เผยแพร่ |
---|
คุณระนอง จรุงกิจกุล เกษตรจังหวัดกระบี่กล่าวว่าจากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ศัตรูพืชในจังหวัดกระบี่ พบว่าในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่า 20 ปี มีการเข้าทำลายของโรคโคนลำต้นเน่า และเริ่มระบาดมากกับต้นปาล์มน้ำมันอายุ 10 – 15 ปี (ระบาดในต้นที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ) ซึ่งโรคโคนลำต้นเน่ามีสาเหตุมาจากเชื้อรา Ganoderma (กาโนเดอร์ม่า) โดยเชื้อราจะเข้าทำลายที่รากเข้าสู่โคนต้น หากมีการเข้าทำลายประมาณครึ่งหนึ่งของลำต้น จะแสดงอาการให้เห็นทางใบ การเน่ามีผลทำให้ไปบล็อคทางลำเลียงอาหารและน้ำในต้นพืช ทำให้อาการเหมือนกับอาการขาดน้ำ และขาดธาตุอาหารของพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ จึงขอแจ้งให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงปาล์มน้ำมันและเฝ้าระวังการระบาดของโรค
ลักษณะอาการ
อาการภายนอกที่พบคือใบมีสีซีดจางกว่าปกติ ทางแก่ล่างจะหักพับทิ้งตัวห้อยลงรอบ ๆ ลำต้น ซึ่งจะเร็วหรือช้าขึ้นกับฤดูกาล ทางยอดที่ยังไม่คลี่มีจำนวนมากกว่าปกติ ในขณะเดียวกันภายในลำต้นปาล์มน้ำมันถูกทำลายไปถึง 50 % ต้นจะตายภายใน 2 – 3 ปี โดยต้นจะหัก หรือล้มลง โรคนี้ทำให้เกิดการเน่าแห้งของเนื้อเยื่อที่ฐานของต้น เมื่อตัดต้นเป็นโรคตามขวางจะเห็นเนื้อเยื่อบริเวณที่เน่าเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีแถบสีน้ำตาลเข้มรูปร่างไม่แน่นอนเกิดสลับกันอยู่ และที่ขอบแผลมีบริเวณสีเหลืองใสกั้นระหว่างส่วนที่เป็นโรคและส่วนที่ผิดปกติ รากมีลักษณะกรอบ เนื้อเยื่อภายในแห้งเป็นผง
ลักษณะของดอกเห็ด สร้างขึ้นที่บริเวณฐานของลำต้น หรือรากบริเวณใกล้ลำต้น ดอกเห็ดที่พบครั้งแรกมีสีขาวขนาดเล็ก ต่อมาจะขยายโตขึ้นมีสีน้ำตาลแดงมีสีขอบสีขาวผิวด้านบนเรียบเป็นมันคล้ายทาด้วยแลคเกอร์ ผิวด้านล่างมีสีขาวขุ่นเต็มไปด้วยรูเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่สร้างสปอร์สีน้ำตาลเป็นผงเล็ก ๆ กระจายไปทั่วบริเวณใกล้เคียง
การแพร่ระบาด
โรคโคนลำต้นเน่าปาล์มน้ำมันนี้พบว่าเคยมีการระบาดสร้างความเสียหายแก่ปาล์มน้ำมันที่ปลูกในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียมาแล้วแพร่กระจายโดยสปอร์ที่ปลิวไปในอากาศ หรือ รากที่ไปสัมผัสกับดินที่มีเชื้อ
ดังนั้น เพื่อป้องกันการระบาดของโรคที่จะเกิดขึ้น จึงขอแนะนำดังนี้ ในการเตรียมพื้นที่ปลูกปาล์ม
ใหม่ให้กำจัดซากต้นปาล์มเก่าและทำความสะอาดเพื่อป้องกันกำจัดเชื้อเห็ดที่ติดอยู่กับซากพืช และพื้นที่ควรจัดการให้มีการระบายน้ำให้ดี
สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ แนะนำวิธีการป้องกันกำจัดดังนี้
- 1. อย่าเคลื่อนย้ายต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นโรคผ่านไปในแปลงปาล์มน้ำมัน
- 2. ขุดร่องหรือคูรอบบริเวณต้นปาล์มน้ำมันที่เป็นโรคเพื่อป้องกันการสัมผัสของราก
- 3. ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าเพื่อควบคุมโรคพืช
3.1 ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า 1 กก. ผสมกับรำละเอียด 4 – 10 กก.และปุ๋ยอินทรีย์ 50 – 100 กก.
– รองก้นหลุมอัตรา 100 กรัม/หลุมตามขนาดของหลุมปลูก
– หว่านในแปลงปลูก หรือรอบทรงพุ่มในอัตรา 3 – 6 กก./ต้น
3.2 ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า 1 กก. ผสมน้ำ 20 – 100 ลิตร กรองเอาเฉพาะน้ำนำไปฉีดพ่นอย่าง
สม่ำเสมอเพื่อป้องกันโรคในส่วนบนของต้นปาล์มน้ำมัน
3.3 ตรวจสอบต้นที่เป็นโรคโดยใช้ไม้เคาะลำต้นปาล์มน้ำมันเพื่อฟังเสียงในบริเวณที่ถูกทำลาย
ถากส่วนที่เป็นโรคออก ใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่า 1 กก. น้ำ 2 ลิตร ดินฝุ่นแดง 1 กก. ผสมเข้ากันทา
บนรอยแผลที่ถาก
- ถากส่วนที่เป็นโรคออก ใช้สารเคมี เช่นไทแรม ทาบนรอยแผลที่ถาก เพื่อป้องกันการเข้าทำลายซ้ำจากเชื้ออื่นๆ
- 5. กำจัดต้นที่เป็นโรคออกจากแปลงโดยการขุดเผาทำลาย
สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ 075-611649