เผยแพร่ |
---|
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ประเมินโครงการจัดรูปที่ดินและระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดศรีสะเกษ เผย เกษตรกรตอบรับ มีความพึงพอใจต่อโครงการเป็นอย่างมาก เพราะมีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำเกินความต้องการได้จริง
นางสาวรังษิต ภู่ศิริภิญโญ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ประเมินผลโครงการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม ซึ่ง สศก. ได้ลงพื้นที่ติดตามใน 2 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี และศรีษะเกษ พบว่า จังหวัดสุพรรณบุรี ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างในปีงบประมาณ 2560 และแล้วเสร็จเดือนพฤษภาคม 2560 อยู่ในช่วงทดลองส่งน้ำเข้าสู่แปลงนาเกษตรกร โดยงานจัดระบบน้ำโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสองพี่น้อง (คลอง 4 ซ้าย-5 ซ้าย-2 ซ้าย) มีพื้นที่รับประโยชน์ 1,400 ไร่ เกษตรกร 58 ราย ส่วนงานจัดรูปที่ดินโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าโบสถ์ ส่วนที่ 3 จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่รับประโยชน์ 1,390 ไร่ เกษตรกร 120 ราย เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการฯ มองเห็นถึงประโยชน์ของการจัดรูปที่ดินและจัดระบบน้ำ ว่าจะช่วยทำให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถทำการปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี
สำหรับงานจัดรูปที่ดินโครงการจัดรูปที่ดินจังหวัดศรีสะเกษ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านโนนจาน ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2557 พื้นที่รับประโยชน์ 1,220 ไร่ เกษตรกร 120 ราย พบว่า เกษตรกรพึงพอใจเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากทำให้การเพาะปลูกมีประสิทธิภาพแล้วนั้น ยังมีประสิทธิภาพการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นมาก จากร้อยละ 184.84 เป็นร้อยละ 201.24 แสดงให้เห็นว่าว่าใช้ที่ดินเพาะปลูกบ่อยครั้งขึ้น ผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.42 และผลผลิตข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.21 ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 4,941 บาท/ครัวเรือน/ปี อันเป็นผลมาจากระบบน้ำที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังตอบสนองงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มกันผลิตในรูปแบบแปลงใหญ่ มีการร่วมกันวางแผนการผลิต การตลาด ใช้เครื่องมือเครื่องจักรกลการเกษตรร่วมกัน นำไปสู่การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ยกระดับสู่มาตรฐานสินค้าเกษตรและสร้างโอกาสในการแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม ภายใต้แผนแม่บทการจัดรูปที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานได้กำหนดแผนและเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจนในทุก ๆ ปี ซึ่งเชื่อมั่นว่าพื้นที่ชลประทานที่มีต้นทุนน้ำสมบูรณ์ จะมีระบบน้ำกระจายทั่วถึงทุกแปลงในระยะต่อไป และจะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำเกินความต้องการได้ อันจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน