปั่นให้ละเอียด ระหว่างปั่นผสมน้ำเล็กน้อยเพื่อช่วยให้ปั่นได้ง่ายขึ้น

และอะโวกาโดปั่นที่ได้จะมีความข้นและเหนียวพอดี สำหรับการทำแชมพูอะโวกาโดจะใช้เนื้ออะโวกาโดปั่น 500 มิลลิลิตร ตั้งไฟอ่อนๆ เติมน้ำเล็กน้อย พอเดือดนำลงมากรองด้วยผ้าขาวบาง นำน้ำอะโวกาโดผสมหัวเชื้อแชมพู 1,000 มิลลิลิตร สารบำรุงเส้นผม 150 มิลลิลิตร และหัวน้ำหอม 10 มิลลิลิตร ผสมให้เข้ากัน แล้วจึงนำใส่ขวดปิดฝาเพื่อรอจำหน่ายหรือใช้เอง ทั้งนี้ ทางโรงเรียนได้ส่งเสริมให้นักเรียนผลิตและทำการตลาด ผ่านช่องทางออนไลน์ เพจเฟซบุ๊ก และร้านจำหน่ายในชุมชนและที่โรงเรียน”

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมด้วยมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางสุพร ตรีนรินทร์ รองเลขาธิการ กปร. รักษาราชการแทนเลขาธิการ กปร. คณะที่ปรึกษาฯ และคณะอนุกรรมการ ได้เดินทางไปยังโครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง บ้านป่าคาฯ เพื่อเชิญสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปมอบแก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ซึ่งสร้างความปลื้มปีติให้แก่ราษฎรและผู้ปฏิบัติงานในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยพสกนิกรเสมอมา

โอกาสนี้องคมนตรีและคณะได้พบปะราษฎรและเยี่ยมชมนิทรรศการของนักเรียนพบว่า การขยายผลการพัฒนาสู่ประชาชนและโรงเรียนในพื้นที่มีการประสานเชื่อมโยงต่อยอดเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นที่น่าพอใจโดยผลผลิตทางการเกษตรของราษฎรมีการนำมาเพิ่มมูลค่าได้อย่างครบวงจร นับตั้งแต่ผลิตภัณฑ์แชมพูสระผม โลชั่นบำรุงผิวจากอะโวกาโด ไปจนถึงกาแฟที่นอกจากจำหน่ายในรูปของเมล็ดกาแฟดิบ (กาแฟสาร) แล้ว ยังมีการพัฒนาต่อยอดเป็นกาแฟพร้อมดื่มบรรจุขวด โดยใช้ชื่อว่า “กาแฟโละโคะ” ซึ่งเป็นแบรนด์ของตัวเองอีกด้วย