“ส้มแก้ว” ไม้ผลพื้นถิ่นแม่กลอง เนื้อฉ่ำ รสหวานอมเปรี้ยว สร้างรายได้หลักแสนบาทต่อปี

“ส้มแก้ว” เป็นผลไม้มงคลตามความเชื่อและความนิยมของชาวไทยเชื้อสายจีนในการนำไปไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลตรุษจีน สารทจีน และวันขึ้นปีใหม่ โดยจังหวัดสมุทรสงครามเป็นแหล่งปลูกส้มแก้วใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และผลักดันส้มแก้วเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัด ยื่นขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)

“ส้มแก้ว” มีลักษณะคล้ายส้มโอผสมกับส้มเขียวหวาน คือ ผลกลมแป้น เนื้อเยอะ เนื้อฉ่ำ รสชาติหวานอมเปรี้ยว จังหวัดสมุทรสงครามมีพื้นที่ปลูกส้มแก้ว ประมาณ 60 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบางสะแก อำเภอบางคนที เกษตรกรผู้ปลูก 36 ครัวเรือน แต่ละรายมีพื้นที่สวนประมาณ 3-4 ไร่ เนื่องจากส้มแก้วเป็นไม้ผลที่ต้องการแสงแดดเพียงร้อยละ 50 เท่านั้น สามารถเจริญเติบโตได้ดีภายใต้ร่มเงาจากไม้ผลประเภทส้มโอ ลิ้นจี่ ฯลฯ เกษตรกรจึงนิยมปลูกส้มแก้วเป็นไม้ผลร่วมแปลงเฉลี่ยประมาณ 20 ต้นต่อไร่

เกษตรกรสามารถปลูกส้มแก้วได้ตลอดทั้งปีในพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอ นิยมปลูกส้มแก้วโดยใช้กิ่งชำ ให้น้ำและปุ๋ย 16-16-16 สม่ำเสมอทุกเดือน หลังจากปลูกประมาณ 2-3 ปี ส้มแก้วจะเริ่มติดผลและจะให้ผลอย่างเต็มที่ประมาณปีที่ 5-7 โดยทั่วไป ช่วงเดือนสิงหาคมต้นส้มแก้วเริ่มผลิดอกออกผล รอไป 4 เดือน จึงนำใบตองแห้งมาห่อหุ้มผลส้มแก้ว ปล่อยทิ้งไว้จนครบ 1 ปีเต็ม ผลส้มแก้วสุกแก่เต็มที่พร้อมเก็บผลผลิตออกขายได้

โดยธรรมชาติ ส้มแก้วจะให้ผลผลิตปีละ 1 รุ่นเท่านั้น โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,250 กิโลกรัมต่อไร่ ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 50 บาทต่อกิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 66 จำหน่ายให้กับผู้ประกอบการ ได้แก่ พ่อค้าท้องถิ่น และตลาดในจังหวัด ส่วนผลผลิต ร้อยละ 34 จำหน่ายโดยตรงที่หน้าสวน แผงขาย และช่องทางออนไลน์ของเกษตรกรเอง

ปัจจุบัน เกษตรกรบางส่วนได้เริ่มนำเทคโนโลยีการใช้ถุงกระดาษคาร์บอนห่อผลผลิต เพื่อป้องกันการเจาะ และเข้าทำลายผลผลิตจากผีเสื้อมวนหวาน ช่วยลดการร่วงของผลผลิต ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ ซึ่งได้ผลดีกว่าการห่อด้วยใบตองแห้ง (แบบเดิม) โดยเกษตรกรที่ใช้ถุงกระดาษคาร์บอนห่อผลผลิต จะได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,250 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่เกษตรกรที่ใช้การห่อด้วยใบตองแห้ง (แบบเดิม) จะมีผลผลิตเฉลี่ย 1,150 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่ใช้ถุงกระดาษคาร์บอนห่อผลผลิต จะมีผลผลิตมากกว่าการห่อด้วยใบตองแห้งร้อยละ 8

ในอดีต มีคนทดลองปลูกส้มแก้วในลักษณะพืชเชิงเดี่ยว แต่ต้นส้มแก้วไม่เติบโตเท่าที่ควร บางคนนำพันธุ์ส้มแก้วไปปลูกในพื้นที่จังหวัดอื่น ต้นส้มแก้วไม่ค่อยติดลูก คาดว่าเกิดจากสภาพดิน สภาพน้ำ อากาศแตกต่างจากจังหวัดสมุทรสงคราม ที่เป็นชุดดินสมุทรสงครามมีความเหมาะสมสำหรับปลูกพืชตระกูลส้ม

ส้มแก้วที่สุกแก่เต็มที่แล้ว สังเกตได้จากผิวส้มแก้วมีสีเหลืองทองทั่วทั้งผล เมื่อปอกเปลือกออก เนื้อส้มมีกลีบใหญ่น้ำเยอะ รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ส้มแก้วมีผลผลิตเข้าสู่จำนวนมากตั้งแต่เดือนธันวาคม-มกราคม และมีผลผลิตรุ่นสุดท้ายเข้าสู่ตลาดในช่วงเดือนเมษายน ส้มแก้วเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ สร้างรายได้ตั้งแต่หลักหมื่นบาทจนถึงหลักแสนบาทในแต่ละปี