ชาวสวนยางใต้ ทนไม่ไหว! เสนอรัฐฯ “รับจำนำยาง” แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ!

เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ยื่นหนังสือเสนอ 8 มาตรการ ช่วยชาวสวนยาง “รับจำนำยาง” เร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

รับจำนำยาง / 4 ก.ย. 61 ที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง นายประทบ สุขสนาน รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ยื่นหนังสือ เสนอ 8 มาตรการ ช่วยชาวสวนยาง “รับจำนำยาง” เร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

“ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก เกษตรกรมีรายได้ไม่พอกับการเลี้ยงชีพ มีภาระหนี้สินล้นพ้นตัว เครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ได้จัดประชุมที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 61 มีตัวแทนจากหลายจังหวัดเข้าร่วมประชุม”

รายงานข่าวว่า ได้ข้อสรุปนำเสนอต่อประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย ให้เร่งดำเนินการปรับปรุง และนำมาปฏิบัติ 8 ข้อ 1 ให้เร่งโครงการการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนให้หน่วยธุรกิจการยาง กลับมาดำเนินการ พร้อมดูแลตลาด เปิดตลาดไทยคอมฯ ประมูลวันละ 2 ครั้ง เร่งเข้ามาปรับปรุงตลาดกลางและเชื่อมโยงตลาดเครือข่ายของตลาดกลาง และสร้างโรงงานล้อยางแห่งชาติโดยใช้งบกลาง

รายงานข่าวว่า พื้นที่ปลูกยางที่เคยได้รับการสงเคราะห์ปลูกแทน หรือบัตรสีชมพู ให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ ที่ควรจะได้จากการจัดสรรเงินเซส การรับปุ๋ยโดยวิธีโอนสิทธิ์ผ่านการประมูลหรือให้สถาบัน หรือให้สถาบันเกษตรกรจัดการ โดยมีกติกา เช่น เข้าร่วมโครงการเป็นจุดจ่ายปุ๋ยโดยมีระเบียบรองรับ การจ่ายเงินเข้าสมุดบัญชีเจ้าของสวนยางต้องมีเงื่อนไขกติกา เช่น ใบเสร็จที่นำส่ง พสย. ต้องเป็นไปตามระเบียบ และต้องตั้งกรรมการสุ่มตรวจทุกสาขา การออกหนังสือยุติการประกาศการจัดซื้อปุ๋ยผ่านระบบ Ebriding ขอให้คณะกรรมการยกร่าง ทีโออาร์ ชี้แจงเจตนารมณ์ในข้อ 2.14

รายงานข่าวว่า การบริหารงานของรักษาการผู้ว่าการการยางเหมือนขายฝัน พูดมากกว่าทำ ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กระจายอำนาจ เช่น การสั่งหยุดโรงงาน 4,5,6 ผลผลิตเข้าสู่บริษัทไหน ทำไมไม่ขายยางแล้วซื้อยางก้อน ยางถ้วย เพื่อเป็นการค้านอำนาจตลาดผูกขาด และการสั่งหยุดกิจการจนไม่มีการซื้อขายใดๆ นั้นทำให้เป็นอัมพาตกันหมด

รายงานข่าวว่า การตั้งที่ปรึกษาของรักษาการผู้ว่าการการยาง ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับที่มาของหลายคน ขอแก้ไขผังเมืองที่เกี่ยวข้องกับยางทั่วประเทศ โดยให้ตรวจสอบดูที่บริษัทใหญ่ ได้ขออนุญาตก่อนปี 58 แต่ยังไม่ก่อสร้างมีจำนวนเท่าไร เพราะบริษัทเหล่านี้เอาเปรียบผู้อื่น ให้มีการชดเชยรายได้ให้ชาวสวนยาง และ ข้อ 8. การจำนำยาง

ทางด้าน พล.อ. ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยในบางส่วนแล้ว และขณะนี้ปัญหาต่างๆ ที่ตัวแทนชาวสวนยางยื่นเสนอทางบอร์ด กยท. มีแผนในการแก้ปัญหาแล้ว ซึ่งพร้อมจะดำเนินการต่อไป ขณะเดียวกันทางผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองรับทราบมาโดยตลอด

“วิธีการแก้ไขไม่สามารถเปิดเผยได้ สำหรับแนวโน้มราคายางพาราที่ผ่านมา ราคาไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่รัฐบาลพยายามแก้ไข และพูดคุยกับส่วนที่เกี่ยวข้อง คิดว่าในอนาคต ราคายางพารา น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในที่สุด” พล.อ. ฉัตรเฉลิม กล่าว

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์