ผังเมืองฉุดยุทธศาสตร์ศก.ชีวภาพ

  • เอกชนแนะออกมาตรการหนุนเพิ่ม
  • ‘อุตตม’ เผย ‘ปตท.’ พร้อมลงทุนหลัก

ยุทธศาสตร์ ศก.ชีวภาพอืดเหตุติดปัญหาผังเมือง ‘อุตตม’ เผย ปตท.เตรียมลงทุนหลักภาคเหนือ-กลาง โดยใช้วัตถุดิบน้ำตาลเป็นหลัก ด้านเอกชนชี้จะเกิดได้ต้องแก้ไขผังเมืองก่อน แนะออกมาตรการเสริมเพิ่มเติมเหตุของเดิมยังไม่ตอบโจทย์

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพหรือไบโออีโคโนมี เป็น 1 ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม เป้าหมายที่จัดทำโดยคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้สานพลังประชารัฐ (กลุ่มประชารัฐ ดี 5) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าทีมภาครัฐ ซึ่งเดิมมีกำหนดเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่ปลายปี 2560 ว่า ขณะนี้ในภาพรวมของแผนเรียบร้อยดี แต่ยังติดรายละเอียดบางข้อที่ต้องปรับแก้หลังคณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้หารือเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยสาเหตุที่แผนยังไม่เข้า ครม.ก็เพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่เกิดปัญหาภายหลัง และตอบคำถาม ครม.ได้

“แผนนี้ถือเป็นการลงทุนระยะ 2 ของอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งจะเน้นลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลางที่มีวัตถุดิบหลัก คือ น้ำตาล โดยมีกลุ่ม ปตท.เป็นผู้ลงทุนหลัก หลังจากมีการลงทุนแล้วหลายแสนล้านบาทในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)” นายอุตตม กล่าว

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้แผนส่งเสริมยุทธศาสตร์ไบโออีโคโนมียังไม่สามารถเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาได้ เนื่องจากติดปัญหาผังเมือง เพราะพื้นที่ที่ต้องการส่งเสริมไม่สามารถใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ตามแผนของยุทธศาสตร์ไบโออีโคโนมีได้ ต้องแก้ผังเมืองก่อน ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้ ยอมรับว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่รอแผนไบโออีโคโนมีอยู่อาจจะมีความกังวลบ้าง เพราะจะส่งผลให้แผนการลงทุนอาจล่าช้าออกไป แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่เข้าใจสถานการณ์เป็นอย่างดี เพราะเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มประชารัฐ  ดี 5 จึงทราบความคืบหน้าเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ส่วนแผนจะสามารถนำเสนอ ครม.ได้เมื่อไรนั้นขึ้นอยู่ที่การหารือ

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมชีวภาพ แจ้งว่า ภาคเอกชนมองว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมไบโออีโคโนมีของรัฐบาลนั้น ยังไม่ตอบสนองให้เกิดการลงทุนมากเท่าที่ควร เนื่องจากมองว่าหากรัฐไม่กำหนดเป้าที่ชัดเจนและออกมาตรการที่จูงใจกว่าที่เป็นอยู่จะทำให้อุตสาหกรรมนี้ไม่เกิดความเติบโต เพราะต้นทุนยังสูงอยู่ ขณะเดียวกัน สิ่งที่ภาครัฐส่งเสริมก็เป็นสิ่งที่ภาคเอกชนเข้าใจและดำเนินการอยู่บ้างแล้ว

“มาตรการที่อยากให้พิจารณาเพิ่มเติม อาทิ ประเทศในอียูที่ต้องการลดภาวะโลกร้อนด้วยการสนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นชีวภาพ จะมีการกำหนดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ว่าไม่ควรเกินเท่าไร และเมื่อมีบริษัทที่ทำไม่ได้ตามเป้าก็ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทที่ทำตามเป้า อยากให้มีการออกมาตรการบังคับในลักษณะนี้เพื่อให้เกิดการใช้โดยเร็ว” แหล่งข่าวกล่าว

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน