ส่งออกเม.ย.แรง 12.3% มั่นใจปีนี้ทะลุ 8%

ทุเรียนไปลิ่ว 4 เดือน โต 207% ยอดพุ่งจาก “อีคอมเมิร์ซ” ส่งออกเม.ย.แรง 12.3% มั่นใจปีนี้ทะลุ 8% พาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกเดือนเม.ย.พุ่ง 12.3% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป ปรับเพิ่ม 50.7% ส่วนยอดส่งออก 4 เดือน อยู่ที่ระดับ 11.5% มั่นใจทั้งปี  โตมากกว่า 8% ล่าสุดส่งออกทุเรียน 4 เดือน ยอดพุ่ง 207%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) แถลงตัวเลข ส่งออกเดือนเมษายน 2561 ว่า ขยายตัวสูงขึ้น 12.3% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 หรือมีมูลค่า 18,946 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออก 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย. 2561) ขยายตัว 11.5% มูลค่า 81,775 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกเดือนเมษายน ที่ขยายตัวเป็นผลมาจากการส่งออกดีในทุกตลาด และการ ส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นเดือนที่ 14

สำหรับการนำเข้าเดือนเมษายน 2561 มูลค่า 20,229 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 20.4% ทำให้ไทยขาดดุล 1,283 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้การนำเข้าใน 4 เดือนแรก มีมูลค่า 81,102 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 17.2% และการค้าเกินดุล 673 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดการณ์การส่งออกทั้งปีน่าจะขยายตัวไปในทิศทางที่ดี ใกล้เคียงเป้าหมายหรือโต กว่าที่คาดไว้ 8% แม้ช่วงการส่งออกในครึ่งปีหลังจะชะลอตัวไปบ้าง แต่ยังมั่นใจว่าการส่งออกไทยทั้งปียังเติบโต
สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัว 9.8% สินค้าส่งออกได้ดี ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 50.7% ส่งออกข้าวโต 19.1% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 25.8% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ขยายตัว 12.2% สินค้าที่ส่งออกขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์ ขยายตัว 17.8% เม็ดพลาสติก 29.0% น้ำมันสำเร็จรูป 39.0%
การส่งออกในตลาดสำคัญขยายตัวเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดอาเซียน 5 และตลาดตะวันออกกลาง การส่งออกตลาดหลัก ขยายตัว 13.9% เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ตลาดศักยภาพ ขยายตัว 11.0% เช่น อินเดีย จีน CLMV ฮ่องกง เกาหลีใต้ ฯลฯ ตลาดศักยภาพรอง ขยายตัว 13.8% ออสเตรเลีย แอฟริกา  ละตินอเมริกา ฯลฯ

การส่งออกทั้งปีมองว่าขยายตัวดี ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เอเชียและจีนก็ดีขึ้น มีผลต่อการนำเข้าสินค้า ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันที่แนวโน้มสูงขึ้น 70 เหรียญสหรัฐ ต่อบาร์เรล รวมทั้งอุปทานน้ำมันที่ลดลงจากปัญหาในประเทศของผู้ส่งออกน้ำมัน มีผลต่อสินค้าเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ข้าว มันสำปะหลัง

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า การส่งออกทุเรียนไทยไปในตลาดโลกก็มีการปรับตัวดีขึ้น จากหลายปัจจัยรวมไปถึงการค้าผ่านระบบอีคอมเมิร์ซมีผลต่อการส่งออกขยายตัวได้มากขึ้น พบว่าการส่งออก 4 เดือนแรกส่งออกไปได้ 189.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 207.2% ขณะที่ปริมาณที่ส่งออกไป 148,504 ตัน ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น จีน เวียดนาม ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด