จ่อออกกม.ห้ามอาหารไขมันทรานส์

ให้ผู้ประกอบการเตรียมตัว 1 ปีครึ่ง

สถาบันโภชนาการเผยข้อมูลอาหารไขมันทรานส์อันตราย ทั้งโดนัททอด พาย เพสตรี้ แนะควรบริโภคไม่เกิน 0.5 กรัม ต่อหน่วยบริโภค เหตุมีความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด ด้าน อย.ร่างประกาศห้ามผสมเด็ดขาด คาดบังคับใช้จริงปี ’62

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ที่โรงแรมเอเชีย ศ. วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวภายในการประชุม “ประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์” ว่า ไขมันทรานส์เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีโครงสร้างทางเคมีแตกต่างไปจากเดิม เกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ และด้านอุตสาหกรรมอาหารที่มีการเติมไฮโดรเจนลงในกรดไขมันไม่อิ่มตัว เพื่อเปลี่ยนสภาพของเหลวของน้ำมันให้แข็งขึ้น หรือมีสภาพกึ่งแข็งกึ่งเหลว ซึ่งผลการตรวจสอบปริมาณกรดไขมันทรานส์ในอาหาร มีทั้งโดนัททอด พาย ชีส ฯลฯ อย่าง    โดนัททอด พบไขมันทรานส์อยู่ประมาณ 3 กรัม ต่อหน่วยบริโภค  รองลงมาได้แก่อาหารประเทศพัฟและเพสตรี้ ประมาณ 2 กรัมต่อหน่วยบริโภค ซึ่งจริงๆ บริษัทแฟรนไชส์หลายแห่งไม่พบการปนเปื้อนกรด    ไขมันทรานส์ เพราะมีการปรับปรุงกระบวนการผลิต

รศ. วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การกินอาหารที่มี   ไขมันทรานส์จะก่อให้เกิดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มร้อยละ 23 ซึ่งข้อแนะนำคือ ไม่ควรกินอาหารที่มีไขมันทรานส์เกิน ร้อยละ 1 ของพลังงาน ซึ่งพลังงานเฉลี่ยที่ควรได้รับอยู่ที่ 2,000 กิโลแคลอรี ต่อวัน ในเพศชาย ก็ควรรับอาหารที่มีไขมันทรานส์ไม่ควรเกิน 2.2 กรัม ต่อวัน หรือคิดเป็น     0.5 กรัม ต่อหน่วยบริโภค

นางสาวมยุรี ดิษย์เมธาโรจน์ นักวิชาการอาหารและยาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.ได้ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่… พ.ศ… เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เนื้อหาสาระจะควบคุมการผลิตอาหารที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ที่ก่อให้เกิดกรดไขมันทรานส์ ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 (8) แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ดังนี้ 1. ให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย และ 2. ประกาศฉบับให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ขณะนี้ได้ผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอาหาร และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เบื้องต้นคาดว่ากระบวนการต่างๆ น่าแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน ซึ่งหากประกาศในราชกิจจาฯ ตามกำหนดจะมีผลในอีก 1 ปี แต่ความเป็นจริงหากนับเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายนก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีเวลาเตรียมตัวไป 1 ปีครึ่ง นอกจากนี้ อย.กำลังปรับปรุงฉลากโภชนาการด้วย ซึ่งเดิมจะระบุแค่พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม แต่อันใหม่จะมีไขมันทรานส์ด้วยเช่นกัน

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน