สสก. 9 จังหวัดพิษณุโลกและศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก แนะนำวิธีการคุมหน่อกล้วยอย่างไร ให้มีผลผลิตขายตลอดทั้งปี

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดพิษณุโลก ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า กล้วยน้ำว้า เป็นกล้วยเศรษฐกิจที่มีความสำคัญของไทย เป็นกล้วยที่อุดมด้วยคุณค่าทางอาหารมากด้วยคุณประโยชน์หลากหลาย ซึ่งคนไทยแทบทุกบ้านเรือนมักปลูกกล้วยน้ำว้าไว้บริโภคในครัวเรือน

แต่ในปัจจุบันมีการปลูกกล้วยเพื่อการค้าแบบเชิงพาณิชย์มากขึ้น เพราะกล้วยน้ำว้านอกจากให้ผลเพื่อรับประทานสดแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าจากการแปรรูปที่หลากหลาย และทุกส่วนของกล้วยยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ทำให้มีความต้องการกล้วยน้ำว้าเพิ่มสูงขึ้นทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เกษตรกรจึงหันมาสนใจวิธีการผลิตกล้วยให้ได้คุณภาพดีกันอย่างมาก โดยเฉพาะการนำเทคนิคการคุมหน่อที่มีประสิทธิภาพมาใช้ เพราะเครือกล้วยจะมีจำนวนหวีมากหรือน้อยและสมบูรณ์เพียงใด ขึ้นอยู่กับอาหารที่สะสมไว้ในเหง้า ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับปริมาณแสงและการคุมหน่อในกอ สังเกตได้จากกล้วยปลูกปีแรกจะให้ผลผลิตดีที่สุด เนื่องจากได้รับแสงเต็มที่และส่งอาหารไปเลี้ยงผลผลิตเพียงเครือเดียว

โดยปกติเมื่อกล้วยอายุ 6 เดือน จะเริ่มแทงหน่อ และสะสมอาหารสำหรับตกเครือให้ผลผลิต ควรคุมหน่อในกอแต่ละรุ่นให้เหลือเพียง 1 หน่อ โดยเลือกไว้หน่อใบดาบที่อยู่ไกลจากต้นแม่ และคุมหน่อรุ่นต่อไปให้มีอายุห่างกัน 3 เดือน จะทำให้ได้ผลผลิตกล้วย 4 เครือ ต่อกอ ต่อปี ที่มีคุณภาพสูงใกล้เคียงกับการปลูกใหม่

ด้าน นายบัณฑิต สิทธิหล่อ ผู้อำนวยการศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก อธิบายถึงเทคนิคการคุมหน่อที่มีประสิทธิภาพ ว่ามีวิธีการตั้งแต่ การขุดแยกหน่อ ใช้เมื่อหน่อยังมีขนาดเล็กหรือยังอยู่ในระยะหน่อใบดาบ แต่ไม่ควรขุดขณะที่ต้นแม่อยู่ในช่วงให้ผลผลิต เนื่องจากกระทบต่อผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพหรือที่เรียกว่า “กล้วยงัน” การเบนหน่อ หรือ ปาดหน่อ วิธีนี้ไม่สามารถกำจัดหน่อได้ แต่ช่วยชะลอการเจริญเติบโตและทำให้เหง้าสะสมอาหารมีขนาดใหญ่ขึ้น เหมาะสำหรับนำไปปลูก ควรปาดหน่อ 2-3 ครั้ง ก่อนที่จะขุดแยกไปปลูก

การทำลายหน่อขนาดใหญ่ ซึ่งไม่สามารถขุดออกได้ ให้ปาดและใช้ปลายมีดคว้านให้เป็นหลุมแล้วหยอดด้วยน้ำมันก๊าด ประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ เพื่อทำลายหน่อ โดยวิธีนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับต้นแม่ ซึ่งหากเกษตรกรไว้หน่อ 4 ต้น ต่อกอ ตามเทคนิคที่กล่าวมานี้ จะทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ในทุกรอบของการเก็บเกี่ยว สามารถวางแผนการผลิต มีผลผลิตกล้วยจำหน่ายตลอดทั้งปี และมีปริมาณวัตถุดิบกล้วยสดเพื่อรองรับความต้องการการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์กล้วยตากและกล้วยแปรรูปชนิดต่างๆ

หากเกษตรกรท่านใดมีความสนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 6 จังหวัดพิษณุโลก 99/1 หมู่ 5 ต.งิ้วงาม อ.เมือง จ.พิษณุโลก โทรศัพท์ 055-906220 โทรสาร 055-906221