หนุนปลูก “เก๊กฮวย” บนพื้นที่ดอยสูงแทนข้าวโพด แก้รุก-เผาป่า

เชียงราย ผศ.ดร. สุทธิพร ธเนศสกุลวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาเศรษฐกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาบนพื้นที่สูงจะปลูกข้าวโพด เป็นพืชอายุสั้นให้ผลเร็วและปลูกได้ดีบนพื้นที่สูงชัน แต่ก็เกิดปัญหาบุกรุกป่าเพราะมีต้นทุนสูงและราคาต่ำต้องปลูกครั้งละมากๆ ทางสถาบันจึงคิดค้นหาพืชที่จะมีอายุสั้นไล่เลี่ยกัน ใช้เวลา 4-6 เดือน ก็เก็บผลผลิตเหมือนกันแต่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดการรุกป่าเป็นบริเวณกว้างหรือเผาจนทำให้เกิดมลภาวะ ทั้งนี้ ดอกเก๊กฮวยเป็นทางออกที่ดีมาก จึงร่วมกับโครงการหลวงดอยสะโง๊ะ นำเก๊กฮวยไปขยายพันธุ์เพาะเนื้อเยื่อ ส่งเสริมการปลูกและเทคโนโลยีถึงขั้นมีการอบและการตลาดในพื้นที่ชายแดน อ.แม่ฟ้าหลวง ในสภาพภูมิประเทศและอากาศบนที่สูงทำให้เก๊กฮวยมีคุณภาพดี น้ำสีเหลือง กลิ่นหอมและหวานตามธรรมชาติมีคุณค่าทางสมุนไพร ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีทางเลือกปลูกแทนข้าวโพด ห่างไกลจากปัญหาแหล่งยาเสพติดด้วย

ข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้ต้นทุนสูง เอกชนที่รับซื้อกำหนดให้มีการใช้สารเคมีและปุ๋ยตามกรอบเวลา เพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่กำหนด และรายได้ต่อไร่จะเฉลี่ยประมาณ 5,000-7,000 บาท ต่อไร่ กำไรสุทธิหักแล้วเหลือ 1,500 บาท ต่อไร่ แต่ดอกเก๊กฮวยมีรายได้ต่อไร่เฉลี่ยกว่า 10,000 บาท ต่อไร่ นอกจากนี้ เก๊กฮวยมีสารต้านแมลงอยู่ในตัวแล้วด้วย จึงไม่ต้องใช้สารเคมีใดๆ อย่างมากก็ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเท่านั้น

“ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกรายละเพียงประมาณ 2-3 งาน และปลูกพืชอื่นๆ เพื่อความหลากหลายของระบบนิเวศ แต่ถ้าปลูกข้าวโพดนั้นต้องใช้พื้นที่มากเพื่อให้คุ้มทุนดังกล่าว นอกจากนี้ เมื่อพ้นฤดูเพาะปลูกแล้วชาวบ้านเพียงแต่ไถกลบก็จะได้ที่ปลูกใหม่และทำเป็นขั้นบันไดเพื่อให้เหมาะกับภูมิประเทศ แต่ถ้าเป็นข้าวโพดมีลำต้นใหญ่และยาวต้องตัดหรือเผาจึงจะปลูกรอบใหม่ได้”

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด