แหนเป็ดเล็ก ตัวช่วยบำบัดน้ำเน่าเสีย ด้วยวิธีธรรมชาติ

แหน (duckweed) เป็นกลุ่มพรรณไม้ลอยน้ำขนาดเล็ก ชอบขึ้นตามหนองน้ำทั่วไป มีส่วนใบลอยอยู่
ที่ระดับผิวน้ำ ส่วนรากจมอยู่ใต้น้ำ มี 3 สกุล คือ สกุลแหนเป็ดใหญ่ (Spirodella) สกุลแหนเป็ด (Lemna) และสกุลไข่น้ำ (Wolffia)
จิ๋วแต่แจ๋วมาอีกแล้ว กับ “แหนเป็ดเล็ก” เป็นพืชลอยน้ำขนาดเล็กที่มีรูปร่างสวยงามเมื่อลอยอยู่บนผิวน้ำ สามารถเป็นตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุลของระบบนิเวศในแหล่งน้ำ และยังเป็นแหล่งอาหารให้กับสัตว์น้ำที่กินซากพืชซากสัตว์อีกด้วย
แหนเป็ดเล็ก คือ พืชลอยน้ำขนาดเล็กที่เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติ เป็นวัชพืชลอยน้ำขนาดเล็กอยู่บนผิวน้ำ มีราก ลำต้น ใบ ใบเป็นวงรี สีเขียวมันวาว มีจำนวน 1-3 ใบ มีการเจริญเติบโตแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีแร่ธาตุและสารอาหารในแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์จะแพร่กระจายเต็มผิวน้ำ พบได้ในแหล่งน้ำนิ่ง ห้วย หนอง คลอง บึง บ่อ คูน้ำ สระน้ำ คล้ายคลึงกับวัชพืชชนิดอื่นๆ บนดินที่เกิดขึ้นมาได้เอง เมื่อมีปัจจัยบางอย่างเอื้อต่อการขยายพันธุ์และเจริญเติบโตแพร่กระจายเต็มผิวน้ำ จึงทำให้เราสามารถพบเห็นแหนเป็ดเล็กได้ตามแหล่งน้ำทั่วไป
อีกทั้งเป็นแหล่งปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ใช้แทนปุ๋ยเคมีเพื่อเพิ่มปริมาณแร่ธาตุให้ดิน นิยมนำมาตากแห้งทำปุ๋ย เป็นอาหารเลี้ยงสัตว์หรือผสมในอาหารสัตว์ อาหารของไก่ เป็ดไข่ เป็ดเทศ ห่าน นกกระทา ปลากินพืช และสุกร มีประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียฟาร์มเป็ด ฟาร์มสุกร สามารถลดค่าปริมาณไนโตรเจนทั้งหมด (TKN) ค่าบีโอดี (BOD) ไนเตรต (NO3 -) และฟอสเฟต (PO4-3) สามารถนำไปเป็นปุ๋ยพืชสดทดแทนปุ๋ยเคมีและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ในดิน
แหนเป็ดเล็กสามารถเพิ่มปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำ ในช่วงกลางวันโดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งมีออกซิเจนเป็นผลผลิตสุดท้าย การที่มีออกซิเจนละลายในน้ำ มีส่วนทำให้คุณภาพของแหล่งน้ำดีขึ้นอย่างมาก
ปัจจุบันมีการนำ แหนเป็ดเล็ก” มาใช้เพื่อปรับสภาพแหล่งน้ำ สามารถบำบัดน้ำเสียที่มีสารอินทรีย์และโลหะ หนักปนเปื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากแหนเป็ดเล็กจะดูดซับไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในปริมาณที่มีมากเกินไปออกจากน้ำ ถือว่าเป็นวิธีการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการใช้สารเคมีบำบัดอีกด้วย
ข้อแนะนำ : ถ้ามีการนำแหนเป็ดเล็กมาเพาะเลี้ยงเพื่อใช้ในการบำบัดน้ำเสีย เมื่อมีการเจริญเติบโตเต็มที่ต้องกำจัดออกไปเพื่อทำประโยชน์ในด้านอื่นๆ เพื่อมิให้เกิดการเน่าเสียในแหล่งน้ำธรรมชาติหรือบ่อเพาะเลี้ยงนั้นๆ
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : news.trueid.net