เผยแพร่ |
---|
นายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อ.สถ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สถ.ได้เร่งซักซ้อมวางระเบียบแบบแผนและแนวทางให้ อปท.ใช้งบประมาณตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเข้มงวด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หน่วยงานตรวจสอบภายใน สถ. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ หาก อปท.แห่งใดทำผิดกฎระเบียบหรือใช้งบฯ ไม่โปร่งใส ขอชี้แจงว่าระยะเวลาในการตรวจสอบสามารถทำได้ แม้ว่าผู้บริหาร อปท.จะพ้นจากตำแหน่งแล้ว ผู้เกี่ยวข้องจะสามารถเรียกเงินคืนได้หากพบความผิดชัดเจน
นายสุทธิพงศ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สถ.ได้แจ้งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ กรณีการใช้งบฯ สะสมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล โดยแจ้งเวียนครั้งที่ 2 เนื่องจากแนวทางที่กำหนดยังไม่เห็นผลชัดเจน ขณะที่ สถ.เน้นแนวทางให้ อปท.ส่งเสริมการการใช้วัตถุดิบยางพารา ยอมรับว่าขณะนี้ยังมีสัดส่วนการใช้ยางพาราของ อปท.ประมาณ 1 หมื่นตัน เท่านั้น ไม่สามารถกระตุ้นให้ราคายางสูงขึ้นได้ตามเป้าหมาย ส่วนการใช้งบฯ สะสมยอมรับว่า หาก อปท.บางแห่งไม่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ก็ไม่สามารถนำมาใช้จ่ายได้เพื่อป้องกันไม่ให้ สตง.ทักท้วง
นายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การใช้จ่ายเงินสะสมของเทศบาลขนาดใหญ่บางแห่งในภาคอีสาน ฝ่ายบริหารเสนอ 38 โครงการ ขออนุมัติใช้จ่ายเพียง 39 ล้านบาท ขณะที่เงินสะสมมีกว่า 2,000 ล้านบาท แต่สมาชิกสภาเทศบาลไม่ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีความขัดแย้งเป็นตัวอย่างของปัญหาของการใช้งบฯ สะสม ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล
นายทวีศักดิ์ ศรีทองกิติกูล ประธานมูลนิธิปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวทางการใช้งบฯ สะสมของ อปท.เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามีปัญหาในการใช้จ่ายพอสมควร ทำให้การใช้งบฯ ส่วนนี้มีไม่มาก ไม่เป็นไปตามเป้า เนื่องจากต้องใช้จ่ายตามความจำเป็นในวาระเร่งด่วน ขณะที่การบริหารงานโครงการต่างๆ จะใช้งบฯ ปกติที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนา ดังนั้น หากรัฐบาลประสงค์จะให้ อปท.ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรยกเว้นการใช้ระเบียบสำหรับ อปท.ที่มีงบฯ สะสมจำนวนมาก เพื่อตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จากนั้นกำหนดให้นำงบฯ ไปทำโครงการที่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ในระยะสั้นเพื่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน