สมพร วรรณเถิน ปั้นแบรนด์ “KHON MUANG” แปรรูปผลไม้อบแห้งส่งออก

จากปัญหาผลไม้ในแต่ละฤดูกาลล้นตลาด จนทำให้ราคาตกต่ำ เกษตรกรหลายรายต่างหาแนวทางการปรับตัวเพื่อให้ผลผลิตของตนได้ราคาสูงขึ้น ทั้งการเร่งผลผลิตนอกฤดู การทำเป็นผลไม้กระป๋องบ้าง ถึงกระนั้นการแข่งขันทางด้านการตลาดมีมากขึ้นตามมา “สมพร วรรณเถิน” หรือ “แม่สมพร” วัย 52 ปี เกษตรกรใจสู้ จาก “ดอยหล่อ” เมืองเชียงใหม่ ประสบกับปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน และได้หันมาแปรรูปผลผลิตให้เป็นผลไม้อบแห้งออกสู่ตลาด โดยเฉพาะ ลำไย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นผลไม้อีกหนึ่งชนิดที่ราคาตกต่ำในทุกปีของฤดูผลผลิต

“แม่สมพร” ให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แต่เดิมตนทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มากว่า 12 ปี เป็นหัวหน้าฝ่ายผลิตอาหารเกี่ยวกับการแปรรูปเห็ด และการเพาะเห็ดขาย เคยทดลองทำน้ำกระเจี๊ยบกระป๋อง ทำให้พอมีความรู้เกี่ยวกับการอบแห้งผักผลไม้อยู่บ้าง กระทั่งเมื่อหลายปีก่อนลำไยล้นตลาด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นบ้านเกิดและเป็นแหล่งปลูกลำไย เกษตรกรไม่สามารถขายลำไยได้เลย ตนจึงลาออกจากงานที่ทำ แล้วนำความรู้มารวมกลุ่มกันตั้งสหกรณ์ ทำลำไยกระป๋องช่วยชาวบ้าน

หลังจากนั้นไม่นานก็มีมะเขือเทศจำนวนมากจากเกษตรกรในพื้นที่ออกมาวางจำหน่าย เป็นพันธุ์ของท้องถิ่นที่ชาวบ้านส่งขายในภาคอีสาน และมักจะนำมาทำน้ำพริกอ่อง น้ำเงี้ยว ชื่อว่า พันธุ์อีเป๋อ ซึ่งมีมากจนล้นตลาด กิโลกรัมละ 1 บาท ยังขายไม่ได้ จึงรวมกลุ่มแม่บ้าน ทำมะเขือเทศแช่อิ่มแล้วนำมาอบแห้งขาย จนกลายเป็นผู้ผลิตมะเขือเทศแช่อิ่มอบแห้งรายใหญ่ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่ ถัดมาเป็นมะม่วงสุกที่ได้นำมาแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้ง เพราะเกษตรกรขายได้ในราคาที่ถูกมาก เนื่องจากมีมะม่วงจากจีนเข้ามาตีตลาดและคนเริ่มหันมาปลูกมากขึ้น แม้รสชาติจะสู้มะม่วงพันธุ์ไทยไม่ได้ก็ตาม

“พอตั้งเป็นสหกรณ์ได้ประมาณ 5 ปี ก็ประสบปัญหา เราจึงไปขึ้นตรงกับสหกรณ์การเกษตรของดอยหล่อ พอมีสหกรณ์ในหมู่บ้านอีก เราเลยมารวมกันแล้วไปจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย พอมาตอนหลังเราเลิกทำลำไยกระป๋อง เพราะสู้บริษัทใหญ่ๆ ไม่ได้ อีกทั้งห้างสรรพสินค้าที่เคยผลิตส่งให้ อย่าง ห้างคาร์ฟูร์ ก็กลายไปเป็นห้างบิ๊กซี ทำให้เราไม่มีตลาดขาย เลยหันมาทำเป็นลำไยอบแห้งสีทองแทน ทำให้มีการแปรรูปผลไม้อบแห้งอยู่ 3 ชนิด คือ ลำไย มะเขือเทศ และมะม่วง ในนามวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรวังธารทอง ต.ดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ โดยใช้ชื่อแบรนด์คนเมือง “KHON MUANG” มาเป็นเครื่องหมายทางการค้า จนประสบความสำเร็จ ได้รับมาตรฐานจากหลายหน่วยงาน”

“แม่สมพร” บอกว่า จากที่เริ่มทำผลไม้อบแห้งมาจนถึงปัจจุบัน รวมกว่า 12 ปี ที่ขายดีที่สุดของกลุ่มคือลำไย ถัดมาเป็นมะเขือเทศ และมะม่วง โดยลำไยอบแห้งจะทำเฉพาะในฤดูผลผลิตออกและทำตามออร์เดอร์เท่านั้น เป็นลำไยมาจากดอยหล่อทั้งหมดนับได้เป็นพันไร่ คัดเฉพาะลูกใหญ่เกรด 2A จะคว้านเมล็ดด้วยมือออกก่อนอบแห้ง หรือทำการอบทั้งเปลือกในเวลานานกว่า 72 ชั่วโมง ทำให้ผลผลิตที่ได้มีราคาสูงแต่คงคุณภาพไว้ได้อย่างดีเยี่ยม รสชาติจะแตกต่างจากคู่แข่งที่ทำนอกฤดูหรือนำลูกเล็กมาอบ ซึ่งใช้เวลาในการผลิตน้อยกว่า และนอกจากผลิตขายเอง ยังรับจ้างผลิต (OEM) ด้วย

ด้านการส่งออกสินค้า เริ่มมาจากการไปออกงานอีเวนต์ และการออกบู๊ธตามงานต่างๆ อาทิ งานโอท็อป งานของกระทรวงพาณิชย์ ทำให้มีโอกาสส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยมีนักธุรกิจสนใจหรือเข้ามาติดต่อ โดยเฉพาะลำไยอบแห้ง ส่งออกทั้งจีน ไต้หวัน เมียนมา สปป. ลาว

“จีนสั่งซื้อลำไยอบแห้งจากเรา ประมาณ 5 หมื่นกิโลกรัม ต่อปี ไต้หวัน ประมาณ 3 ตัน ต่อปี เมียนมาเพิ่งเริ่มสั่งซื้อจากเราในปีนี้เป็นปีแรก กำลังวางแผนการตลาดกันอยู่ สุดท้าย สปป. ลาว ที่เราเพิ่งจะเริ่มเข้าไปเช่นเดียวกัน และเราเองต้องขอใบรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นภาษาอังกฤษด้วย เพื่อเพิ่มตลาดส่งออกต่อไป ควบคู่ไปกับการสนับสนุนส่งเสริมการทำผลไม้อบแห้งในต่างหมู่บ้านเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อออเดอร์เริ่มมากขึ้น ลำพังเพียงวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเดียวผลิตไม่ทัน แต่เราต้องส่งเสริมภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อคงคุณภาพไว้”

ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกผลไม้อบแห้งที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรวังธารทองมีประมาณ 80% ขายในประเทศไทยตามงานออกบู๊ธต่างๆ และส่งขายตามห้างสรรพสินค้า

มีเพียง 20% ส่วนใหญ่เป็นลำไยอบแห้งและมะเขือเทศแช่อิ่มอบแห้ง ขณะที่มะม่วงอบแห้งขายได้ในสัดส่วนที่น้อยมาก ประมาณการลำไยอบแห้ง ขายได้ 5 ล้านบาท/ปี มะเขือเทศแช่อิ่มอบแห้ง 1 ล้านบาท/ปี มะม่วงอบแห้งอยู่ในหลักแสนบาท/ปี แต่ถึงกระนั้นรายได้ตามตัวเลขไม่อาจจะนับได้เฉลี่ยแน่นอนเท่าไรนัก ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจด้วย แต่โดยภาพรวมธุรกิจของกลุ่มมีการเติบโตขึ้น 20-30% ต่อปี และการแปรรูปผลไม้ทั้ง 3 ชนิด ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรวังธารทอง จ.เชียงใหม่ คืออีกหนึ่งทางที่จะแก้วิกฤตราคาผลไม้ตกต่ำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และสามารถสร้างแบรนด์ของวิสาหกิจชุมชนไปสู่ตลาดโลกได้