น้ำมันดาวอินคา ของคนลพบุรี เรียนรู้จากวิกฤต สร้างตลาดได้

ถั่วดาวอินคา ถูกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยนับสิบปีแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากไม่ทราบวิธีการบริโภค ต่อมามีความรู้เพิ่มขึ้น การปลูกดาวอินคาเริ่มกระเตื้องขึ้น แท้จริงถั่วดาวอินคาเป็นพืชท้องถิ่นของประเทศแถบอเมริกาใต้ ต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วโลก เนื่องจากตามประวัติศาสตร์พบว่า ชาวอินคาได้ใช้ประโยชน์จากถั่วชนิดนี้อย่างแพร่หลาย จึงเรียกถั่วนี้ว่า ถั่วดาวอินคา

ผลิตภัณฑ์น้ำมันดาวอินคา

เมื่อ 2-3 ปีก่อน ผู้เขียนเคยได้รับการติดต่อจากเพื่อนฝูงอีกทีให้ทำสกู๊ปข่าวเรื่อง ถั่วดาวอินขาย และได้มีโอกาสสื่อสารทางโทรศัพท์กับผู้ที่จะทำหน้าที่ส่งเสริมมีสองคนเป็นสามีภรรยากัน และอ้างว่าสามีเป็นอดีตอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับเกษตรแห่งหนึ่งทางภาคเหนือโดยนัดแนะให้ผู้เขียนไปฟังการบรรยายในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี จากการพูดคุยผู้เขียนพบพิรุธหลายอย่างจึงทำให้ผู้เขียนยกเลิกการเขียนเรื่องนี้ ทราบข่าวอีกครั้งกับเพื่อนฝูงที่ติดต่อมาว่าสองสามีภรรยานี้มาซื้อเมล็ดดาวอินคากับเขาในราคากิโลกรัมละหลายร้อยบาท สามสี่ครั้ง ต่อมาครั้งสุดท้ายเอาเมล็ดพันธุ์ไปแล้วก็ไม่ยอมจ่ายเงินและติดต่อไม่ได้อีก ในช่วงนั้นยังมีผลผลิตอีกชนิดหนึ่งที่รับซื้อเมล็ดพันธุ์ไปจากเพื่อนคือ หมามุ่ยอินเดีย

ผลอ่อน

ผู้เขียนได้มีโอกาสเขียนเรื่องหมามุ่ยอินเดียในแง่ของความรู้เรื่องการปลูก โดยองค์ความรู้ของนักวิชาการท่านหนึ่งในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ไม่ได้ส่งเสริมให้ปลูกเพียงแต่ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องนี้ให้เท่านั้น ส่วนเรื่องถั่วดาวอินคาไม่ได้เขียน แต่สองสามีภรรยาที่ว่านั้นได้ทำการส่งเสริมการปลูกถั่วดาวอินคาในนามสถาบันเกษตรอินทรีย์เพื่อการส่งออก หรืออะไรสักอย่างทำนองนี้ ต่อมามีข่าวคราวเรื่องเกษตรกรแถบจังหวัดชัยภูมิร้องเรียนผู้ว่าฯ เรื่องมีเอกชนรายนี้ส่งเสริมให้ปลูกโดยการซื้อเมล็ดพันธุ์ดาวอินคาและหมามุ่ยอินเดียในราคาสูง แล้วสัญญาจะรับซื้อ เมื่อมีผลผลิตออกมาคนที่ส่งเสริมก็หายสาบสูญไป ทำให้เกษตรกรเดือดร้อนกันหลายสิบครอบครัว นี่คือความทรงจำเกี่ยวกับถั่วดาวอินคาของผู้เขียนในอดีต

เมื่อเร็วๆ นี้ได้เจอ คุณศิริพร พึมขุนทด เกษตรกรตัวจริงที่ปลูกถั่วดาวอินคาถึงขนาดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งอยู่ที่หมู่ที่ 2 ตำบลกุดตาเพชร อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี โทรศัพท์ (090) 801-8733 จากการสนทนาจึงรู้ว่า เกษตรกรกลุ่มตำบลนี้น่าจะเป็นเหยื่อของการหลอกหลวงของมิจฉาชีพรายนั้น

ผลแก่

คุณศิริพร เล่าว่า เมื่อปี 2558 พ่อกับแม่ซึ่งมีอาชีพเกษตรกรอยู่แล้วได้รับการชักนำให้ไปอบรมการปลูกต้นถั่วดาวอินคาโดยเอกชนรายหนึ่ง ทางครอบครัวนี้เห็นว่าการปลูกถั่วดาวอินคาเป็นเรื่องไม่ยากและมีการรับซื้อผลผลิตที่แน่นอนด้วยราคาค่อนข้างสูง จึงทำสัญญากับเอกชนรายนั้นด้วยเงื่อนไขการซื้อต้นพันธุ์ต้นละ 60 บาท 1 ไร่ ใช้ต้นพันธุ์ 300 ต้น ทั้งหมดใช้พื้นที่ 7 ไร่ ส่วนเอกชนจะรับซื้อเมล็ดถั่วดาวอินคาพร้อมเปลือกในราคากิโลกรัมละ 40 บาท หรือเมล็ดที่กะเทาะแล้วในราคากิโลกรัมละ 60 บาท ด้วยเงินลงทุนจากหยาดเหงื่อแรงงานที่ครอบครัวสะสมมาประมาณ 700,000 บาท

เมื่อปลูกได้ 7-8 เดือน ถั่วดาวอินคาก็เริ่มให้ผลผลิต รอตากให้แห้งอีกระยะหนึ่งก็สามารถขายเมล็ดถั่วดาวอินคาล็อตแรกไปได้ 16,000 บาท ด้วยจำนวนถั่วดาวอินคา 400 กิโลกรัม อีกเดือนต่อมาก็มีผลผลิตอีกแต่ผู้ซื้อติว่าถั่วไม่ได้คุณภาพ ปนเปื้อนสารเคมี น้ำมันโอเมก้าที่ได้ไม่ได้มาตรฐาน แปลงเกษตรกรไม่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ จึงกดราคารับซื้อเหลือแค่กิโลกรัมละ 20 บาท แต่เกษตรกรจำต้องขายเพราะถั่วดาวอินคาสมัยนั้นไม่รู้จะไปขายใคร พอรอบที่สามก็ไม่สามารถติดต่อเอกชนรายนั้นได้อีก สรุปแล้วชาวบ้านกุดตาเพชรและเขาอีรวก ของอำเภอลำสนธิก็โดนลอยแพ พร้อมกับครอบครัวคุณศิริพร

ผลสุก

วิฤกตคือโอกาส

คุณศิริพรจึงหาความรู้จากแหล่งต่างๆ ทำให้รู้ว่าถั่วดาวอินคามีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายจึงคิดจะแปรรูปในขั้นต้นก็เอาใบถั่วดาวอินคามาทำชาและนำเมล็ดมาคั่วบรรจุถุงจำหน่ายตามตลาดนัดใกล้บ้าน ซึ่งได้รับการตอบรับพอสมควร แต่ผลผลิตที่มีอยู่จำนวนมากไม่สามารถระบายออกได้เพียงเฉพาะตลาดนัดใกล้บ้านซึ่งมีคนจำนวนน้อยได้ จึงปรึกษากับหน่วยงานเกษตรต่างๆ ได้จัดซื้อเครื่องกะเทาะเปลือก เครื่องอบแห้ง เครื่องบรรจุ และเครื่องสกัดน้ำมัน เพิ่มเข้ามาเพื่อการแปรรูปให้ได้มาตรฐานกว่าเดิม

ดอกดาวอินคา

ช่วงนั้นพอดีคุณศิริพรซึ่งจบการศึกษาด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว ระดับปริญญาตรี จากจังหวัดนครราชสีมา ได้ไปทำงานโรงแรมที่จังหวัดภูเก็ต โดยทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน หยุด 2 วัน ในช่วงเวลาว่างหลังเลิกงานจึงโพสต์ ขายสินค้าซึ่งตอนแรกเริ่มมีแค่ ชาถั่วดาวอินคาและเมล็ดถั่วดาวอินคาคั่ว ลงในโซเชียล และมีการจัดส่งถึงบ้านเฉพาะในตัวเมืองภูเก็ตซึ่งมีรัศมีการเดินทางไม่ไกลนัก ด้วยเทรนด์ของสุขภาพที่มาแรงและคุณสมบัติที่มีในถั่วดาวอินคาทำให้มีการตอบรับผลผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้คุณศิริพรต้องลาออกจากงานโรงแรมที่มุ่งมั่นไปเรียนจนจบปริญญาตรี โดดมาทำการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพของถั่วดาวอินคาอย่างเต็มตัว ซึ่งแท้จริงแล้วพบว่าตัวเองรักงานเรื่องเกษตรมากกว่า

ด้วยการพัฒนาที่ต่อเนื่องได้รับความช่วยเหลือเรื่องแนวคิดจากส่วนงานราชการหลายหน่วยงานทำให้ครอบครัวเกษตรกรธรรมดาพัฒนาไปถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตรขนาดเล็กในครัวเรือน ได้เข้าการแข่งขันผลิตภัณฑ์และได้รางวัลเป็นอันดับ 16 ของประเทศจากกรมพัฒนาชุมชนเมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา และกำลังก่อสร้างอาคารใหม่เพื่อเข้าสู่การรับรองของสำนักงานอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

ผลิตภัณฑ์

 การตลาดแบบถึงลูกถึงคน

จากพื้นฐานลูกค้าส่วนใหญ่ที่ภูเก็ตทำให้คุณศิริพรถือเอาภูเก็ตเป็นศูนย์การการจำหน่าย ส่วนผลิตภัณฑ์จะส่งมาจากจังหวัดลพบุรี ส่วนการออกร้านที่ภูเก็ตในช่วงศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ของสัปดาห์แรกจะจำหน่ายอยู่ที่ห้างรามไลน์ สัปดาห์ที่ 3 ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์จะจำหน่ายอยู่ที่ห้างบิ๊กซี สัปดาห์ที่สี่จะจำหน่ายอยู่ที่ห้างโกเซอร์รี่จนถึงสิ้นเดือน ส่วนการส่งของให้กับลูกค้าในเมืองจะจัดส่งให้ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ สำหรับงานที่ศาลากลางจังหวัดทุกครั้งที่จัดงานก็จะไปจำหน่ายทุกครั้ง สำหรับร้านค้าที่นำไปจำหน่ายก็มีตัวแทนหลายจังหวัดแล้ว

ผลิตภัณฑ์ที่มีคือ ชาใบถั่วดาวอินคา เป็นซองแช่ บรรจุ 30 ซอง เป็นสูตรเพื่อสุขภาพ ส่วนสูตร 2 จะเน้นการลดน้ำหนักเพราะจะมีเปลือกของดาวอินคาอยู่ และเปลือกที่อบแห้งล้วนๆ ไม่ได้อยู่ในซองย่อยๆ จะนำมาต้มแล้วเก็บไว้ดื่มจำหน่ายถุงละ 150 บาท ถั่วดาวอินคาอบกรอบจะบรรจุแพ็กละ 50 กรัม 250 กรัม และ 500 กรัม มีแบบกะเทาะเปลือกกับไม่กะเทาะ แต่แนะนำไม่กะเทาะจะหอมกว่า

ผลสดและเมล็ด

สำหรับกาแฟดาวอินคาจะนำกาแฟมาผสมกับถั่วดาวอินคาบดและใส่หญ้าหวานสกัดแทนน้ำตาล เป็นกาแฟทรีอินวันบรรจุ 12 ซอง จำหน่าย 150 บาท พระเอกของถั่วดาวอินคาคือ น้ำมันถั่วดาวอินคาสกัดเย็น ซึ่งได้จากถั่วดาวอินคาซึ่งปลูกในระบบอินทรีย์หรือเป็นเกษตรปลอดภัยในขวดบรรจุ 250 ซีซี ราคา 900 บาท ขวดบรรจุ 500 ซีซี ราคา 1,700 บาท ขวดบรรจุ 1 ลิตร ราคา 3,500 บาท สำหรับท่านที่รับประทานยากก็มีผลิตภัณฑ์น้ำมันถั่วดาวอินคาที่บรรจุแคปซูลไว้เหมือนน้ำมันตับปลา นอกจากนี้ ยังมีสบู่ดาวอินคา แชมพูดาวอินคาและน้ำสลัดของถั่วดาวอินคาอีก 3 รส แล้วแต่ผู้บริโภคจะชอบรสชาติไหน

คุณศิริพร

นอกจากผลิตภัณฑ์ของถั่วดาวอินคาแล้ว ยังมีผลผลิตจากไร่ที่เหลืออีก 7 ไร่ รวมเป็น 14 ไร่ ซึ่งเป็นไม้ผลและพืชผักซึ่งสามารถนำมาจำหน่ายได้ที่ตลาดนัดข้างบ้านเกือบทุกวัน ปัจจุบันนอกจากแรงงานในครอบครัว 4-5 คนแล้ว ยังจำเป็นต้องจ้างแรงงานอื่นมาสมทบอีกวันละ 3-10 คนแล้วแต่งานที่มี ปัจจุบันคุณศิริพรบอกว่าจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบถั่วดาวอินคาที่กะเทาเปลือกแล้วเดือนละ 1 ตัน ผลผลิตที่ไร่ก็ไม่พอจึงได้รับซื้อจากเครือข่ายชาวบ้านในละแวกนั้นที่เคยปลูกมาพร้อมๆ กัน เพิ่มเติมอีกในราคาเดียวกับที่หน่วยงานเอกชนนั้นกำหนดคือ กิโลกรัมละ 40 บาทรวมเปลือก และที่กะเทาะแล้วกิโลกรัมละ 60 บาท

เมล็ดและน้ำมันดาวอินคาในแคปซูล

การที่มีอุปสรรคแล้วเกษตรกรอย่างเรายังสามารถต่อสู้ได้จนกระทั่งมาถึงจุดนี้ ถือเป็นตัวอย่างสำหรับเกษตรกรโดยทั่วไป ผู้เขียนย้ำเสมอว่าการทำการเกษตร เกษตรกรไทยไม่เป็นรองใคร แต่สำหรับการตลาดเป็นเรื่องที่ยากสำหรับเกษตรกรรุ่นเก่า แต่สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ไม่ใช่เป็นเรื่องยาก