“ บ๊วย ”รสอร่อย ที่ดอยแม่สลอง

ดอยแม่สลอง  จังหวัดเชียงราย มีอากาศเย็นสบายเกือบตลอดทั้งปี  โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว (ตุลาคม – กุมภาพันธ์)   มีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 3-6 องศาเซลเซียส ดอยแม่สลอง มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม  เช่น ดอกซากุระหรือ พญาเสือโคร่ง  ออกดอกเบ่งบาน ตั้งแต่  เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์ หากใครมาเยี่ยมเยือนดอยแม่สลองในช่วงฤดูหนาว จะเห็นดอกซากุระ สีชมพู เบ่งบานสะพรั่งอยู่สองข้างทาง ตั้งแต่เชิงเขาไปถึงดอยแม่สลอง

ผลไม้ตระกูลพลัม1.แอปริคอท 2.พลัม(ลูกไหนตากแห้งเรียกลูกพรุน)3.เนคทารีน 4.พีช(ลูกท้อ)

ดอยแม่สลองมีสินค้าของฝากขึ้นชื่อหลายอย่าง  หนึ่งในนั้นก็คือ ผลไม้แปรรูป  จาก ผลไม้เมืองหนาวหลายชนิด เช่น เชอรี่ บ๊วย ลูกไหน ลูกท้อ ที่มีรสชาติอร่อยจนหลายคนติดใจ ส่งขายทั่วไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

ผลิดอกเรียก “ ดอกเหมย ” ตกลูกเรียกว่า “ ผลบ๊วย ”    

 

ช่วงปลายฤดูหนาว ประมาณช่วงเดือนมกราคม- กุมภาพันธ์  ดอกบ๊วยหรือที่คนจีนเรียกว่า “ ดอกเหมย ” จะเริ่มผลิบานสะพรั่งบนดอยแม่สลอง  ต้นบ๊วย จัดอยู่ในตระกูลพรุน เช่นเดียวกับพลัม ลูกท้อ เชอร์รี่ อัลมอนด์ และนางพญาเสือโคร่ง ดอกบ๊วยมีขนาดเล็กประมาณ 1 – 3 ซ.ม.มีหลากสีสัน ตั้งแต่ขาว ชมพู แดง และเข้มเป็นสีแดงสดเลยก็มี

ผลบ๊วยรูปร่างกลม มีร่องจากขั้วไปถึงก้น ผลดิบสีเขียว มีกลิ่นหอมและรสอมเปรี้ยว เมื่อผลสุกเปลี่ยนสีเหลือง ค่อยเปลี่ยนเป็นผลสีแดงเมื่อสุกเต็มที่ ในช่วงต้นฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม  เนื่องจากดอยแม่สลอง มีความสูงเกิน 500 เมตร จึงสามารถปลูกผลไม้เมืองหนาวได้หลายชนิด เช่น ลูกไหนแดง ลูกไหนดำรสชาติหวาน  รวมทั้งลูกท้อ(ลูกพีซ) ที่มีรสชาติหอมหวานอมเปรี้ยว  ซึ่งผลไม้ดังกล่าวจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงเดียวกันคือ  เมษายน-พฤษภาคม ของทุกปี

ทุกวันนี้ พันธุ์บ๊วยที่ใช้ปลูกบนดอยแม่สลอง  เป็นบ๊วยพันธุ์ดั้งเดิมที่ถูกนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งไม่ทราบชื่อพันธุ์ที่แน่นอน  ชาวบ้านนิยมขยายพันธุ์ต้นบ๊วย ด้วยวิธีติดตา โดยเลือกใช้ บ๊วยพันธุ์พื้นเมือง เป็นต้นตอขยายพันธุ์ เพราะเจริญเติบโตได้เร็วกว่าต้นตอท้อ  เกษตรกรนิยมขยายพันธุ์บ๊วย ในช่วงต้นพักตัว เมื่อผ่านระยะการพักตัวแล้ว ตาที่ติดไว้ก็จะแตกและเจริญเติบโตต่อไป ต้นบ๊วยที่ติดตาจะให้ผลผลิตในปีที่ 4-5 หลังการปลูก

โดยทั่วไป เกษตรกรนิยมปลูกต้นบ๊วยในระยะห่าง 1x1x1 เมตร รองกันหลุมด้วยปุ๋ยคอก เพื่อให้ดินร่วน โปร่ง ต้นบ๊วย จะเจริญเติบโตได้รวดเร็วมาก ระยะที่บ๊วยออกดอก เป็นช่วงที่บ๊วยต้องการน้ำค่อนข้างมาก แต่ในช่วงที่ติดผลแล้ว หากเจอฝนตกชุก อาจทำให้ผลร่วงได้ เกษตรกรจะนิยมใส่ปุ๋ยต้นบ๊วยปีละ  2 ครั้ง ในช่วงเริ่มแตกตาหรือก่อนออกดอกเล็กน้อยโดยให้สูตร 13-13-21 และให้ปุ๋ยอีกครั้งหลังเก็บเกี่ยวโดยใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ก่อนที่ต้นบ๊วยจะพักตัว

ธุรกิจผลไม้แปรรูปดอยแม่สลอง เติบโตทุกปี 

“อาเปา” หรือ “คุณธีรเกียรติ  ก่อเจริญวงค์ ” เกษตรกรผู้ปลูกบ๊วยและเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก่อเสริมดอยแม่สลอง”  เล่าให้ฟังว่า  ที่ผ่านมามีผลไม้เมืองหนาว เช่น เชอรี่ บ๊วย ท้อ ลูกไหนเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมากจนล้นตลาด ขายได้ราคาต่ำ และไม่มีตลาด หรือ โรงงานรองรับ  ทางกลุ่ม ” วิสาหกิจชุมชนก่อเสริมดอยแม่สลอง”  จึงเกิดแนวคิดที่จะนำผลไม้ที่ล้นตลาดมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ในกลุ่มสมาชิกวิสาหกิจชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

เบื้องต้นอาเปาใช้เงิน 2 แสนบาท ลงทุนแปรรูปผลไม้ โดยทดลองดองผลไม้ครั้งแรกใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ลองผิดลองถูกมาตลอด ปรับเปลี่ยนสูตรหลายครั้ง  จากการสอบถามจากการอ่านในหนังสือและเคยมีโอกาสเดินทางไปประเทศจีนได้ไปดูการดองผลไม้ของประเทศจีน  และนำมาปรับใช้  จนปัจจุบันได้ปรับสูตรและเพิ่มรูปแบบอีกหลายชนิด  เช่น  เชอรี่แดง  บ๊วยแดง  บ๊วยอบน้ำผึ้ง  บ๊วยทับทิม   บ๊วยหยก   บ๊วย ๕ รส  บ๊วยซากุระ   ท้อเส้น  ปัจจุบันสินค้าทุกรายการได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขด้านอาหารและยา (อย.)  เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีรายได้เข้าสู่ชุมชนปีละ  20 ล้านบาท

เมื่อถามถึงขั้นตอนการแปรรูปผลไม้  อาเปาบอกว่า   การดองผลไม้ มีส่วนผสมสำคัญประกอบด้วย  ผลไม้83  %เกลือเม็ด 10  %  น้ำตาลทราย 5 %  กรดซิตริก(กรดมะนาว) 2  % ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการคัดผลไม้ที่เน่าเสียออก  นำเข้าเครื่องคัดขนาด  นำผลไม้สดมาล้างน้ำเพื่อทำความสะอาด เมื่อล้างเสร็จแล้ว นำมาพักน้ำแล้วนำมาผสมกับน้ำเกลือที่เติมกรดซิตริก เสร็จแล้วเทลงถังหมัก หมักไว้ประมาณ 60  วัน  หลังจากนั้น นำผลไม้ที่หมักในน้ำเกลือ นำออกมาตากแดดให้แห้งประมาณ 3 วัน แล้วนำผลไม้ที่ตากแดดจนแห้งแล้วมาล้างด้วยน้ำสะอาด    นำน้ำตาลทรายมาเคี่ยวจนเป็นน้ำเชื่อมตามอัตราส่วน  นำผลไม้ที่เตรียมไว้ลงไปเชื่อมในน้ำเชื่อมที่เตรียมไว้ปิดฝาทิ้งไว้  20  วัน   ตักผลไม้ที่แช่ในน้ำเชื่อมออกมาตากแห้งทิ้งไว้ประมาณ  7  วัน นำผลไม้ ที่ตากแห้งมาเก็บไว้ เพื่อบรรจุ พร้อมจำหน่าย

อีกหนึ่งเคล็ดลับสำคัญที่ช่วยให้ การแปรรูปผลไม้ของวิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้มีคุณภาพดีและมีมาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด ได้แก่  1.การดองผลไม้ทุกครั้งต้องคัดผลไม้ที่เน่าเสียอออก และล้างทำความสะอาด 2. ผลไม้ที่ดองในแต่ละชุดต้องคัดขนาดให้เท่ากัน 3. ทุกขั้นตอนต้องเน้นความสะอาด 4. การดองผลไม้ต้องดองในน้ำเกลือผสมกับกระซิตริกตามอัตราส่วนพร้อมกัน    ปัจจุบันผลไม้แปรรูปของกลุ่มวิสาหกิจฯ มีกำลังการผลิตเฉลี่ย  225,000ก.ก./ปี  ราคาขายส่ง 55 บาท/หน่วย โดยลูกค้าหลักได้แก่    ตลาดไท กรุงเทพมหานคร 50 % เชียงใหม่ 15 % เชียงราย 15 % แม่ฮ่องสอน 10 % นครราชสีมา 5 % ลูกค้าทั่วไป  5 %

เนื่องจากทางกลุ่มฯ มีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง จนได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุขด้านอาหารและยา ( อย. ) ทำให้สินค้ามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วไป และขายดีตลอดทั้งปี  ทำให้ชาวบ้านมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และกลายเป็นแหล่งเรียนรู้วิสาหกิจชุมชนในระดับตำบลแม่สลองนอก มีนักท่องเที่ยวและผู้สนใจแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมกิจการไม่ขาดสาย