ผู้เขียน | พญ.สกุณี ภาระกูลสุขสถิต |
---|---|
เผยแพร่ |
“ช่องท้อง” ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ จำนวนมาก ได้แก่ ตับ ถุงน้ำดี กระเพาะอาหาร ม้าม ตับอ่อน ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ รวมไปถึงอวัยวะของระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปวดท้อง จึงมีสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ มากมาย นับเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่นำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์
สาเหตุของอาการปวดท้องอาจเกิดจากโรคของอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ในช่องท้อง หรืออาจเกิดจากอวัยวะนอกช่องท้อง เรียกว่าอาการปวดท้องที่ร้าวมาจากอวัยวะอื่น (Referred Pain) เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคปอดบวม การติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น โรคงูสวัด เป็นต้น
การหาสาเหตุของอาการปวดท้องประกอบด้วยวิธีต่างๆ มากมาย ตั้งแต่การซักประวัติ ตรวจร่างกาย การส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงการส่งตรวจวินิจฉัยทางรังสี แม้ว่าจะมีวิธีตรวจมากมาย กล่าวคือ โดยทั่วไปแบ่งช่องท้องเป็น 7 ส่วน เมื่อใช้สะดือเป็นจุดตรงกลาง ลากเส้นสมมุติแนวนอน เหนือเส้นแนวสะดือเป็นช่องท้องช่วงบน ใต้เส้นแนวสะดือเป็นช่องท้องช่วงล่าง ต่อมาลากเส้นแนวตั้งกลางลำตัวแบ่งเป็นช่องท้องซีกซ้ายและซีกขวา และเพิ่มอีก 3 ส่วน คือ ใต้ลิ้นปี่ (Epigastrium) บริเวณรอบสะดือ (Periumbilical area) และบริเวณเหนือหัวหน่าว (Suprapubic area) เมื่อมีอาการปวดท้องในตำแหน่งเหล่านี้มักเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นึกถึงโรคของอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ในตำแหน่งเหล่านี้ ได้แก่
ปวดท้องด้านขวาช่วงบน อาจเป็นโรคที่เกิดจากตับ ถุงน้ำดี ลำไส้ที่อยู่บริเวณนี้ และไตขวา เช่น ตับอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี กรวยไตขวาอักเสบ นิ่วในไตขวา เป็นต้น
ปวดท้องด้านซ้ายช่วงบน อาจเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหาร ม้าม ตับอ่อน ลำไส้ที่อยู่บริเวณนี้ และ ไตซ้าย เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ม้ามแตก กรวยไตซ้ายอักเสบ นิ่วในไตซ้าย เป็นต้น
ปวดท้องด้านขวาช่วงล่าง อาจเป็นโรคที่เกิดจากไส้ติ่ง ลำไส้ที่อยู่บริเวณนี้ ปีกมดลูกด้านขวา เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ปีกมดลูกขวาอักเสบ เป็นต้น
ปวดท้องด้านซ้ายช่วงล่าง อาจเป็นโรคที่เกิดจากลำไส้ที่อยู่บริเวณนี้ ปีกมดลูกด้านซ้าย เช่น ลำไส้อักเสบ ปีกมดลูกซ้ายอักเสบ เป็นต้น
ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาจเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ถุงน้ำดี เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ กรดไหลย้อน นิ่วในถุงน้ำดี เป็นต้น
ปวดท้องบริเวณรอบสะดือ เป็นตำแหน่งของลำไส้เล็ก อาจเกิดจากลำไส้อักเสบ และเป็นอาการเริ่ม ปวดท้องของไส้ติ่งอักเสบได้ (ก่อนจะย้ายไปปวดบริเวณด้านขวาช่วงล่าง)
ปวดท้องบริเวณเหนือหัวหน่าว อาจเป็นโรคที่เกิดจากกระเพาะปัสสาวะ มดลูก เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ มดลูกอักเสบ เนื้องอกมดลูก เป็นต้น
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก พญ.สกุณี ภาระกูลสุขสถิต
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว
รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย