ณรงค์ ตนานุวัฒน์ ลาวเฮมพ์-กัญชงฝีมือไทย

ณรงค์ ตนานุวัฒน์ เป็นนักธุรกิจชาวเชียงใหม่ บริหารกิจการของครอบครัวเจริญรุ่งเรืองดีทั้งบริษัทผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ ศูนย์การค้าขนาดกลาง จนต่อมาก็ไปลงทุนทำร้านอาหารใหญ่โตที่เมืองลาว ขายดิบขายดี และมีความสุขกับการทำธุรกิจในลาวจนคิดอยากทำธุรกิจอื่นอีก

ขณะเดียวกันเจ้าตัวเป็นกรรมการในสถาบันการศึกษาหลายแห่งในภาคเหนือ ทำให้ได้พบครูบาอาจารย์จำนวนมาก และมีโอกาสศึกษาทดลองปลูกกัญชงในพื้นที่สูง ได้พบเห็นว่ากัญชงนั้นมีประโยชน์เพียงใด

“เขาพาไปดูชาวม้งปลูกและแปรรูปกัญชง เห็นเขาลอกเปลือกกัญชงไปทำสิ่งทอ แต่เอาแก่นมาเผาทิ้ง เห็นเรารันทด เลยใช้เงินส่วนตัวร่วมกับทุนของ สวทช. มาวิจัยว่า จะเอาแก่นมาทำอะไรได้บ้าง จนออกมาเป็นแผ่นอัดที่สามารถทำเป็นพาร์ติเคิลบอร์ดหรือเฟอร์นิเจอร์ได้อย่างดี”

จากนั้นเจ้าตัวยังได้ติดสอยห้อยตามนักวิชาการไปประชุมเฮมพ์หรือกัญชงโลกที่เยอรมนี และพบว่า กัญชง หรือเฮมพ์ นี้เป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกกันอยู่ทุกมุมโลก และประเทศส่วนใหญ่ประกาศให้เป็นพืชถูกกฎหมาย นอกจากบางประเทศรวมทั้งไทยที่ยังรวมเอากัญชงนี้เข้าไปอยู่ในหมวดเดียวกันกับกัญชา และจัดเป็นพืชเสพติดผิดกฎหมาย ทำให้เสียประโยชน์จากพืชเศรษฐกิจนี้อย่างมาก

แต่หลังจากรู้ถึงประโยชน์มหาศาล คือตั้งแต่เมล็ดยันเปลือก ณรงค์ ก็แสวงหาที่ดินที่จะปลูกกัญชงนี้เชิงเศรษฐกิจ และก็ไปเจอที่ดินมหาศาลบนภูเขาควาย นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ที่ตัวเองทำธุรกิจอยู่แล้ว

จึงขอเช่าที่ดินบนภูเขาควาย 400 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี เพื่อปลูกและทำวิจัยกัญชง ส่งออกจำหน่ายตลาดโลก จดทะเบียนบริษัท ลาวเฮมพ์ จำกัด เริ่มลงมือเมื่อ 2 ปีก่อน ปลูกแล้วราว 200 ไร่

นอกจากปลูกที่ภูเขาควายแล้ว ยังจะส่งเสริมให้ชาวลาวปลูกทั่ว 17 แขวง และ 1 เขตเศรษฐกิจ ลาวมีชาวเขาอยู่มาก คุ้นเคยกับกัญชงเป็นอย่างดี ตอนนี้ก็มีปลูกกันบ้างแล้วทางตอนเหนือคือ แขวงหัวพัน

พืชสารพัดประโยชน์เรื่องไม่มาก

“กัญชง ทำให้ได้เกือบทุกอย่าง เส้นใยเหนียวมาก ทำเชือก ทำสิ่งทอได้ทุกอย่าง เมล็ดทำเครื่องสำอาง เครื่องตกแต่ง หมวก รองเท้า ใช้ได้ทุกส่วน เมล็ดใช้ทำยาและอาหารเสริม แกนทำกระดาษ วัสดุก่อสร้าง เป็นไบโอไฟเบอร์คุณภาพสูง ไม่ต้องพึ่งพาเคมี”

ขั้นตอนการทำฟาร์มกัญชง ไม่มีอะไรมากไปกว่าปลูก เก็บเกี่ยว ลอกเปลือก แช่ ล้าง ปั่น ถักทอ แต่ก็ใช่ว่าจะง่าย “ปีแรกปลูกแล้วตายหมด ต้องทำไปเรียนรู้ไป น้ำที่เขาควายดี แต่ดินยังต้องปรับปรุงให้เหมาะกับกัญชง

เอกสารจากสำนักพัฒนาพื้นที่สูงของไทย ลองเปรียบเทียบปริมาณเส้นใย ระหว่างกัญชงกับฝ้าย ในระยะเวลา 1 ปี เท่ากัน พบว่า ปลูกกัญชง 10 ไร่ ให้เส้นใยเท่ากับฝ้าย 20-30 ไร่ เส้นใยกัญชงมีคุณภาพดีกว่าเส้นใยจากฝ้าย เส้นใยกัญชงยาวเป็น 2 เท่า ของเส้นใยฝ้าย มีความแข็งแรงและความนิ่มกว่าฝ้าย ปัจจุบันมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกัญชง 100% เช่น เสื้อเชิ้ต กางเกง กระเป๋า

ในด้านเทคนิคการเพาะปลูก เมื่อเทียบกับฝ้าย ฝ้ายต้องการอุณหภูมิที่เหมาะสมและน้ำมากกว่าการปลูกกัญชง ฝ้ายยังต้องการสารกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูง ซึ่งนักเกษตรพบว่า ประมาณ 20% ของสาร กำจัดศัตรูพืชที่ใช้อยู่ในโลกถูกใช้ในการเพาะปลูกฝ้าย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมในขณะที่การปลูกกัญชงไม่จำเป็นต้องใช้สารกำจัดศัตรูพืช จะใช้เพียงปุ๋ยและน้ำในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่าการปลูกกัญชงยังเป็นการช่วยปรับปรุงคุณภาพของดินที่ใช้เพาะปลูกอีกด้วย

การปลูกกัญชงเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำกระดาษ จะเป็นตัวอย่างด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมชัดเจน พืชที่ใช้ทำกระดาษคุณภาพดี อาทิ สน ยูคาลิปตัส และปอกระสา ล้วนเป็นพืชยืนต้น การเจริญเติบโตช้ามากเมื่อเทียบกับกัญชง กว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ต้องปลูกเป็นลักษณะสวนป่า ใช้เวลานานหลายปี ปอกระสาประมาณไม่น้อยกว่า 3 ปี ยูคาลิปตัสและสน ประมาณ 6-8 ปี การปลูก ก็ต้องใช้พื้นที่มาก และเมื่อตัดไม้แล้ว จะฟื้นคืนคุณภาพพื้นที่ได้ยาก ปลูกซ้ำได้ไม่กี่ครั้ง เพราะจะมีเหง้าและตออยู่ทำให้ดูเป็นลักษณะทำลายสิ่งแวดล้อม

ส่วนกัญชงจะสามารถปลูกซ้ำในพื้นที่เดิมได้โดยต่อเนื่อง ไม่ต้องการมีการดูแลรักษา หรือจัดการพื้นที่มาก ตลอดจนการเก็บผลผลิต และค่าใช้จ่ายในการแปรรูป และการขนส่งต่างๆ ก็สะดวกมาก นอกจากนี้ ยังสามารถดำเนินการได้ โดยกลุ่มชาวบ้านทั่วๆ ไป ในการทำเป็นเชิงธุรกิจ ค่าใช้จ่ายในการลงทุนและกำไรจึงจะต่างกันเป็นจำนวนมหาศาล

เมล็ดกัญชงจะประกอบไปด้วยโปรตีน ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าโปรตีน จากถั่วเหลือง มีปริมาณเส้นใยสูงและยังมีราคาที่ถูกกว่า น้ำมันในเมล็ดกัญชงยังให้กรดไขมัน Omega-3  ซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีอยู่ในน้ำมันจากปลา และกัญชงเท่านั้น

ผู้ร้ายในอดีต

อเมริกามีกฎหมายห้ามปลูกเฮมพ์ตั้งแต่หลังสงครามโลก  เพราะมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้ามา มีไนลอนเกิดขึ้น รัฐบาลอยากรักษาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่กำลังจะเป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศษฐกิจ จึงบอกว่าเฮมพ์ผิดกฎหมาย หลายประเทศ รวมทั้งไทยและญี่ปุ่นเลยบอกว่า ผิดกฎหมายไปด้วย แต่ปัจจุบัน 22 ใน 28 มลรัฐของอเมริกา ประกาศให้เฮมพ์ถูกกฎหมายแล้ว

เส้นใยกัญชงนั้นเหนียวถึงขั้นว่ามีคนเอาไปทำเสื้อกันกระสุน และตอนนี้เอาไปทำส่วนประกอบรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่กำลังเห่ออีโคโปรดักท์อีโคคาร์กันจ้าละหวั่น เครื่องสำอางบอดี้ช็อปที่ประกาศตนเป็นเครื่องสำอางธรรมชาติ มีน้ำยาล้างมือทำจากเฮมพ์

นักประวัติศาสตร์ค้นพบว่า เมื่อ 3 พันปีก่อน เสื้อของฮ่องเต้จีนทำจากใยกัญชง แม้แต่ใบเรือของเจิ้นเหอ ซึ่งออกเดินทางรอบโลกครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 1964 ก็ทำจากใยกัญชง

ในอนาคตทรัพยากรพืชของประเทศจะขาดแคลนมากขึ้น พืชเส้นใยและเยื่อกระดาษ จะเป็นอีกวัตถุดิบหนึ่งที่ประเทศไทยจะมีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างมาก และจะขาดแคลน ทุกวันนี้เราก็สั่งซื้อเยื่อกระดาษจากต่างประเทศ คือ จีน และแคนาดา หลายพันล้านบาทต่อปี

กัญชงจะเป็นพืชหลักอีกชนิดหนึ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และจะสามารถทำรายได้ให้กับประเทศ อย่างมหาศาล เพราะเป็นพืชที่มีอายุสั้น ปลูกได้หลายครั้งต่อปี ใช้ทุนน้อยและไม่ต้องมีการดูแล รักษามาก ไม่ต้องการดินดีและพื้นที่กว้างมาก อีกทั้งยังเป็นพืชที่สามารถปลูกซ้ำได้ในพื้นที่เดิม จึงจะช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าและรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ได้อีกส่วนหนึ่งด้วย

ก็หวังว่า ประเทศไทย จะรีบขยับเสียที