ผู้เขียน | สุรเดช สดคมขำ |
---|---|
เผยแพร่ |
พริกบางช้าง ได้มีการประกาศการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 โดยมีผู้ขอขึ้นทะเบียนคือจังหวัดสมุทรสงคราม มีประวัติมาจาก “พริกมันบางช้าง TVRC365” เป็นพริกชี้ฟ้าพันธุ์ผสมปล่อย ที่อนุรักษ์พันธุ์ไว้ที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพริกบางช้างเป็นพริกพันธุ์พื้นเมืองที่อยู่ในกลุ่มพริกชี้ฟ้า เมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกที่มีคุณภาพ
การปลูกพริกบางช้างในสมัยโบราณนิยมปลูกยกร่อง ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง “แขวงบางช้าง” เป็นชุมชนเล็กๆ ที่มีความเจริญทั้งในด้านการเกษตรและการพาณิชย์ มีตลาดค้าขายเรียกว่า “ตลาดบางช้าง” มีสินค้าขึ้นชื่อหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นก็คือ พริกบางช้าง นิยมใช้เป็นส่วนผสมในอาหารตำรับชาววัง โดยเฉพาะน้ำพริกสูตรโบราณมีการระบุการว่าใช้พริกบางช้างเป็นส่วนประกอบ เพราะพริกบางช้างหลังจากนำไปประกอบอาหารจะให้สีสดและมีรสชาติไม่เผ็ดจนเกินไป ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญของอาหารชาววัง
ลักษณะของพริกบางช้าง เป็นพริกสดที่มีโคนผลใหญ่ ปลายเรียว เนื้อหนา ไส้ใหญ่ เมล็ดน้อย มีกลิ่นเฉพาะตัว ผิวเรียบมัน ผลอ่อนสีเขียวเข้ม ผลแก่สีแดงจัด รสชาติไม่เผ็ดมาก และพริกแก่จะมีลักษณะผิวสีแดงเข้มมันเงา พริกสดมีเส้นผ่าศูนย์กลางผลกว้าง 1.9-2.5 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตร เนื้อหนา 2-3 มิลลิเมตร ส่วนใหญ่ผลิตในพื้นที่อำเภออัมพวา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ.พิมพร ทองเมือง หรือ อาจารย์น้ำ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วิทยาเขตสมุทรสงคราม ให้ข้อมูลว่า การริเริ่มปลูกพริกบางช้างเกิดจากการที่ต้องการอนุรักษ์ให้พริกชนิดนี้อยู่คู่กับจังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้นำสายพันธุ์พริกบางช้างเข้ามาปลูกภายในมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นการทดลองและต่อยอดการผลิต ตั้งแต่ในเรื่องของการทำต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ และนอกจากทำการปลูกทดลองภายในมหาวิทยาลัยแล้วยังถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชน เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจอยากจะสร้างรายได้
“เนื่องจากอาจารย์เป็นเภสัชกร ในบางครั้งที่อยากจะทำยาและมีความต้องการพริกบางช้างเพื่อนำมาผลิตยา ซึ่งในจังหวัดสมุทรสงครามหาได้น้อย หรือมีการปลูกกันจำนวนไม่มาก ทีนี้พอเราทราบถึงปัญหาจึงได้นำพริกบางช้างเข้ามาปลูกภายในมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการทดลองและขยายพันธุ์ให้พริกมีจำนวนมากขึ้น จึงทำให้พริกบางช้างได้รับการอนุรักษ์ตั้งแต่นั้นมา และต่อยอดไปทำในเรื่องของนวัตกรรมอื่นๆ ได้อีกเช่นกัน” อาจารย์น้ำ กล่าว
ซึ่งการปลูกพริกบางช้าง อาจารย์น้ำ บอกว่า การปลูกพริกของสวนสุนันทาจะใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และการปลูกในพื้นที่นี้จำเป็นต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นพื้นที่ดินเค็ม โดยแปลงปลูกพริกเต็มวัยของพื้นที่ดินเค็มในบริเวณมหาวิทยาลัย จะใช้แปลงปลูกที่เป็นบ่อซีเมนต์รูปวงกลมที่มีพื้นปิด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 80 เซนติเมตร สูง 40 เซนติเมตร เพื่อลดการเสียน้ำและหลีกเลี่ยงดินเค็ม ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ผลผลิตพริกบางช้างมีขนาดเล็ก ต้นเจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์
บ่อซีเมนต์รูปวงกลม 1 บ่อ สามารถปลูกพริกได้ประมาณ 4–5 ต้น และง่ายต่อการกำจัดวัชพืช ระยะห่างของแต่ละบ่อควรมีประมาณ 1–2 เมตร เพื่อสะดวกในการดูแลต้นพริกบางช้างอย่างทั่วถึง ปลูกในโรงเรือน เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากสภาพแวดล้อมภายนอก
การปลูกพริกในบ่อเริ่มต้นด้วยการขุดหลุมลึกประมาณ 1 คืบ ปลูกต้นพริกลงไปในหลุม นำดินที่ผ่านการหมักมากลบและกดให้แน่นพอสมควร เพื่อให้รากของพริกยึดติดกับดินได้ดี ที่สำคัญคือต้องรดน้ำด้วยฝักบัวใน 7 วันแรก เพื่อลดการกระทบของต้นใหม่ ควรใช้น้ำบาดาลหรือน้ำที่กำเนิดจากธรรมชาติ เพื่อลดการสะสมของสารเคมีที่จะทำให้การเจริญเติบโตของต้นพริกไม่ดีเท่าที่ควร เมื่อดูแลรดน้ำใส่ปุ๋ยต้นพริกบางช้างจนมีอายุประมาณ 4 เดือน จะมีความสูงของพุ่ม 40–50 เซนติเมตร ติดผลประมาณ 20–30 ผลต่อต้น และต้นพริกที่มีอายุประมาณ 6 เดือน จะมีความสูงของพุ่ม 60–80 เซนติเมตร ติดผลประมาณ 40–60 ผลต่อต้น
เมื่อต้นพริกบางช้างได้อายุ 50–60 วัน ต้นพริกจะออกดอก ช่วงนี้ดอกแรกควรเด็ดทิ้ง เพื่อเป็นการป้องกันการแย่งอาหารของลำต้นและทำให้ต้นแตกออกเป็นพุ่ม และจะทำให้มีปริมาณดอกในคราวต่อไปเพิ่มมากขึ้น ระหว่างนั้นควรเติมปุ๋ยบริเวณหน้าดิน เพื่อเพิ่มสารอาหารแก่ต้นพริกบางช้างสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และจะเริ่มเป็นผลอ่อนในระยะ 90 วัน และแก่เต็มที่เมื่ออายุ 110 วัน
จากนั้นนำมาผลิตเป็นพริกแห้งโดยนำพริกบางช้างสดนำมาตากแห้ง ขนาดผลที่ได้จะเล็กกว่าขนาดผลของพริกสด เนื้อค่อนข้างหนาสีแดงเข้ม มันเงา ซึ่งพริกแห้งเหล่านี้ อาจารย์น้ำ บอกว่า จะนำมาบดให้เป็นพริกป่นจากนั้นนำมาทำการสกัดทำน้ำมันพริก โดยใช้อัตราพริกป่น 1 ส่วนต่อน้ำมันรำข้าว 2 ส่วน ซึ่งน้ำมันสกัดที่ได้นี้จะนำมารับประทานต่อได้ เพราะมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค หรือนอกจากที่จะนำไปรับประทานแล้วน้ำมันสกัดที่ได้จากพริกบางช้าง ยังสามารถนำไปผลิตเป็นยาได้อีกเช่นกัน
“ซึ่งน้ำมันพริกบางช้าง จากที่เราทำการสกัดออกมาแล้ว เมื่อส่งไปวิเคราะห์หาค่าต่างๆ ก็ถือว่ามีสารที่เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากที่เราจะนำไปผลิตยาได้แล้ว อย่างผงพริกบางช้าง เมื่อนำผงที่ได้ไปทำเกี่ยวกับอาหาร เป็นผงปาปริก้าที่ใช้สำหรับคลุกในมันฝรั่งทอดก็มีความอร่อย เพราะฉะนั้นการนำพริกบางช้างไปต่อยอดนวัตกรรมไม่ว่าจะเรื่องของยาหรืออาหารถือว่ามีคุณประโยชน์อีกมาก” อาจารย์น้ำ กล่าว
จากการสร้างนวัตกรรมและมีการงานวิจัยที่เกิดจากพริกบางช้าง อาจารย์น้ำ ทิ้งท้ายว่า รู้สึกภูมิใจที่ได้ดำเนินการและทำในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นการทำให้คนทั่วไปได้รู้จักพริกบางช้างมากขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใดพริกบางช้างจะเป็นอีกหนึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญที่จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน เมื่อมีการขยายผลและทำเป็นการค้ามากขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่เป็นการอนุรักษ์พริกบางช้างให้คงอยู่ต่อไป
สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการปลูกพริกบางช้าง หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสร้างเป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่ในเรื่องของการผลิตยาตลอดไปจนถึงการบริโภค สามารถติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 061-879-6369
…………………………………
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566