ยก “กุยบุรี” ต้นแบบแก้ขัดแย้งคน-ช้างป่า ที่ประชุมกก.มรดกโลกหนุนขยายผล “โคกกระชาย” ระดมกำลังเฝ้าระวังไร่

วันเดียวกัน นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะประธานมูลนิธิช้างป่า…บ้านพ่อ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญที่ประเทศเยอรมัน มีการนำเสนอกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันต์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี แต่ล่าสุดยังไม่มีการขึ้นทะเบียน ขณะที่คณะกรรมการมรดกโลกยกย่องการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและชุมชนใน อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกันแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า และขอให้ขยายงานศึกษาวิจัย การติดตามความสมบูรณ์ของนิเวศวิทยา เพื่อสนับสนุนให้ดำเนินการให้ต่อเนื่อง

“มูลนิธิร่วมกับอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี จัดโครงการ “ปันน้ำใจให้ช้างป่า” ที่โป่งสลัดได เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2561 และอนุรักษ์คุ้มครองสัตว์ป่า โดยกำจัดวัชพืช สร้างแปลงหญ้าอาหารสัตว์ ปลูกพืชอาหารช้าง ทำโป่งเทียม ทำความสะอาด และเติมน้ำในกระทะน้ำ ให้ช้างและสัตว์ป่ามีแหล่งอาหารและแหล่งน้ำ ไม่ให้ช้างออกจากป่ามาหาอาหารกิน ซึ่งสร้างปัญหาความขัดแย้งกับคน”

นายสำราญ เศษกระโทก ผู้ใหญ่บ้านทุ่งตะเคียน หมู่ที่ 10 ตำบลโคกกระชาย อ.เภอรบุรี จังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายกรณีช้างป่าบุกทำลายผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่มานานเกือบ 1 สัปดาห์จนได้รับความเสียหายจำนวนมาก เบื้องต้นพบพื้นที่เกษตร อาทิ ไร่แตงกวา ไร่ถั่วฝักยาว และสวนกล้วย ได้รับความเสียหายกว่า 10 แปลง มีสภาพถูกช้างป่าเกือบ 10 ตัวจากอุทยานแห่งชาติทับลาน เขต อ.ครบุรี บุกเหยียบย่ำกัดกินผลผลิตเสียหายนับสิบไร่ ทำให้เกษตรกรต้องระดมกำลังมานอนเฝ้าไร่สวนตลอดทั้งวันทั้งคืน

ขณะเดียวกันหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเตรียมขอความร่วมมืออาสาสมัครชาวบ้านในชุมชน ผู้นำ   ท้องถิ่น ระดมกำลังช่วยกันเฝ้าระวัง และผลักดันช้างป่าออกจากพื้นที่เกษตรเป็นการเร่งด่วน เนื่องจากหากปล่อยทิ้งไว้ผลผลิตของชาวบ้านอาจถูกทำลายเสียหายมากไปกว่านี้

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน