สสก. 8 จ.สุราษฎร์ธานี เชื่อมโยงการดำเนินงานเครือข่ายแปลงใหญ่ และ ศพก. ระดับเขต

การเชื่อมโยงการดำเนินงานเครือข่ายแปลงใหญ่และศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ระดับเขต ปี 2561 เป็นแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพการผลิตภาคเกษตร มีกิจกรรมการประชุมเชื่อมโยงการดำเนินงานของคณะกรรมการเครือข่ายฯ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงาน อย่างเป็นรูปธรรม เกิดการเชื่อมโยงการทำงานเครือข่ายด้านการผลิต การตลาด และพัฒนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านต่างๆ ในระดับเขต

นายธาร นวลนึก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การดำเนินงานเชื่อมโยงเครือข่ายแปลงใหญ่ และ ศพก. ของ สสก.8 ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ระดับเขต แบบสัญจร จำนวน 6 ครั้ง ครั้งละ 2 วัน มีผู้เข้าร่วมประชุมรวม ประกอบด้วย คณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่และเครือข่าย ศพก. เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแปลงใหญ่และ ศพก. ระดับจังหวัด ไปแล้ว จำนวน 3 ครั้ง ณ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 8 จังหวัด สุราษฎร์ธานี จังหวัดระนอง และจังหวัดภูเก็ต และครั้งที่ 4 กำหนดจัดประชุม ในวันที่ 11-12 มิถุนายน 2561 ณ ศพก. อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

ผลการดำเนินงานจากการขับเคลื่อนการดำเนินงานเครือข่ายแปลงใหญ่และ ศพก. ระดับเขต มีผลการขับเคลื่อน เช่น กรณี จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการจัดการตลาดปาล์มน้ำมันของอำเภอท่าชนะ อำเภอท่าฉาง โดยเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมัน ได้ทำข้อตกลง (MOU) กับโรงงานรับซื้อผลผลิต โดย ฝ่ายเกษตรกรจะจัดการผลิตปาล์มน้ำมันที่ได้คุณภาพ ฝ่ายโรงงานจะรับซื้อผลผลิตที่กำหนดราคาตามชั้นคุณภาพ และเมื่อรวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่ ก็จะได้รับราคาที่ดีกว่าเกษตรกรทั่วไป 30-50 สตางค์ ต่อกิโลกรัม ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นสักขีพยานในการดำเนินการ เป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่ายและแปลงใหญ่ของจังหวัดอื่นๆ ได้นำโมเดล การจัดการของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปปรับใช้ในจังหวัดของตนเอง

กรณี จังหวัดภูเก็ต ในแปลงใหญ่ผักเหลียง กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ได้ทำข้อตกลง (MOU) กับโรงพยาบาล เพื่อจะผลิตผักเหลียงคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย ระดับ GAP ส่งให้โรงพยาบาลในจังหวัดภูเก็ต เป็นประจำตามแผนความต้องการของโรงพยาบาล แต่การผลิตของเกษตรกรไม่เพียงพอ

เนื่องจาก จ.ภูเก็ต มีพื้นที่ในการผลิตค่อนข้างจำกัด จึงได้เชื่อมโยงเครือข่ายกับกลุ่มแปลงใหญ่และ ศพก. ของจังหวัดระนองและจังหวัดพังงา ซึ่งผลิตผักเหลียงที่มีคุณภาพได้เช่นกัน ส่งให้ทางกลุ่มแปลงใหญ่ของจังหวัดภูเก็ตจัดการเรื่องการตลาดให้

กรณี จังหวัดชุมพร กลุ่มแปลงใหญ่และ ศพก. มังคุด ของอำเภอหลังสวน มีการจัดการด้านการตลาดโดยกลุ่มฯ ได้จัดการประมูลราคาผลผลิตมังคุด ในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผลท่ามะพลา ทำให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตมังคุดได้ราคาที่เหมาะสม เป็นธรรมแก่ผู้ผลิต ซึ่งได้ราคาที่สูงกว่าการจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลาง ปีละหลายล้านบาท และคณะกรรมการเครือข่ายฯ มีการเชื่อมโยงนำไปปรับใช้กับกลุ่มแปลงใหญ่มังคุดของจังหวัดระนองและจังหวัดนครศรีธรรมราชในลักษณะเดียวกัน

“จะเห็นว่า การเชื่อมโยงการดำเนินงานของคณะกรรมการเครือข่ายแปลงใหญ่ และ ศพก. ทำให้เกษตรกรมีความรู้ ความสามารถ ทักษะ ในการบริหารจัดการองค์กร การจัดการอาชีพได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีการพึ่งพาตนเองได้ในระดับหนึ่ง” นายธาร กล่าวทิ้งท้าย