จี้ กยท. ขายยางในสต๊อกแสนตัน – เร่งเคลียร์หนี้ค้าง 17,399.60 ล้าน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบประมาณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนิน 3 โครงการ คือ

1. โครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ วงเงิน 3,000 ล้านบาท ดำเนินการตั้งแต่เดือนม.ค.-ธ.ค. 2561 ภายใต้กรอบวงเงินโครงการ จำนวน 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณ 1,000 ล้านบาท ให้ใช้เงินกองทุนพัฒนายางพารา ตามมาตรา 49 (3) แห่งพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 และหากไม่พอ ให้ขออนุมัติให้ใช้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อซื้อยางใช้ในประเทศ 2 แสนตัน

2. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อรวบรวมยาง โดยปล่อยกู้ให้กับสหกรณ์ทุกประเภท กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนที่มีการประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางสหกรณ์ทุกประเภท กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่มีการประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา เพื่อกู้เงินจากธนาคารเพื่การเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 1 เม.ย. 2560 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2563

ดังนั้น ครม. จึงอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ ดังนี้ ค่าเบี้ยประกันภัย ในอัตรา 0.36% ต่อปี จำนวน 36 ล้านบาท/ปี ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงิน 108 ล้านบาท ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามรายจ่ายจริงที่จะเกิดขึ้น ค่าบริหารโครงการ อัตรา 0.14% ต่อปี จำนวน 14 ล้านบาท ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี รวมเป็นเงินไม่เกิน 42 ล้านบาท ในส่วนนี้ ให้ กยท. ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามขั้นตอนต่อไป

3. โครงการสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง รับซื้อยางแห้ง วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 3% ต่อปี ซึ่งประเมินไว้น่าจะสูญเสียงบประมาณ 600 ล้านบาท/ปี ตลอดอายุโครงการ โดยระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่ ม.ค. 2561-ธ.ค. 2562 เพื่อดูดซับยางออกจากระบบ ประมาณ 11% หรือ 350,000 ตัน จากผลผลิตทั้งปี ประมาณ 3,200,000 ตัน เพื่อผลักดันราคายางให้สูงขึ้นใกล้เคียงหรือสูงกว่าต้นทุนการผลิตของเกษตรกรชาวสวนยางและรักษาเสถียรภาพราคายางไม่ให้เกิดความผันผวน เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) และรัฐบาลในการร่วมกันแก้ไขปัญหาราคายาง เพื่อลดภาระงบประมาณการจัดซื้อยางและการบริหารจัดการสต๊อกยางพาราจากรัฐบาล

รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุม ครม. คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ติดตามการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ พบว่า ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2560 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีภาระหนี้คงค้าง 2 โครงการ วงเงินรวม 17,399.60 ล้านบาท และยังมีปริมาณยางคงเหลือ 104,603.19 ตัน คิดเป็นมูลค่ายางคงเหลือ ประมาณ 4,970.48 ล้านบาท ณ ราคาตลาด วันที่ 5 ม.ค. 2561 ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นควร ให้ กยท. ดำเนินการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพยางพาราคงเหลือ และดำเนินการจำหน่าย ยางพาราดังกล่าวในระดับราคาที่เหมาะสม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา โดยกระทรวงเกษตรฯ ให้ความเห็นว่า กยท. จะดำเนินการเร่งรัดการจำหน่ายยางพารา ตามข้อเสนอของคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ และปิดบัญชีทั้ง 2 โครงการ ต่อไป

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์