ผ้าพิมพ์ลายจากวัสดุในท้องถิ่น Eco print เพิ่มมูลค่าใบบัว ธรรมชาติสร้างลายผ้า ชิ้นเดียวไม่ซ้ำใคร

บัวหลวงเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดปทุมธานี การนำสีธรรมชาติจากบัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์สามารถผลิตสินค้าวางขายในท้องตลาดและเพิ่มมูลค่าของผ้าพิมพ์สีธรรมชาติ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อสีย้อม ผู้ผลิตและผู้ใช้มีความปลอดภัย สีธรรมชาติมีคุณสมบัติเด่นเฉพาะตัวคือ สีสวย สบายตา ไม่ฉูดฉาด และมีต้นทุนในการผลิตต่ำ 

วัสดุธรรมชาติสู่การเพิ่มมูลค่า “Eco print” กระบวนการพิมพ์สร้างลวดลายจากวัสดุธรรมชาติ การสร้างอัตลักษณ์มูลค่าเพิ่มจากบัว โดย ผศ.กรณัท สุขสวัสดิ์ ผศ.อุไรวรรณ คำสิงหา และ อาจารย์วราภรณ์ นาคะศิริ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวถึงการสร้างอัตลักษณ์และมูลค่าเพิ่มจากบัว เพื่อการพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์สู่เชิงพาณิชย์ นำองค์ความรู้ถ่ายทอดให้กับชุมชนนับแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า ให้ความรู้การวางลาย การทำผืนผ้า ต่อเนื่องถึงการแปรรูป ออกแบบให้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างจากที่มี โดยการนำงานปักไหม นำมาเพิ่มมูลค่าให้กับงาน Eco print หรืองานพิมพ์ผ้า 

Eco print กลุ่มชุมชนหรือบุคคลทั่วไปสามารถทำได้ เพียงใช้อุปกรณ์ในครัวเรือน เทคนิคของการทำ Eco print หลักๆ เลยต้องทำบนผ้าที่เส้นใยธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการถ่ายเทของใบไม้หรือวัสดุธรรมชาติต่างๆ ที่นำมาใช้จะต้องถ่ายเทลงสู่วัสดุที่เป็นธรรมชาติเช่นเดียวกัน จะเป็นฝ้ายหรือไหมก็ได้ 

ท้องตลาดส่วนใหญ่หรือในชุมชนที่ทำกัน เป็นวัสดุที่สามารถหาได้ง่ายๆ ทำลงบนผ้าฝ้ายซึ่งผ้าฝ้ายสามารถรับสีของพืชได้ดี ใบไม้ที่นำมาใช้สามารถเลือกวัสดุที่มีตามชุมชน ตามริมรั้ว ที่ชุมชนชอบทำจะมาจากใบสัก ในส่วนของใบสักก็จะมีหลากหลายขนาด ก็จะให้สีที่ต่างกัน เช่น สีม่วง สีเหลือง สีชมพู เป็นสีที่มาจากใบสักแตกต่างกันที่ขนาด 

วัสดุที่นำมาใช้ แนะนำควรเป็นใบสด ถ้ามาจากต้นสดๆ มันจะมีความยางและสด สียังคงอยู่ ใบไม้จะให้สีเกือบทุกชนิด แต่ส่วนใหญ่ใบไม้ก็จะให้เฉดสีที่เป็นธรรมชาติ การที่อยากรู้ว่าพืชชนิดนี้ให้สีอะไร ก็ต้องทดลองทำ

เสน่ห์ของผ้าพิมพ์สีธรรมชาติอยู่ที่แต่ละชิ้นงานไม่ซ้ำแบบกัน มีชิ้นเดียวในโลก ผ้าแต่ละผืนที่ได้เกิดจากภูมิปัญญาและจินตนาการสร้างสรรค์ นับเป็นการสร้างนวัตกรรมและเกิดผลงานแนวทางใหม่ที่มีคุณค่าของเนื้อหาและรูปทรงที่สะท้อน ลักษณะเฉพาะตัว 

เป็นการผลิตวัสดุที่พึ่งพาตนเองจากพืชท้องถิ่น มีความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ผลจากการสร้างสรรค์สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ด้วยการอนุรักษ์ฟื้นฟู และนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นอกจากใบบัวที่นำมาใช้พิมพ์ผ้าสร้างลวดลายแล้ว ยังศึกษาพันธุ์ดอกบัวเพื่อนำมาทดลองสกัดสีย้อมผ้า ทั้งบัวหลวง บัวสาย โดยพบว่า ดอกบัวหลวงให้สีชมพูอ่อน จึงนำฝางมาผสม ทำให้สีชมพูมีความเข้มขึ้น ขณะเดียวกัน ยังได้ต่อยอดนำสีจากดอกบัวสายมาทำมัดย้อม สร้างสีสันลวดลาย เพิ่มความหลากหลายให้กับการพิมพ์ผ้า Eco print เป็นลวดลายเอกลักษณ์จากวัสดุธรรมชาติจากใบไม้ดอกไม้ในท้องถิ่น

ที่ผ่านมา ได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ไว้หลากหลาย อาทิ ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้า หมวก กระเป๋า โคมไฟ ปลอกหมอน ผ้าคลุมไหล่ ตุ๊กตา กรอบรูป การพิมพ์สีธรรมชาติจากบัวนี้ ได้นำการปักผ้ามาเพิ่มความโดดเด่น สร้างลวดลายเอกลักษณ์ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับผ้าพิมพ์และผลิตภัณฑ์ การปักทำให้เกิดเทกเจอร์ เกิดมิติที่แตกต่างจากพิมพ์ผ้าทั่วไป ใช้การปักไหมและวิธีการปักหลายรูปแบบ เช่น ปลอกหมอน 

เป็นแนวทางในการสร้างนวัตกรรมจากสินค้าการเกษตร รวมถึงการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ เกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ชุมชน และวิสาหกิจชุมชน OTOP ที่จะช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับทางชุมชน

จากผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลจากเวทีระดับนานาชาติในงาน “2023 Kaohsiung International Invention and Design Expo” (KIDE 2023) รางวัล Special prize on stage และ Gold Award จากเวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์จากเวทีนานาชาติ วิจัยแห่งชาติ (วช.) จากงานมหกรรม วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ได้รับรางวัลระดับดี และสุดท้ายจากเวทีการพัฒนานวัตกรรมโครงการส่งเสริมกระบวนการเครือข่ายองค์ความรู้ (KBO.) จังหวัดปทุมธานี รางวัลชนะเลิศ ประจำปี 2566

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : เดลินิวส์ / วิทยุราชมงคล ฝ่ายผลิต