ทช.หวั่นขยะ – เครื่องมือประมง ตัวเร่งทำ “สัตว์ทะเล” สูญพันธุ์

ลูก “โลมาหัวบาตรหลังเรียบ” เกยตื้นหาดบ้านตาหนึก สภาพอ่อนแรง ชาวบ้านแจ้งเจ้าหน้าที่เข้าช่วย นำไปอนุบาลที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลฯ อธิบดี ทช.เผยขยะ-เครื่องมือประมง ตัวการทำสูญพันธุ์

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทช.ได้รับแจ้งจากเครือข่ายช่วยชีวิต จังหวัดตราด ว่า พบโลมามีชีวิตเกยตื้นบริเวณชายหาดบ้านตาหนึก ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด จึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (สบทช.1)

กลุ่มสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เข้าตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเป็นลูกโลมาหัวบาตรหลังเรียบ ยาว 54 เซนติเมตร ระบุเพศไม่ได้ อายุไม่เกิน 1 เดือน น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม สภาพค่อนข้างผอม อ่อนแรงจนว่ายน้ำและลอยตัวไม่ได้ เบื้องต้นมีการให้นมไขมันสูง

พยุงตัวลูกโลมาไม่ให้จมน้ำ มีสัตวแพทย์และทีมงานดูแลอย่างใกล้ชิด ล่าสุดศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้เข้าช่วยเหลือและนำไปรักษาที่สถานอนุบาลแล้ว หากแข็งแรงและว่ายน้ำได้ดีจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติต่อไป

นายจตุพร กล่าวถึงสถานการณ์ท้องทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันว่า แม้จะยังสวยงาม แต่กำลังเข้าสู่สภาพวิกฤตที่ส่งผลต่อสัตว์ทะเลสำคัญต่างๆ เพราะลดจำนวนลงมากและอาจจะสูญพันธุ์ในอนาคต ทั้งนี้ การเกยตื้นของโลมาและวาฬส่วนใหญ่เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ส่วนการเกยตื้นของเต่าทะเลและพะยูน เกิดจากเครื่องมือประมง อีกทั้งยังพบว่าการกลืนกินขยะก็เป็นปัญหากับสัตว์ทะเลเช่นกัน

นายภุชงค์ สฤษฎีชัยกุล ผู้อำนวยการ สบทช.1 กล่าวว่าโลมาหัวบาตรหลังเรียบมีรูปร่างคล้ายกับ      โลมาอิรวดี แต่ขนาดเล็กกว่า ลำตัวโตเต็มวัย ยาว 1.9 เมตร ลูกแรกเกิด ยาว 70-80 เซนติเมตร

ไม่มีจะงอยปาก ครีบค่อนข้างใหญ่ปลายแหลม หลังสีน้ำเงินเทาและท้องสีขาว ครึ่งหนึ่งของประชากรมี ตาสีแดง ปลายฟันแบนคล้ายใบพาย ไม่มีครีบหลัง แต่มีตุ่ม เป็นแนวสองแนวบริเวณตำแหน่งของกลางหลัง หากินบริเวณชายฝั่งในเขตน้ำตื้น หรือตามแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีทางต่อลงทะเลในเขตอินโดแปซิฟิก   มีอาหารเป็นปลาขนาดเล็ก กุ้ง และหมึก มักอยู่โดดเดี่ยวหรือฝูงขนาดเล็กประมาณ 10 ตัว ในบริเวณที่มีแหล่งอาหารสมบูรณ์ ในน่านน้ำไทยสามารถเห็นได้ทุกจังหวัดที่ติดกับทะเล โดยพบมากที่สุดในอ่าวไทยแถบจังหวัดตราด

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน