กรมส่งเสริมการเกษตร โชว์โมเดล ความสำเร็จทุเรียนพรีเมี่ยม จากโครงการแปลงใหญ่จันทบุรี

ทุเรียนจันทบุรี ปลื้มหลังร่วมโครงการส่งเสริมแปลงใหญ่ ดันรายได้เกษตรกรเพิ่ม 20% เพิ่มผลผลิตคุณภาพส่งออกทะลุ 80% – ผู้ซื้อทั้งจากจีน-ไต้หวัน มั่นใจคุณภาพเหมือนกันทุกลูก -ผลของการรวมกลุ่มเพิ่มอำนาจต่อรองราคากับคู่ค้า

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) เปิดเผยว่า ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี  เป็นเครือข่ายแปลงใหญ่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เป็นการบริหารจัดการตั้งแต่การผลิตสู่การตลาด เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน และตรงกับความต้องการของตลาด จากเดิมที่เกษตรกรต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างขาย ผลลิตไม่ได้มาตรฐาน ทำให้พ่อค้าคนกลางกดราคา

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

การปลูกทุเรียน ของ จ.จันทบุรี เกษตรกรจะคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคทุกขั้นตอน โดยทุกสวนจะใช้สารเคมีอย่างถูกต้องตามช่วงระยะของพืช เหมาะสมตามหลักมาตรฐาน GAP รวมถึงใช้สารชีวภัณฑ์ควบคู่ไปด้วย เพื่อลดต้นทุน ซึ่งการดำเนินงานของกลุ่ม จะรวบรวมสมาชิกกันตั้งแต่ต้นฤดูกาล เพื่อวางแผนการผลิต ควบคุมคุณภาพ และรวบรวมสินค้า ซึ่งปีนี้สามารถส่งออกให้ตลาดคู่ค้าต่างประเทศได้ 70% ที่เหลือ 30% คัดเกรดพรีเมี่ยม เปิดจองผ่านออนไลน์และส่งถึงผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด

สำหรับแปลงใหญ่ทุเรียนพรีเมี่ยมคุณภาพ ที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ตั้งอยู่บนพื้นที่ 326.5 ไร่ มีเกษตรกร รวมกันทั้งหมด 23 ราย จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ชาวสวนทุเรียนจันทน์ รวบรวมและแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ตกไซซ์ โดยการจำหน่ายสินค้าเกรดพรีเมี่ยมผ่านระบบออนไลน์

นายสุเทพ สินชัย เกษตรอำเภอท่าใหม่ กล่าวว่า สำหรับเกษตรแปลงใหญ่จังหวัดจันทบุรี มีจำนวนเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมการส่งเสริม 40 ราย แบ่งเป็นแปลงใหญ่ ประมง 2 แปลง ปศุสัตว์ 1 แปลง แปลงใหญ่หญ้าเนเปียร์ 1 แปลง แปลงใหญ่ชันโรง 1 แปลง ไม้ยืนต้น 35 แปลง โดยจำนวนนี้เป็นแปลงใหญ่ทุเรียน จำนวน 10 แปลง จากปี 2560 มีเพียง 1 แปลง เป็นแปลงใหญ่ทุเรียน 326.5 ไร่ มีสมาชิก 23 ราย โดยเกษตรกรชาวสวนทุเรียนจังหวัดจันทบุรี ร่วมโครงการส่งเสริมแปลงใหญ่ เป้าหมายเพื่อลดต้นทุน 20% เพิ่มรายได้ 20%

“การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ เมื่อครบ 3 ปี ต้องมอบแปลงให้กับเกษตรกร และในปี 3 ถือเป็นปีสุดท้ายของการส่งเสริม จะเน้นในเรื่องของการทำแผนธุรกิจ ซึ่งในแปลงใหญ่ ทุเรียน จังหวัดจันทบุรี ถือว่าประสบความสำเร็จ นอกจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่องของการบริหารจัดการ ต้นทุน ผลผลิต และพัฒนาคุณภาพ ยังมีเรื่องของเงินทุนที่จะสนับสนุนหากเกษตรกรต้องการ แต่ในแปลงใหญ่ทุเรียน จังหวัดจันทบุรีนี้ เกษตรกร ไม่ขอรับการสนับสนุนเงินกู้ แต่ใช้เงินของเจ้าของแปลง ในการทำห้องเย็น พัฒนาเครื่องมือเพื่อแปรรูป ทำล้งเพื่อรวบรวมผลผลิต  ส่งผลให้สมาชิกแปลงใหญ่ หรือเกษตรกร สามารถขายสินค้าหรือทุเรียนได้ในราคาเพิ่มขึ้น เมื่อมีการรวบคุมผลผลิต ส่งผลต่อการต่อรองกับผู้ซื้อได้”

นายอุดม วรัญญูรัฐ อายุ 58 ปี เจ้าของสวนอุดมทรัพย์ ในฐานะผู้จัดการแปลงใหญ่ทุเรียน จ.จันทบุรี กล่าวว่า แปลงใหญ่ทุเรียน จันทบุรี ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง หลังเข้าร่วมโครงการส่งเสริมของภาครัฐ เพราะหากเทียบรายได้ปีต่อปีหลังเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนมีรายได้เพิ่มขึ้นในปี 2561 ประมาณ 20%  ขณะที่การส่งเสริมแปลงใหญ่ เป็นสิ่งที่เกษตรกรร่วมกันเพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลง และภาครัฐ ได้เข้ามาสนับสนุนทางด้านวิชาการ เช่น การลดการใช้ปุ๋ยโดยกรมพัฒนาที่ดินได้ให้คำแนะนำในเรื่องของการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมโครงการ เกษตรกรต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างซื้อทำให้ต้นทุนสูง แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ ก็รวมกันซื้อต้นทุนการซื้อปัจจัยการผลิตก็จะถูกลง

สำหรับจุดแข็งของทุเรียนจันทบุรี คือเรื่องของคุณภาพ โดยเข้มงวดในเรื่องของการห้ามนำทุเรียนที่ด้อยคุณภาพมาขาย เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม จากแนวคิดและการวางแผนตั้งแต่ก่อนการผลิต จนถึงช่องทางการทำตลาด เมื่อทุเรียนออกผล มีการคัดเกรดทุเรียนแก่ที่มีความอร่อย ผู้บริโภคทั้งจีนและไต้หวันต่างชื่นชอบ ผลผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น จากปกติ ส่งออก 70% ของผลผลิตเพิ่มเป็นส่งออกได้ 80% ของผลผลิต นำมาซึ่งรายได้ของเกษตรกรชาวสวนทุเรียน จันทบุรีเพิ่มขึ้น