ชาวสวนแย่ สับปะรดเหลือกิโลละ 2-3 บ. ต่ำสุดรอบ 10 ปี ทหารรุดช่วย

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พล.ต.สมชาย ครรภาฉาย ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 นครพนม พร้อมด้วย พ.อ.ชัยพฤกษ์ กองสมบัติ รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนครพนม ว่าที่ร้อยตรี ภูมิศักดิ์ ขำปู่ นายอำเภอท่าอุเทน ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบรับทราบปัญหาความเดือดร้อนจากเกษตรกรชาวสวนสับปะรด ในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน และ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม กำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับราคาสับปะรดตกต่ำ และผลผลิตล้นตลาด เนื่องจากพื้นที่ อ.โพนสวรรค์ และ อ.ท่าอุเทน ถือเป็นพื้นที่แหล่งผลิตปลูกสับปะรดหวานขึ้นชื่อที่ใหญ่ที่สุดของ จ.นครพนม และยังเป็นพืชเกษตรบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีรสชาติหวานฉ่ำ กลิ่นหอม ไม่กัดลิ้น ตาตื้น ที่สร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรปีละหลายสิบล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมากกว่า 8,000 ไร่

แต่ช่วงนี้เป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่เกิดวิกฤตจากปัญหาผลผลิตล้นตลาด ทำให้ราคาตกต่ำ มีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อหน้าสวน ประมาณกิโลกรัมละ 2 -3 บาท แต่ต้นทุนเฉลี่ยตกกิโลกรัมละ 3 บาท จากปกติราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 10 -15 บาท หรือเคยมีปัญหาแค่กิโลกรัมละ 8 -10 บาท ถือว่าราคาตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ต้องแบกภาระ และยอมขายขาดทุน โดยทางด้าน พล.ต.สมชาย ครรภาฉาย ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 210 นครพนม ได้ระดมทุนจากหลายภาคส่วน เข้าไปซื้อสับปะรดช่วยเหลือเกษตรกร ในราคากิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และนำไปขายให้กับประชาชน นักท่องเที่ยว ในราคาถูกซึ่งรอบแรกได้ช่วยซื้อเป็นจำนวนรวม 11 ตัน พร้อมหารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งหาช่องทางการตลาดระบายออกขาย บรรเทาความเดือดร้อน

พล.ต.สมชาย เปิดเผยว่า ช่วงนี้เกษตรกรชาวสวนสับปะรดในพื้นที่จ.นครพนม มีปัญหาเดือดร้อนจากราคาตกต่ำ เพราะมีผลผลิตล้นตลาด บวกกับไม่มีโรงงานมารับซื้อ และไม่มีโรงงานแปรรูปในพื้นที่ ดังนั้นหน่วยงานทหาร จึงได้ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ลงพื้นที่หาทางดูช่วยเหลือ เพราะปัจจุบันมีผลผลิตออกขายวันละกว่า 50 ตัน เนื้อที่รวมกว่า 8,000 ไร่ แต่มีราคาเพียงกิโลกรัมละ 2 -3 บาทเท่านั้น ทำให้ขาดทุนหนัก ครั้งนี้ทหารได้ระดมเงินจากทั้งภาครัฐเอกชน มาช่วยซื้อไป 11 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 5 บาท เพื่อนำไปกระจายส่งขายให้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้หารือกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือจัดทำการตลาด จำหน่าย ตามสถานที่ต่างๆ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ช่วยกันซื้อช่วยเกษตรกร รวมถึงจะนำรถบรรทุก รวมถึงกำลังทหาร เข้ามาดูแลสนับสนุน เรื่องการขนส่ง เป็นการลดต้นทุนแก่เกษตรกรในการขนส่งไปจำหน่าย แก้ปัญหาแบกภาระต้นทุนในช่วงราคาตกต่ำ

ที่มา มติชนออนไลน์