กลอย ของกินช่วงเกิดทุพภิกขภัย สู่เทศกาลงานบุญ

“ทุกข์ยากแค้นถึงจะได้กินมันกินกลอย” เนื่องจากว่าสมัยก่อนแล้งข้าวไม่ค่อยมี ต้องขุดกลอยกินแทนข้าว คำเก่าเล่าความหลังนี้คงให้ความหมายและคุณค่าของกลอยได้ไม่น้อยเลย โดยเฉพาะช่วงชีวิตที่ต้องเผชิญความแห้งแล้งทางธรรมชาติ กระทั่งถึงความสำคัญของกลอยในเทศกาลงานบุญข้าวสากที่ชาวอีสานได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับและผีไม่มีญาติ

กลอย

แม่ชีสมหมาย หงอกสิมมา อายุ 79 ปี วัดป่าปภาโส บ้านโนนฆ้อง หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านผือ อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ตอนเป็นเด็กช่วงตอนปลายสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เวลาไปขุดกลอย “ซึ่งเป็นไม้เถามีหนามชนิด Diosorea มีหัวกลมใหญ่อยู่ใต้ดิน ก้านใบยาว มีใบย่อย 3 ใบ ที่ปลายก้าน หัวดิบมีพิษเบื่อเมา แต่เมื่อฝานแช่น้ำไหลและนำมานึ่งหรือต้มให้สุกแล้วกินได้” (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525) มาแล้วต้องปอกเปลือกออกแล้วฝานเป็นแผ่นบางๆ แล้วนำไปแช่น้ำที่น้ำไหลเป็นเวลา 7 วัน แล้วสังเกตจนเป็นสีขาว จึงเอามาตากแดดให้แห้ง เวลาจะนำมากินต้องเอามาซาวน้ำแล้วนึ่งเหมือนนึ่งข้าวเหนียว แช่น้ำพอให้เปียกแล้วนึ่งรสชาติจะจืดเหมือนข้าว กินแทนข้าว สมัยก่อนอดอยากกินแม้กระทั่งเมล็ดไผ่

กลอยนึ่งสุก รสจืดเหมือนข้าวเหนียว

สมัยก่อนยากจน ตอนนั้นพ่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน ชื่อ ผู้ใหญ่พร หงอกสิมมา มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน ตนเองเป็นคนที่ 4 ตอนนั้นอดอยากยากแค้นถึงได้กินมันกินกลอย ทุกวันนี้ต้องซื้อกลอยกินแล้ว กลอยจะเกิดอยู่ที่โคก ป่าละเมาะ ข้อควรระวังตอนไปขุดกลอยจะคัน ต้องล้างน้ำออกให้หมด ดังนั้น คนสมัยก่อนจึงนำกลอยไปแช่ในลำธารหรือห้วยที่น้ำไหลเชี่ยว ถ้าไม่มีน้ำไหลก็แช่ใส่โอ่ง แล้วเปลี่ยนน้ำเรื่อยๆ สมมุติว่าแช่ 7 วันก็เปลี่ยน 7 ครั้ง

นึ่งกลอยในหวด

สมัยปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 (1 กันยายน 1939 (พ.ศ. 2482) ถึง 2 กันยายน 1945 (พ.ศ. 2488) เสื้อผ้าก็ต้องทอเอง ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กินกลอย กินมันเป็นเรื่องของการอดข้าว กินกบเขียด ปลาไม่ค่อยมีเพราะไม่มีน้ำ เวลาจะกินน้ำต้องไปเฝ้าน้ำกิน ต้องตื่นแต่เช้า เอาเชือกผูกคุน้ำหย่อนลงแช่ในก้นบ่อ พอน้ำออกเยอะๆ ก็ยกขึ้นพร้อมกัน ช่วงนั้นทั้งแล้งทั้งมีโรคอหิวาตกโรค ทั้งสงครามและไข้ทรพิษ คนที่หน้าลายเป็นจุดเกิดจากโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ คนตายเป็นเบือ ช่วงนั้นหล่ะเป็นช่วงที่กินกลอย สงครามก็มี เชื้อโรคก็มี ช่วงหลังสงครามทั้งโรคทั้งความอดอยาก ข้าวไม่พอกิน คือข้าวตายหมดเพราะแล้ง คนสมัยก่อนไม่ค่อยรู้จักทำกินเหมือนทุกวันนี้ หมกมัน หมกไฟ ย่างไฟ จึงมีคำพูดติดปากที่ว่า “ทุกข์ยากฮ่าย จั่งได่กินกลอย มันหมก” (ทุกข์ยากลำบากจริงๆ ถึงได้กินกลอย กินหมกมัน)

นึ่งกลอย

เหตุการณ์ประมาณตอนอายุ 7 ขวบ วิ่งไปตามผู้ใหญ่จึงเห็นเขาขุดกลอย ตายายไปหาขุดกลอย ป่าโคกหนองไผ่ แต่ก่อนยังไม่มีเขื่อนอุบลรัตน์ แถวนี้เรียกว่าลำเซิน เขาจะเรียกแถวสวนเซิน บริเวณเซินจะเป็นดงเป็นป่า ส่วนใหญ่จะไปขุดตามภูตามโคก เป็นป่าใกล้หมู่บ้านวิ่งตามผู้ใหญ่ เวลาได้กลอยมาก็ไปแช่น้ำเซินเพราะน้ำเซินไหล แช่ไว้ 6-7 วัน คนก็ไม่ลักขโมย ขนาดปลูกแตงคนก็ไม่ขโมยของกัน อาจเป็นเพราะคนสมัยก่อนมีความสัตย์ซื่อ หลังจากนั้นอายุ 17-18 ปีก็ไปเรียนหนังสือ (พ.ศ. 2504-2506) เรียน ม.7-ม.8 ที่กรุงเทพฯ เคยไปร่วมชุมนุมเรื่องเขาพระวิหารจากเขมร ที่ลานพระรูปทรงม้า ช่วงเป็นนักเรียน พ.ศ. 2504 เรียนอยู่ที่โรงเรียนอินทรศึกษาบำรุง ต่อมาเปลี่ยนเป็น โรงเรียนสมถวิลอยู่ซอยราชดำริ แล้วไปทำงานที่โรงกลั่นน้ำมันที่ศรีราชาเป็นลูกจ้างเงินเดือน 1,200 บาท สมัยนั้นก๋วยเตี๋ยวชามละ 5 บาท ข้าวแกงจานละ 3 บาท แล้วกลับมาเรียนสาธารณสุขที่ขอนแก่น เรียนจบก็ทำงาน

กลอยมีใบย่อย 3 ใบ

ทุกวันนี้มีกลอยขายแถวอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เขาใส่ถุงขาย ถุงละ 30 บาท ทุกวันนี้จะมาขายเป็นฤดู โดยเฉพาะช่วงบุญข้าวสากเพราะคนสมัยก่อนนำกลอยมาใส่กระทง บุญข้าวสาก คนนิยมใส่กลอยในกระทงช่วงบุญข้าวสาก เดือน 10 สมัยก่อนอดอยากเขาจะเอามาใส่ข้าวเม่า ช่วงข้าวกำลังแก่ สมัยก่อนทำให้ผีกินเพราะว่าปู่ ย่า ตา ยาย เคยกินแบบนี้

เถากลอยเลื้อยพันต้นไม้

แม่ชีสมหมาย กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้เราซื้อกลอยตามตลาด ซื้อมาแล้วก็แช่น้ำพอให้อ่อนประมาณ 20 นาที นึ่งสุกแล้ว ถ้าต้องการรสหวานก็โรยน้ำตาล ก็จะได้กลอยรสหวานน่ากิน สมัยก่อนกินแทนข้าวแต่ทุกวันนี้กินเป็นขนมแล้ว

เถากลอยมีหนามเล็กๆ

“ทุกข์ยากฮ่าย จึงได้กินกลอย มันหมก” (ทุกข์ยากลำบากจริงๆ ถึงจะได้กินกลอย กินหมกมัน) กลอยเกิดตามป่า กลอยมีเม็ดเป็นพวง มันจะหล่นลงตามพื้น น้ำพัดไปไหนมันก็ไปเกิดที่นั่น ที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ กลอยมันจะพัดไปตามน้ำ เขาทำเป็นอาชีพ เขาจะไปขุดในภูเขา สมัยก่อนคนรุ่นเก่าจะพานั่งล้อมวงกินมันเผา เพราะอากาศหนาว แต่กลอยมันจะมีขั้นตอนที่เยอะกว่า ตอนเป็นเด็กแล้งกระทั่งต้องไปรอน้ำในบ่อ แล้งต่อกันหลายปี คนอดอยากน้ำก็ไม่ค่อยมี ที่กินกลอยเพราะข้าวไม่มีกิน นำมากินแทนข้าว ส่วนที่คันต้องเอายางออก กลอยเป็นชนิดเดียวกับเผือก คันเหมือนกัน แต่กลอยจะคันรุนแรงกว่า แต่เผือกคนเอามาปลูก ส่วนกลอยเกิดเอง ถ้าหากลอยได้ 1 หัวก็กินอยู่หลายวัน

กลอยในป่า

โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคอีสานจะรู้จักกลอยดี ขายอยู่ตลาดคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ แถวอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น ก็มี ขาย 3 ถุง 100 บาท เขาทำเป็นอาชีพหาของป่าขาย

ต้นกลอยพันเลื้อยต้นไม้ในป่า

ฤดูฝน กลอยยังไม่มีหัวเพราะฝนตก หมดหน้าฝน ดินแห้งตกบริเวณไหนมีกลอยดินจะแตก กลอยที่นำมาขาย คนหาของป่าเอามาขายเขาจะตากแห้งไว้ ถึงหน้านี้จึงเอามาขาย ที่อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เวลาเราถาม เขาจะบอกว่าบ้านไหนทำกลอยขาย คนที่เข้าป่าหาของป่าเขาจะทำขาย เขาจะรู้ว่าตรงไหนมีกลอย เหมือนที่วัดเราก็รู้ว่าตรงไหนมีกลอย ถ้าไม่อยู่ในวัดกลอยก็หมดแล้ว เพราะมีคนเผาป่าก็ทำลายหมด

เถากลอยมีหนามเล็กๆ เป็นจำนวนมาก

คุณพัชรินทร์ เหลาประเสริฐ ที่อยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ที่ 2 บ้านกงกลาง ตำบลบ้านกง อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สมัยก่อนปู่ ย่า ตา ยาย กินแบบนี้ พอท่านล่วงลับไปแล้วจึงทำบุญไปให้ จึงทำแบบนี้เหมือนที่เคยกินเหมือนเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ยามปกติจะไม่ค่อยมีกลอยมาขาย แต่สังเกตว่าในช่วงเทศกาลงานบุญข้าวสากจะมีรถเร่มาขายตามท้องตลาด

เถากลอย

ส่วน คุณเดือน เหลาประเสริฐ ได้เล่าเรื่องกลอยที่ใส่ในกระทงบุญข้าวสากว่า บุญข้าวสาก (ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 10) ทำให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับ กระทงบุญข้าวสากที่ให้ผีเรียกว่า “ห่อข้าวน้อย” สิ่งของและอาหารที่ใส่ประกอบด้วย

1. นำเกลือกับพริกใส่กระทง

2. ผลไม้ เช่น องุ่น ตะบก 2-3 กลีบ ฝรั่ง 2-3 ชิ้น มันแกว 1 ชิ้น ถั่วลิสงกระทงละ 3 เม็ด ฟักทองอย่างละอัน (กระทง) ส้มโออันละชิ้น กลอย 3 ชิ้นอย่างละกระทง กระยาสารทกระทงละหยิบมือ ข้าวเหนียวสุกกระทงละคำ ข้าวต้มมัดปาดใส่มะพร้าว (ข้าวต้มหัวหงอก) ปลานิลเผา 1 ตัวเอาไว้ที่วัด กระทงนี้ (ทางอีสานเรียกต่อง) จะเก็บไปใส่นา เพื่อความเป็นสิริมงคลและความอุดมสมบูรณ์ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับ และผีที่ไม่มีญาติ ซึ่งในวันนี้จะมารับส่วนบุญ

กระทงข้าวสาก (สองต่องห้อยกิ่งไม้) ที่ผู้เขียนสเก็ตช์ไว้ขณะสัมภาษณ์

ส่วน “ห่อข้าวใหญ่” ที่ถวายพระช่วงเพลจะไม่มีกลอย จะมีปิ้งไก่ใหญ่ 1 ตัว แจ่วบอง 1 กระปุกเล็กที่เขาขายอันละ 10 บาท ข้าวหัวหงอกเป็นถุงใส่ถุงพลาสติก กระยาสารทใส่เป็นห่อ

อย่างไรก็ตาม เพราะกลอยหากินยากเนื่องจากอยู่ในป่าลึก ดังนั้น ทุกวันนี้จึงมีให้เห็นเฉพาะตามรถเร่ที่ทำใส่ถุงขายสำเร็จแล้วหรือตามร้านขายของป่าริมทางเฉพาะในบางพื้นที่ที่อยู่ใกล้ป่าเขา เช่น อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เท่านั้น นอกจากคุณค่าของกลอยที่กินแทนข้าวในช่วงเกิดทุพภิกขภัยเมื่อครั้งอดีต แต่ทุกวันนี้ก็เปลี่ยนมามีบทบาทในเทศกาลบุญข้าวสาก ซึ่งต่างก็มีคุณค่าคู่กับประเพณีอีสานบ้านเฮามาจวบจนถึงทุกวันนี้