โรงเรียนบ้านห้วยชัน ดึงน.ร.หัดหว่านไถ-ปลูกข้าว สืบทอดวิถีชีวิต “ชาวนา”

เพื่อเป็นการเดินทางสายกลาง น้อมนำตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พิภัชพงศ์ คำพล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยชัน ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว สังกัด สพป.สระแก้ว เขต 2 จึงมอบหมายให้ คำผอง ไตรย์วงศ์ ครู คศ.1 โรงเรียนบ้านห้วยชัน เป็นผู้รับผิดชอบโครงการศึกษาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เดินทางสายกลาง ใช้ชีวิตพอเพียง ของโรงเรียนบ้านห้วยชัน โดยจัดสรรเนื้อที่ 5 ไร่เศษ ทำเป็นแปลงนาสาธิตให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้การปลูกข้าวและสืบทอดอาชีพชาวนา

“พิภัชพงศ์” เผยว่า โรงเรียนบ้านห้วยชันเปิดทำการสอนตั้งแต่อนุบาลถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีครู 19 คน นักเรียนจำนวน 250 คน จาก 2 หมู่บ้าน คือบ้านระเบาะหูกวางและบ้านห้วยชัน ผู้ปกครองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา และประมงในอ่างเก็บน้ำพระปรง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤตภัยแล้ง น้ำในอ่างเก็บน้ำพระปรงลดลงมาก ทำให้ขาดแคลนน้ำในการทำนา เกษตรกรทั้งสองหมู่บ้านจึงหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทนข้าว เช่น มันสำปะหลัง มันเทศ แตงโม แตงไทย แตงกวา ข้าวโพด และอ้อย จำนวนผู้ปลูกข้าวได้ลดลง ดังนั้นเพื่อไม่ให้การเรียนรู้เกี่ยวกับการทำนาต้องสูญหายไปจากพื้นที่ ทางโรงเรียนจึงให้เด็กนักเรียนทุกคนได้เรียนรู้วิถีชาวนา รู้หลักการทำนาอย่างถูกวิธีและได้ผลผลิตที่สูง โดยให้เด็กได้เรียนรู้จากทักษะชีวิตจริงไม่เน้นผลกำไร แต่จะเน้นทักษะการทำนาเป็นหลัก เรียนรู้หลักเศรษฐกิจพอเพียง

ผอ.โรงเรียนบ้านห้วยชัน ระบุว่า การทำนาของนักเรียนโรงเรียนบ้านห้วยชันจะเน้นการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ หยุดใช้ปุ๋ยเคมีและที่แปลงนาสาธิตแห่งนี้ได้เลิกใช้ปุ๋ยเคมีมากว่า 3 ปีแล้ว ก่อนปลูกข้าวจะปลูกพืชจำพวกปอเทืองและถั่ว เมื่อถึงฤดูทำนาจะไถกลบ ทั้งนี้จากการใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติทำให้สภาพดินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดินมีสีดำ เป็นดินร่วน ดินทรายมีน้อยกว่าเดิม และผลผลิตข้าวแต่ละปีจะมากกว่าเดิมเรื่อยๆ จากการทำนาของนักเรียนโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นแบบอย่างของเกษตรกรทั้งสองหมู่บ้านเป็นอย่างดีอีกด้วย

ด้าน “มณฑิตา สว่างสาลี” นักเรียนชั้น ม.3 บอกว่า จากการลงทำนาด้วยตนเอง ทำให้รู้ถึงคุณค่าของข้าว รู้คุณค่าของชาวนา กว่าจะได้เมล็ดข้าวมากินเป็นอาหาร ต้องใช้ทั้งแรงกายแรงใจ เนื่องจากการทำนาจะเริ่มตั้งแต่ไถคราด เตรียมดิน หว่านกล้า เมื่อต้นกล้าโตพอที่จะปักดำได้ก็ไปถอนกล้ามาปักดำ เมื่อปักดำแล้วต้องดูแลไม่ให้มีวัชพืช และดูแลไม่ให้มีศัตรูข้าวมาทำลายต้นข้าว เช่น ปู หอยเชอรี่ และต้องดูแลต่อเนื่อง กว่าจะออกรวงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต้องใช้ระยะเวลา 3-4 เดือน

การทำนาจึงเป็นอาชีพที่หนักมากอาชีพหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นอาชีพที่ลำบากแต่ก็ต้องรักษาไว้ เพราะเรากินข้าวเป็นอาหารหลัก

ขอบคุณข้อมูลจาก สวาท เกตุงาม