เผยความก้าวหน้าของ นโยบาย “เกษตรแปลงใหญ่” ภายใต้การผลักดันของ “กรมการข้าว”

ที่ผ่านมา เกษตรกรจำนวนมาก ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำลง สวนทางกับต้นทุนการผลิต ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาที่ปรับตัวสูงขึ้น แถมฝนฟ้าตกไม่ตรงฤดูกาล ทำให้นาข้าวได้ผลผลิตไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะเจอฝนแล้งและน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ ชาวนาจำนวนมากต้องแบกรับภาระหนี้สินเพิ่มพูน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมการข้าว จึงพยายามช่วยเหลือชาวนาให้สามารถควบคุมต้นทุนได้ง่ายขึ้น ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ภายใต้รูปแบบ “การทำนาแปลงใหญ่” นั่นเอง

กรมการข้าว เชื่อว่า หลักการ “การทำนาแปลงใหญ่” จะช่วยแก้ไขปัญหาชาวนาได้อย่างเบ็ดเสร็จมากขึ้น จากเดิมที่เกษตรกรต่างคนต่างทำ ปลูกข้าวแปลงเล็กแปลงน้อย ไม่มีการวางแผนตลาดที่ชัดเจน เมื่อเกิดการรวมกลุ่มชาวนา ในลักษณะนาแปลงใหญ่ ที่วางแผนการผลิตร่วมกัน เก็บเกี่ยวผลผลิตพร้อมกัน ขายผลผลิตพร้อมกัน จะช่วยลดต้นทุนการผลิต และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น ทั้งนี้ กรมการข้าว แนะนำให้ ชาวนา แบ่งพื้นที่ 10% มาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อให้มีรายได้พออยู่พอกินก่อน พื้นที่ที่เหลือจึงค่อยปลูกเพื่อขาย

นโยบาย “นาแปลงใหญ่” เป็นระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบหนึ่งที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก ไม่ใช่รวมแปลงเจ้าของคนเดียว แต่เกษตรกรทุกคนยังเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ นโยบายนาแปลงใหญ่ดำเนินงานในลักษณะบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน


การส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่นี้ สามารถประยุกต์ใช้กับ “โครงการ” บางโครงการได้ เช่น โครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ที่เน้นเพิ่มประสิทธิภาพสูง การรวมแปลงใหญ่รวมกันเพื่อลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ผลผลิตที่ได้ก็มีคุณภาพสูง และมีต้นทุนต่ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดงบประมาณภาครัฐ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็มีอานาจต่อรองทางการตลาดมากขึ้น

การทำเกษตรพอเพียง เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีที่ดินทำกินไม่มากนัก ปลูกพืชทุกอย่างที่ตัวเองกิน เหลือกินก็เก็บขาย ซึ่งเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในด้านเกษตรพอเพียง ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีความขยัน อดทน รักที่จะทำการเกษตรเชิงผสมผสาน จนประสบความสำเร็จ โดยภาครัฐจะช่วยสนับสนุนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งสิ่งที่เกษตรกรยังขาดแคลน ภายใต้เป้าประสงค์เดียวกับเกษตรแปลงใหญ่ นั่นก็คือ ลดต้นทุนการผลิต และมีรายได้ต่อไร่มากขึ้น

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการข้าว พยายามช่วยเหลือพัฒนาเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยให้เกิดการรวมตัวกันในลักษณะร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ซึ่งกรมการข้าวดำเนินนโยบายลักษณะนี้มาตั้งแต่ ปี 2557-2559 โดยส่งเสริมการทำนาแปลงใหญ่ จำนวน 300 แปลง สอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการทำเกษตรแปลงใหญ่ ที่มุ่งเน้นให้เกิดการรวมตัวของเกษตรกรรายย่อย ในลักษณะกลุ่มเกษตรกร ร่วมกันคิดร่วมกับพัฒนาวางแผนการผลิต การตลาด เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้ และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง

การรวมกลุ่มเกษตรกร ในลักษณะร่วมกันซื้อร่วมกันขายจะช่วยให้เกษตรกรสามารถซื้อปัจจัยการผลิตได้ในราคาที่ถูกลง ขณะเดียวกัน เมื่อพวกเขาวางแผนการผลิตและเก็บเกี่ยวผลผลิตพร้อมๆ กัน จะสร้างอำนาจต่อรองราคากับโรงสีได้

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ทุกวันนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ตื่นตัวกับนโยบายนาแปลงใหญ่ ทุกคนรู้ว่าเขาต้องทำอะไร ขณะที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย ก็ร่วมกันวางแผนยุทธศาสตร์ข้าวครบวงจร ในลักษณะบรูณาการ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนนโยบายนาแปลงใหญ่ให้สำเร็จ เพราะเชื่อว่า เมื่อเกษตรกรรู้จักวางแผนการผลิต ใช้เทคโนโลยีให้เป็น รู้จักวิเคราะห์ข้อมูลการตลาด โอกาสความสำเร็จของนาแปลงใหญ่ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก

หากใครสนใจอยากสนับสนุนผลผลิตจากโครงการนาแปลงใหญ่ ของกรมการข้าว สามารถแวะมาเยี่ยมชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพดี ของเกษตรกรชาวนา ภายใต้การสนับสนุนของกรมการข้าวได้ ที่งานเกษตรมหัศจรรย์ 2561 “เกษตรสร้างสุข ยุคดิจิตอล” วันที่ 24-27 พฤษภาคม 2561 ณ สกายฮอลล์ ชั้น 3 เซ็นทรัลลาดพร้าว เวลา 10:00- 20:00 น.