เผยแพร่ |
---|
กรมการค้าภายใน จับมือ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ รณรงค์บริโภคเนื้อหมู หลังยังมีผลผลิตส่วนเกิน 8,000 ตัวต่อวัน เพื่อช่วยดูแลราคาให้กับเกษตรกร พร้อมขอความร่วมมือห้างงดจัดโปรโมชั่นช่วงนี้ หวั่นไปกดราคาซื้อ-ขาย ขณะที่แนวโน้มราคาอาหารสัตว์เริ่มปรับตัวลดลง
วันที่ 4 มีนาคม 2567 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ รณรงค์ให้ผู้บริโภคช่วยกันบริโภคเนื้อสุกรเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยดูแลราคาหมูให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยง ที่ได้รับผลกระทบจากราคา เพราะขณะนี้ผลผลิตหมูมีชีวิตออกสู่ตลาดเกินความต้องการ เฉลี่ยวันละ 5 หมื่นตัว ขณะนี้อยู่ที่ 5.8 หมื่นตัว จึงต้องหาทางเร่งระบายผลผลิตส่วนเกินออกจากตลาด แม้ว่าในส่วนของกรมปศุสัตว์จะเร่งแก้ปัญหา ตัดวงจรหมูด้วยการผลักดันให้ทำหมูหันไปแล้วส่วนหนึ่งก็ตาม
ทั้งนี้ กรมยังได้ขอความร่วมมือไปยังห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ให้งดการจัดโปรโมชั่นลดราคาสินค้าเนื้อสุกรในช่วงนี้ เพราะราคาเนื้อหมูถูกอยู่แล้ว โดยราคาเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 130 บาท และหากมีการนำเนื้อหมูมาจัดโปรโมชั่น เกรงว่าจะไปกดราคารับซื้อหมู และกระทบกับเกษตรกร
สำหรับสถานการณ์ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 67-68 บาท โดยต้นทุนการเลี้ยง ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินว่าอยู่ที่กิโลกรัมละ 72 บาท ซึ่งราคายังคงขายได้ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต การตัดวงจรหมูจะช่วยดึงราคาให้สูงขึ้น และกรมยังจะเข้าไปช่วยดูแลในด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะราคาอาหารสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมได้หารือกับสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อติดตามสถานการณ์ราคา และสถานการณ์วัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ พบว่าแนวโน้มราคาปรับตัวลดลงตามต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง
โดยขณะนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อยู่ที่กิโลกรัมละ 10.26 บาท ปีที่แล้วเฉลี่ยทั้งปี 12.67 บาท กากถั่วเหลือง เฉลี่ย มกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 กิโลกรัมละ 13.92 บาท ปีที่แล้ว กิโลกรัมละ 16.84 บาท ข้าวสาลี กิโลกรัมละ 7.74 บาท ปีที่แล้ว กิโลกรัมละ 8.23 บาท ปลาป่น กิโลกรัมละ 32 บาท ปีที่แล้ว กิโลกรัมละ 36.61 บาท
“กรมจะติดตามสถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อย่างใกล้ชิด และหากปรับลดลงต่อเนื่อง ก็จะคุยกับผู้ผลิตให้ปรับลดราคาลงมาให้สอดคล้องกัน ซึ่งเท่าที่ติดตามดู ข้าวโพดทรงตัว ข้าวสาลีลดลง กากถั่วเหลืองลดลง และคาดว่าจะลดลงอีก เพราะอาร์เจนตินาเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก ส่วนปลาป่นทรงตัวอยู่สูง แต่ก็ถูกกว่าปีก่อน ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ตอนนี้ เทียบกับปีที่แล้ว พบว่ามีการทยอยปรับลดราคาลงมาแล้ว”
ส่วนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ในการลดต้นทุนราคาอาหารสัตว์ จากการเชื่อมโยงเกษตรกรผู้เลี้ยงกับโรงงานอาหารสัตว์ ซึ่งได้ดำเนินการไปเมื่อปีที่แล้ว หากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร มีความต้องการ ก็พร้อมที่จะทำการเชื่อมโยงให้ต่อไป
รายงานข่าวระบุว่า โครงการลดจำนวนลูกสุกรที่จะเข้าสู่ระบบการผลิต ด้วยการนำไปทำหมูหันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสุกรตามมติของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) จะเริ่มในวันที่ 11 มีนาคม 2567 นี้ โดยหวังว่า จะดึงราคาสุกรขุนให้ปรับสูงขึ้นกว่าต้นทุน ระหว่างนี้กำลังจัดสรรโควตาและกำหนดขั้นตอนการชดเชยแก่ผู้เลี้ยงให้เกิดความโปร่งใส
สำหรับจำนวนลูกหมู ขนาด 3-7 กิโลกรัม ที่จะตัดวงจรการเข้าขุนกำหนดไว้ 450,000 ตัวในระยะเวลา 90 วันหรือเฉลี่ย 5,000 ตัวต่อวัน ซึ่งจะเป็นการลดจำนวนสุกรขุนเข้าเชือดในแต่ละวัน จากปัจจุบันเฉลี่ย 55,000 ตัวต่อวัน หากเป็นส่วนหนึ่งที่ยกระดับราคาสุกรขุนในประเทศให้ปรับตัวขึ้นเกินกว่าต้นทุนซึ่งเฉลี่ย 80 บาทต่อกิโลกรัมได้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งประเทศประสบสภาวะขาดทุนมาร่วม 1 ปี
ในการประชุมระหว่างกรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กลุ่มผู้จำหน่ายปลีกร้านหมู หรือ PORK SHOP เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เห็นชอบให้ยืนราคา ทั้งราคา Big Lot หรือรถใหญ่ คละขนาดที่ 66 บาทต่อกิโลกรัม โดยแต่ละพื้นที่จะใช้ราคานี้เป็นฐานในการบวกเพิ่ม ตามความเหมาะสมทั้งคุณภาพซากและระยะทางของแต่ละพื้นที่
แต่ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มวันนี้ (วันพระที่ 3 มีนาคม 2567) ราคารถใหญ่คละขนาดยังคงอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาหน้าโรงชำแหละกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเป็นเกณฑ์ตั้งต้นให้บวกเพิ่มตามคุณภาพซากที่จำหน่ายจริง
ขอบคุณที่มา : ประชาชาติธุรกิจ