แอฟริกาเป็นทวีปที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่ทำไมประชากรยังคงยากจน

เราเข้าใจว่าพื้นที่อุดมสมบูรณ์ทำนาทำไร่กันมาเป็นร้อยๆ ปีอย่างบ้านเรานี่แถบเอเชียที่น่าจะเป็นแถบที่ทำการเกษตรมากที่สุด แต่เอาจริงกลับเป็นทวีปที่แห้งแล้งอย่างแอฟริกา เขาทำเกษตรกรรมกันเกือบครึ่งหนึ่งของทวีปที่ทั้งร้อนทั้งแล้ง

อากาศและสภาพดินไม่เป็นใจสุดๆ แต่ทำไมเขายังทำการเกษตร? เพราะมันเป็นสิ่งเดียวที่เขาทำได้โดยไม่ต้องไปร่ำเรียนเขียนอ่านใดๆ ความยากจนทำให้คนจำนวนมากไม่ได้เรียนหนังสือ ไร่นาแม้มันจะแตกระแหงดูไร้หวัง มันก็เป็นที่เดียวที่พวกเขาจะพึ่งพาได้

เกษตรกรรมในแอฟริกามีปัญหาและอุปสรรคมาก ส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารและการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งทวีปมหึมาที่มีประชากร 1,300 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 5 ของประชากรโลก ทั้งยังเป็นทวีปที่มีประชากรเติบโตเร็วที่สุดในโลก อัตราเพิ่มประชากรเฉลี่ยอยู่ที่ 2.4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

ประชากรของแอฟริกาส่วนใหญ่หรือเกือบครึ่งอาศัยอยู่ในเขตเมืองเพราะมีสาธารณูปโภคที่ดีกว่า เมืองที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาคือ ไคโรของประเทศอียิปต์ เคปทาวน์ของแอฟริกาใต้ ลากอสของไนจีเรีย และโจฮันเนสเบิร์กของแอฟริกาใต้อีกเช่นกัน แอฟริกาใต้เป็นชื่อประเทศ ไม่ได้หมายถึงทวีปแอฟริกาใต้แต่อย่างใด

เอาจริง แอฟริกาเป็นทวีปที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย รวมถึงน้ำมัน แก๊สธรรมชาติ ทองคำ และเพชร แต่ประชากรส่วนใหญ่ยังคงยากจนและด้อยพัฒนา

แอฟริกามีภูมิอากาศที่หลากหลาย ตั้งแต่ทะเลทรายสะฮาราที่แห้งแล้งไปจนถึงป่าฝนเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ แต่ภูมิอากาศส่วนใหญ่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตรกรรม พื้นที่แห้งแล้งก็ขาดแคลนน้ำฝน ส่วนพื้นที่ป่าก็เปียกชื้นก็มีโรคและแมลงศัตรูพืชมาก

ความยากจนและขาดแคลนทรัพยากร ทำให้เกษตรกรในแอฟริกาส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีรายได้น้อย ขาดแคลนทรัพยากรทางการเกษตร ไม่ว่าจะที่ดิน น้ำ ปุ๋ย และเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่

ฝนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำเกษตรกรรมในแอฟริกา พื้นที่ที่มีฝนน้อยก็แห้งแล้งขาดแคลนน้ำ พื้นที่ที่มีฝนมากก็มักเจอปัญหาน้ำท่วม พืชผลเสียหาย คือไปทางไหนก็เจอปัญหาว่างั้น น่าเศร้า

ประเทศที่มีฝนตกเฉลี่ยน้อยที่สุดในแอฟริกาคือ ประเทศเล็กๆ ชื่อ จิบูตี ฝนเฉลี่ยแค่ 100 มิลลิเมตรต่อปี จะดูว่าแล้งขนาดไหนก็ลองเทียบของไทยเราที่มีฝนปีละ 1,500

พืชผลที่จิบูตีปลูกกันตามมีตามเกิดก็เป็นของที่ต้องมีไว้กินประทังชีวิต อย่าง ข้าว ข้าวโพด ถั่วลิสง มะเขือเทศ และแตงกวา ส่วนใหญ่ปลูกในพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลและที่ราบสูงตอนกลางของประเทศ ซึ่งก็มีพื้นที่ไม่มากนัก

ประเทศที่มีฝนเฉลี่ยน้อยรองลงมาคือ ประเทศเอริเทรีย อยู่ในอาการร่อแร่พอกัน คือมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 150 มิลลิเมตรต่อปี ในปี 2565 ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศเอริเทรีย ก็คล้ายกับจิบูตี ปีที่แล้วนี่ผลิตข้าวได้ 20,000 ตัน ข้าวโพด 3,000 ตัน ถั่วลิสง 2,000 ตัน มะเขือเทศ 1,000 ตัน และแตงกวา 500 ตัน เรียกว่าได้น้อยกว่าผลผลิตในจังหวัดของเราจังหวัดเดียว

เขามีแนวโน้มดีขึ้น เพราะรัฐบาลกำลังดำเนินโครงการพัฒนาการเกษตร พัฒนาระบบชลประทาน ปรับปรุงพันธุ์พืช และส่งเสริมการเกษตรสมัยใหม่ แต่ก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาหลักคือความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ โรคและแมลงศัตรูพืช แถมยังมีความขัดแย้งทางการเมืองและเศรษฐกิจที่กรุ่นอยู่ในประเทศบวกเข้าไปอีก

เกษตรของเอริเทรียยังถูกจำกัดด้วยปัจจัยด้านแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยที่ขาดความรู้และไม่มีปัญญาเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่

อีกประเทศที่แล้งจัดคือโซมาเลีย มีฝน 200 มิลลิเมตรต่อปี ปลูกข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ เผือก มันสำปะหลัง ถั่วลิสง และผัก ได้ปีละไม่มาก

ทั้ง 3 ประเทศเป็นทะเลทรายและภูเขาสูง บังฝนไว้มิด ทำให้ฝนน้อยมาก ผลผลิตการเกษตรก็กระปริบกระปรอย มีไว้เพื่อกิน ไม่สามารถส่งขายให้ใคร ประเทศยังต้องนำเข้าอาหาร

และในเมื่อยากจน ก็ต้องอาศัยอาหารจากการบริจาคกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ เหนื่อยแทน และเศร้าแทนจริงๆ