รองอธิบดีกรมชลฯร่วมประชุมวิเคราะห์’ภัยแล้ง’การันตีน้ำพออุปโภคบริโภค-เพาะปลูก

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายเลิศชัย ศรีอนันต์ ที่ปรึกษากรมชลประทาน เข้าร่วมประชุมติดตามวิเคราะห์สถานการณ์ภัยแล้งและสถานการณ์แม่น้ำโขง พร้อมหาแนวทางแก้ไข พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยมี ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ

โดยที่ประชุมมีการพิจารณาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทั้งการวางแผนการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยเน้นการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ตลอดจนมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน

ในส่วนของกรมชลประทานได้รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศโดยภาพรวมว่า สถานการณ์น้ำไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทุกแห่งมีปริมาณน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมา ข้อมูล ณ วันที่ 14 มีนาคม มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 53,457 ล้านลูกบาศก์เมตร (70% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 29,537 ล้านลูกบาศก์เมตร (57% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด)

แม้ผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ ปี 60/61 จะเพาะปลูกเกินแผนไปแล้ว โดยข้อมูล ณ วันที่ 7 มีนาคม 2561 เพาะปลูกไปแล้ว 9.33 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 103 ของแผนที่มีอยู่ 9.05 ล้านไร่ แต่ไม่กระทบต่อภาพรวมในการบริหารจัดการน้ำ โดยยืนยันว่า ปริมาณน้ำในปีนี้มีเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคและการเพาะปลูกพืชตลอดช่วงฤดูแล้งนี้อย่างแน่นอน และคาดว่าปริมาณน้ำจะยังคงมีเพียงพอไปจนถึงช่วงต้นฤดูฝน

ส่วนสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง โดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2561 ประกอบด้วย การบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทาน โดยใช้ระบบชลประทานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การเตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 2,365 เครื่อง และรถยนต์บรรทุกน้ำ จำนวน 242 คัน กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่เสี่ยงภัยแล้ง ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีหากมีการร้องขอ และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดในทุกพื้นที่

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แม่น้ำโขงมีระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง จนปรากฏให้เห็นหาดทรายและโขดหินไปทั่วบริเวณ ทำให้เรือสินค้าจำนวนมาก ไม่สามารถเดินเรือจากประเทศจีนมายังอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้วิเคราะห์และรายงานสถานการณ์น้ำในการเดินเรือว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงต่ำกว่าระดับ 2.00 เมตร ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเดินเรือสินค้าและเรือโดยสารในเส้นทางบางช่วง โดยจะมีปัญหาบริเวณทางด้านทิศเหนือของประเทศไทยในเขตประเทศพม่าและประเทศลาว แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือในฝั่งไทย ทั้งนี้ ปัญหาระดับน้ำโขงในหน้าแล้งมีปัญหาทุกปี ซึ่งผู้ประกอบการมีการปรับตัวโดยปรับลดขนาดการบรรทุกลง ทำให้สามารถเดินเรือได้ตามปกติ