อสังหาฯ ค้างสต๊อก 1.76 แสนยูนิต “อีไอซี” ชี้ถ้าไม่เปิดใหม่อีก 2 ปีจะขายหมด แนะเอกชนปรับตัวตามเทรนด์รับแข่งดุ

อีไอซีชี้ตลาดอสังหาฯ แข่งแรง ระบุจับตาสต๊อกคงค้าง 1.76 แสนยูนิต ต้องใช้เวลาระบาย เผยไตรมาสแรกโอนกรรมสิทธิ์โต 7% แนะผู้ประกอบการปรับตัวตามเทรนด์ผู้บริโภค

นายวิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการอาวุโสคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปีนี้มีทิศทางปรับตัวที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมต่างๆ ความต้องการที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นจากครอบครัวที่มีขนาดเล็กลง โดยประเมินว่าตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑลปีนี้จะมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ 4.59 แสนล้านบาท เป็นคอนโดมิเนียม 46% บ้านเดี่ยว 23% ทาวน์เฮ้าส์ 21% และอีก 10% เป็นบ้านแฝดและอาคารพาณิชย์ ซึ่งมูลค่าการโอนเติบโตขึ้น 7% จากปี 2560 ที่มีมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ 4.28 แสนล้านบาท ด้านจำนวนยูนิตที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ปีนี้อยู่ที่ 1.69 แสนยูนิต เพิ่มขึ้น 3% จากปี 2560 ที่ 1.63 แสนยูนิต ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัดคาดว่าจะขยายตัวราว 2-3% โดยเริ่มเห็นตลาดที่อยู่อาศัยในหัวเมืองหลักปรับดีขึ้นและจำนวนคอนโดมิเนียมเหลือขายในต่างจังหวัด ลดลง

นายวิธาน กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งจำนวนสินค้าคงค้างเหลือขายมากกว่า 1.76 แสนยูนิต แบ่งเป็นคอนโดมิเนียม 40% บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์กลุ่มละ 20% ซึ่งกรณีที่ไม่มีการเปิดโครงการใหม่ออกมาคาดว่าจะสามารถระบายสต๊อกเหล่านี้ได้ในช่วง 1-2 ปี อย่างไรก็ตาม แต่ละปีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีการเปิดโครงการใหม่เพิ่มขึ้นดังนั้น ต้องใช้เวลาในการระบายสินค้าคงค้าง ซึ่งผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มีการจัดโปรโมชั่นส่วนลดราคาหรือของแถมเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ และพบว่าผู้ประกอบการระมัดระวังในการเปิดโครงการใหม่มากขึ้น

“กำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ยังพอมีอยู่ สต๊อกสินค้าที่คงค้างคาดว่าจะทยอยระบายไม่ได้มีความกังวลมากนัก เพราะผู้ประกอบการมีการปรับตัวชัดเชน ทั้งนี้ ส่วนของการโอนกรรมสิทธิ์ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาก็ขยายตัวได้ดีราว 20-30% และจะทยอยโอนทั้งปีนี้ ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในภาคอสังหาริมทรัพย์อยู่ในระดับต่ำที่ระดับ 2-3% ซึ่งขณะนี้สถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออยู่ ด้านอัตราดอกเบี้ยแต่ละธนาคารยังมีการแข่งขันกันอยู่เช่นกัน” นายวิธาน กล่าว

นายวิธาน กล่าวว่า การแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเน้นกลยุทธ์สร้างความแตกต่างและเข้าใจผู้บริโภคเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดย 3 กลยุทธ์ คือ ออกแบบ รองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้า การจับมือทางธุรกิจเพื่อพัฒนาสินค้า ถ่ายทอดความรู้ เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ และสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ ซึ่งเทรนด์ความต้องการที่อยู่อาศัยของไทยที่น่าจับตามองคือ ตลาดคอนโดมิเนียมจะยังคงเป็นตลาดใหญ่ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับพื้นที่ส่วนกลางฟังก์ชั่นการใช้งานของพื้นที่ที่หลากหลาย อยากอยู่ใกล้แหล่งชุมชนเพิ่มเติมจากแค่ใกล้รถไฟฟ้า และสมาร์ทโฮมจะกลายเป็นพื้นฐานการพัฒนาโครงการในอนาคต

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน