ที่มา | เก็บมาเล่า |
---|---|
ผู้เขียน | สาวบางแค 22 |
เผยแพร่ |
ในแต่ละวันมักมีเศษอาหารเหลือทิ้งจากการบริโภคและจำหน่าย อาหารจำนวนมากหากรวบรวมเก็บใส่ถุงไว้ รอรถขยะของเทศบาลมารับ อาจเสียเวลารอนานหลายวัน จนเกิดกลิ่นเหม็นเป็นที่รำคาญใจและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาเล็งเห็นปัญหาดังกล่าวจึงออกแบบเครื่องผลิตดินจากเศษอาหารด้วยการเร่งปฏิกิริยาจุลินทรีย์ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางเลือกที่คนไทยสามารถกำจัดขยะเศษอาหารในครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณขยะสู่สิ่งแวดล้อม
นวัตกรรมนี้ นำเศษอาหารไปทำดิน โดยอาศัยการย่อยสลายจากจุลินทรีย์ ช่วยย่นระยะเวลาที่ใช้ในการทำดินหมักให้สั้นลง และใช้ได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วกว่า ที่สำคัญได้ดินคุณภาพดีนำไปใช้ปรับปรุงดิน หรือใช้ปลูกต้นไม้อีกทางหนึ่งด้วย
ขั้นตอนการทำงาน
1. นำสารตั้งต้นในการย่อยใส่ลงไปในถังเครื่องผลิตดิน เช่น แกลบดิบ หัวเชื้อจุลินทรีย์ และน้ำตาล
2. หลังจากใส่สารตั้งต้นแล้วทิ้งไว้ 1 วัน จึงนำเศษอาหารและวัสดุอินทรีย์ที่เหลือในครัวเรือนใส่ลงไปในเครื่องผลิตดินจากเศษอาหารและวัสดุอินทรีย์ กดปุ่มเพื่อเริ่มกระบวนการทำงานตามระบบ
3. ตรวจสอบว่าลักษณะทางกายภาพของเศษอาหารและวัสดุอินทรีย์มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ในรูปแบบที่ต่างจากเดิมมาก มีลักษณะที่เป็นดินแล้วจึงค่อยนำไปใช้งานได้ตามความต้องการ โดยเหลือดินบางส่วนไว้เพื่อเป็นสารตั้งต้นจุลินทรีย์สำหรับผลิตดินต่อไป
ประโยชน์ของผลงาน
นวัตกรรมนี้ ช่วยลดปัญหาขยะจากเศษอาหารที่เหลือใช้จากครัวเรือน สามารถนำดินไปใช้เพาะปลูกพืชได้ต่อไป หากมีข้อสงสัยประการใด สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา อีเมล www.cdti.ac.th เบอร์โทร. 02-280-0551
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ.2567