รื้อระบบบริหารจัดการน้ำ

บทบรรณาธิการ

ข่าวน้ำทะลักเขื่อน น้ำท่วมตลิ่งทั้งในภาคอีสาน ตะวันออก และใต้ แม้ไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤตเหมือนอุทกภัย ปี 2554 แต่สภาพภูมิอากาศทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไปวิเคราะห์คาดการณ์ได้ยากขึ้น บวกกับปริมาณฝนที่ตกหนักและต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนต่างวิตกกังวลว่าจะเกิดผลกระทบตามมา

ล่าสุด 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต สถานการณ์แม่น้ำเพชรบุรี ออกประกาศด่วนให้ประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อนแก่งกระจาน รวม 5 อำเภอ เฝ้าระวัง พร้อมเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำที่ล้นทางระบายน้ำ และกำลังเคลื่อนตัวเข้าตัวเมืองเพชรบุรีลงสู่อ่าวไทย

ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วม 10 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ จังหวัดยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครพนม สกลนคร หนองคาย มุกดาหาร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ มีทั้งลดลง ทรงตัว และเพิ่มขึ้น ส่วนภาคกลางอีก 2 จังหวัด คือ กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ยังต้องเฝ้าระวังจากการพร่องน้ำออกจากเขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนปราณบุรี

แม้ก่อนน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นจังหวัด กรมชลประทาน จะส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่พิจารณาในแง่การบริหารจัดการ อาจกล่าวได้ว่าส่วนราชการยังทำงานในลักษณะมุ่งแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แทนที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบก่อนภัยจะมาถึง

โดยนำประสบการณ์ช่วงวิกฤตอุทกภัย ปี 2554 มาปรับใช้ พร้อมถอดบทเรียนสถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จัดทำมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้น ควบคู่กับเดินหน้าแผนระยะกลาง และระยะยาว แก้น้ำท่วมซ้ำซากได้แบบถาวร

เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ภายใต้สถานการณ์ที่สภาพภูมิอากาศทั่วโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ผลพวงจากภาวะโลกร้อน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ความเสี่ยงภัยจากธรรมชาติทั้งน้ำท่วม ความแห้งแล้ง ร้อนจัด หนาวจัดในหลายประเทศทั่วโลกยิ่งเกิดขึ้นรุนแรงและบ่อยครั้งกว่าอดีต การบริหารจัดการเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหา กับการเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตฉุกเฉินจึงไม่ควรใช้วิธีการเดิม ๆ จำต้องปรับเปลี่ยนใหม่

ขณะเดียวกัน นอกเหนือจากหน่วยงานระดับนโยบายอย่างคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ซึ่งทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศแล้ว หน่วยงานราชการในพื้นที่ทุกกระทรวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องร่วมกันทำงานในลักษณะบูรณาการทั้งในเชิงรุกและรับอย่างเต็มกำลังความสามารถ ลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน พื้นที่เกษตร แหล่งเศรษฐกิจการค้าให้น้อยลงมากที่สุด