“KPRU MS” เซ็นเซอร์ตรวจจับ โจรขโมยผลไม้ ต้นทุนหลักร้อย

ปัจจุบันหมู่บ้านร่มเกล้าสหมิตร หมู่ที่ 5 ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ปลูกอะโวคาโดเป็นพืชเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่ทำการเกษตร ในช่วงที่ผ่านมา เกษตรกรยังไม่ทันเก็บผลผลิตออกขาย เจอคนร้ายตัดหน้าเข้ามาโจรกรรมผลอะโวคาโดออกไปขายเสียก่อน ทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ก้อนโต ผู้นำชุมชนจึงร้องขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว

มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ได้ลงพื้นที่ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก เก็บข้อมูลปัญหาและความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโดพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการอุปกรณ์แจ้งเตือนในการบุกรุก ที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายไม่แพงมาก เพื่อแจ้งเตือนการถูกโจรกรรมผลผลิต และเก็บเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องดำเนินคดีได้

ทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ประกอบด้วย อาจารย์สุธิดา ทับทิมศรี ผศ.ดร.อดิเรก ฟั่นเขียว ผศ.กฤติเดช จินดาภัทร์ และ อาจารย์น้ำฝน สะละโกสา ได้ร่วมกันออกแบบ “KPRU MS” นวัตกรรมเครื่องเตือนภัยโจรกรรมผลอะโวคาโด โดยใช้สมองกลฝังตัว ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเนื่องจากสามารถป้องกันการโจรกรรมผลอะโวคาโดจากขโมย ติดตามและตรวจสอบสวนอะโวคาโดได้ในระยะไกล ใช้เป็นหลักฐานการโจรกรรมผลผลิตได้อย่างชัดเจน ประหยัดแรงงานคนและสามารถพัฒนาไปเป็น Smart farm และมีการถ่ายทอดนวัตกรรมดังกล่าวให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้และเป็นนวัตกรรมชุมชนได้

เครื่องเตือนภัยโจรกรรมผลอะโวคาโด โดยใช้สมองกลฝังตัว ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน ได้แก่ พีไออาร์เซ็นเซอร์ ESP-32CAM เครือข่ายสัญญาณ WiFi แบตเตอรี่ลิเธียม Module Charger สำหรับสัญญาณ WiFi ใช้เครือข่าย 4G กระจายสัญญาณ WiFi แบบเน็ต WiFi

ทีมนักวิจัยได้นำอุปกรณ์ที่ประกอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไปติดตั้งในจุดที่เกษตรกรต้องการให้แจ้งเตือน หลักการทำงานของนวัตกรรมดังกล่าว พีไออาร์เซ็นเซอร์ จะทำหน้าที่ตรวจจับความเคลื่อนไหวพร้อมส่งสัญญาณไปให้ ESP-32CAM จับภาพการโจรกรรมและส่งเป็นหลักฐานไปยังกลุ่มไลน์เกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโดทันที

Advertisement

อุปกรณ์นี้ ไม่ได้ติดไว้ประจำจุดเหมือนกล้องวงจรปิดทั่วไป  เกษตรกรจะใช้เฉพาะช่วงใกล้เวลาเก็บเกี่ยวซึ่งแตกต่างจากระบบเดิมที่เจ้าของสวนต้องจ้างคนงานเฝ้าสวน ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง เหตุผลที่นักวิจัยได้ออกแบบด้วยอุปกรณ์ PIR เพราะเกษตรกรผู้ใช้งาน ต้องการอุปกรณ์ราคาถูก และสามารถแจ้งเตือนเป็นภาพถ่ายไปยัง line กลุ่มได้  อุปกรณ์นี้ทางผู้วิจัยได้เขียน Coding โดยการกำหนดIP Wifi ของแต่ละสวนเป็นหลัก จึงไม่สามารถนำไปใช้กับสวนอื่นๆได้เลย เพราะนักวิจัยออกแบบตามความต้องการของเจ้าของสวนแต่ละรายโดยตรง การใช้งานจึงเหมาะสมกับสถานที่กำหนดโดยตรงเท่านั้น

กรณีใช้ PIR เป็นเซ็นเซอร์ตรวจจับ ไม่ต้องห่วงกังวลว่า เมื่อเกิดลมพัดใบไม้ร่วง กิ่งไม้ไหว สัตว์เดินผ่าน อุปกรณ์นี้จะส่งสัญญาณเตือนทั้งวันเพราะจุดที่ติดตั้งอุปกรณ์ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวบ่อยมากนัก เป็นจุดที่ต้องการจับภาพและตรวจสอบการเคลื่อนไหวที่เสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมของสวนแห่งนั้น

Advertisement

อาจารย์สุธิดา ทับทิมศรี โปรแกรมวิชาการจัดการโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด กล่าวว่า เกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโด ตำบลคีรีราษฎร์ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก มีรายได้ประมาณ 300,000 บาทต่อไร่ เนื่องจากสวนอะโวคาโดส่วนใหญ่ไม่มีรั้วรอบขอบชิดจึงประสบปัญหาถูกโจรกรรมผลผลิตอยู่บ่อยครั้ง คิดเป็นร้อยละ 60 ของพื้นที่ โปรแกรมวิชาการจัดการโลจิสติกส์ กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ได้ร่วมมือกันออกแบบ เครื่องเตือนภัยโจรกรรมผลอะโวคาโด โดยใช้สมองกลฝังตัวเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยทดลองติดตั้งนวัตกรรมดังกล่าวในสวนอะโวคาโด 10 แห่งเนื้อที่รวม 300 กว่าไร่ ปรากฏว่า สามารถใช้เป็นหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้จริง สวนอะโวคาโดที่ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าว ไม่มีโจรเข้ามาขโมยผลผลิตเหมือนในอดีต

อาจารย์สุธิดา ทับทิมศรี (ซ้าย) อาจารย์น้ำฝน สะละโกสา (ขวา)

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการผลิต การใช้งาน และการติดตั้งนวัตกรรมให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกอะโวคาโดได้ทดลองผลิตเครื่องเตือนภัยโจรกรรมดังกล่าว ด้วยตัวเอง โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น โดยมีต้นทุนการผลิตต่อเครื่องอยู่ที่หลักร้อย มีอายุการใช้งานเกิน 1 ปี นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ออกบูธถ่ายทอดนวัตกรรมวิชาการสู่ชุมชน ในงานเทศกาลอะโวคาโดและสินค้าพื้นเมืองจังหวัดตากเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรในชุมชนเศรษฐกิจฐานรากให้มีอาชีพและรายได้อย่างมั่งคงและยั่งยืน

หากใครสนใจเครื่องเตือนภัยโจรกรรมผลอะโวคาโด โดยใช้สมองกลฝังตัว ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร แม่สอด สามารถเยี่ยมชมผลงานดังกล่าวได้ ภายใน “วันนักประดิษฐ์ 2567 Thailand Inventors; Day 2024” จัดขึ้นโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ Event Hall 100-102 : ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ