อุตรดิตถ์ จัดการกระจายผลผลิต สับปะรดห้วยมุ่น…ช่วงนี้อร่อยสุดๆ

ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ผลผลิต สับปะรดห้วยมุ่น กำลังอยู่ในช่วงที่คุณภาพดีที่สุด และมีปริมาณมากที่สุด เป็นสับปะรดที่ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศนิยมบริโภคกันมากที่สุด เกษตรอุตรดิตถ์ ปรับกลยุทธ์กระจายผลผลิต ให้ออกสู่ตลาดในสภาพคล่อง จัดการตลาดในแบบแสวงหาการมีส่วนร่วม โดยให้มีการซื้อขายทาง Internet และสื่อ Digital ต่างๆ ใช้การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ผู้บริโภค “สัมผัสสับปะรดห้วยมุ่น ที่แท้จริงด้วยลิ้น และบอกกล่าวด้วยปาก”

นายอุดมศักดิ์ คำมูล เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า “สับปะรดห้วยมุ่น” ซึ่งเป็นไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับการประกาศให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI.) มีพื้นที่ปลูก 30,707 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 27,719 ไร่ ให้ผลผลิตกว่า 122,700 ตัน ณ เวลานี้เกิดปัญหาด้านการขาดสภาพคล่อง ในการกระจายผลผลิต เนื่องจากสาเหตุสำคัญคือ สภาพภูมิอากาศของประเทศไทย มีผลทำให้เกิดการสุกแก่ของสับปะรดพร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งตามปกติแล้วผลผลิตสับปะรด จะทยอยสุกแก่จากภาคใต้ ตะวันออก กลาง ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ อีกประการหนึ่งคือสภาพภูมิอากาศปีนี้ เอื้ออำนวยต่อการติดผล และให้ผลผลิตคุณภาพดี ไม่มีปัญหาภัยธรรมชาติ หรือศัตรูพืชระบาดทำลาย ปัจจัยต่างๆ คือ ปัจจัยสำคัญ ทำให้ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ในขณะที่โรงงาน และผู้บริโภค มีข้อจำกัดในความสามารถการรับซื้อผลผลิตเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรม หรือบริโภค ทำให้ผลผลิตสับปะรดขาดสภาพคล่องในด้านการกระจายสินค้า และการตลาด มีผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ ดังเช่นที่หลายพื้นที่ประสบปัญหาอยู่

 

เกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ดำเนินการจัดทำแผนการตลาดสับปะรดห้วยมุ่น เพื่อแก้ไข หรือบรรเทาปัญหา โดยการแสวงหาการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ช่วยกันกระจายผลผลิต ทั้งสับปะรดบริโภคผลสด และสับปะรดโรงงาน ในส่วนของพื้นที่ ได้ส่งเสริมให้ใช้ผลผลิตสับปะรดในการแปรรูปเป็นสินค้าชนิดต่างๆ เช่น สับปะรดกวน สับปะรดแก้ว แยมสับปะรด น้ำผลไม้สับปะรด น้ำสับปะรดเข้มข้น ประกอบอาหาร หรือขนมจากสับปะรด และอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ ลดค่าใช้จ่าย นอกจากนั้น ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีสับปะรดคุณภาพต่ำ และเศษสิ่งเหลือจากสับปะรด นำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ หัวเชื้อจุลินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพ เพื่อใช้ในการเกษตรเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตคุณภาพ สร้างความปลอดภัย

ที่สำคัญได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยการกระจายผลผลิตสับปะรดห้วยมุ่น สู่ตลาดผู้บริโภคสด และแปรรูปอย่างเป็นระบบ โดยประสานเปิดช่องทางการตลาด ไปในแหล่งที่เป็นศูนย์กลางประชาชน และส่วนราชการส่วนกลาง เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้า และการติดต่อ หรือตกลงซื้อขายสับปะรด ทั้งทางพบปะโดยตรง และทางเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น Internet Facebook App.Line หรือสื่อ Digital ต่างๆ ทำให้เกิดผลการกระจายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปริมาณมาก เช่น เปิดร้านจำหน่ายที่ ตลาด อ.ต.ก. กรุงเทพฯ เปิดร้านแสดงและจำหน่ายที่กรมส่งเสริมการเกษตร บางเขน กรุงเทพฯ ติดต่อประสานส่วนราชการ และภาคเอกชนต่างๆ ที่มีอัตรากำลัง และอัตราการบริโภคสูง เช่น หน่วยงานทหาร สถาบันการศึกษา ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ตลาดกลาง ฯลฯ เพื่อให้ช่วยสนับสนุนกระจายผลผลิตสับปะรดห้วยมุ่น

หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ โทรศัพท์ กลุ่มยุทธศาสตร์ฯ สำนักงานเกษตรจังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. 055-411-769, 055-440-894

 

อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช/ รายงาน