กศน. จังหวัดตรัง อบรมสารพัดอาชีพ หวังกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

สำนักงาน กศน. จังหวัดตรัง ได้จัดกิจกรรมอบรมอาชีพให้แก่ราษฎร โดยใช้เจ้าหน้าที่ กศน. ตำบล และ กศน. อำเภอ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรเผยแพร่องค์ความรู้ ควบคู่กับครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆ เช่น เกษตรธรรมชาติ แพทย์แผนไทย การจักสาน การเกษตรผสมผสาน การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การผลิตปุ๋ย การขยายพันธุ์พืช เป็นต้น เพื่อพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎร ให้เกิดความมั่นคงทางอาชีพและรายได้เลี้ยงดูครอบครัวอย่างยั่งยืน ผู้เขียนขอขอบคุณ อาจารย์นพรัตน์ โชติเกษมกุล นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ซึ่งเป็นแกนนำทีมสื่อ กศน. ตรังแชนแนล ที่กรุณาสนับสนุนข้อมูลและภาพประกอบการจัดกิจกรรมการอบรมอาชีพต่างๆ ของ สำนักงาน กศน. จังหวัดตรัง มา ณ ที่นี้

กศน. นาโยง อบรมถักโครเชต์ “พะยูน”
สัญลักษณ์ประจำจังหวัดตรัง

กศน. ตำบลละมอ อำเภอนาโยง ได้เข้ามาจัดการเรียนการสอนให้กลุ่มชาวบ้านถักหมวกด้วยไหมพรม ต่อมาได้จัดตั้งเป็นศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลละมอ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ตำบลละมอ

เช่น อบรมการถักโครเชต์ “ตัวพะยูน” ซึ่งเป็นสัตว์ทะเล สัญลักษณ์ประจำจังหวัดตรัง โดยตั้งราคาขายตามขนาดสินค้า เช่น พะยูน ขนาด 26 นิ้ว ขายตัวละ 1,200 บาท ขนาด 24 นิ้ว ขายตัวละ 1,000 บาท และขนาด 20 นิ้ว ขายตัวละ 800 บาท

นอกจากนี้ ศูนย์ฝึกอาชีพชุมชนตำบลละมอ ยังสอนการถักโครเชต์เป็นดอกศรีตรัง มะม่วงหิมพานต์ หมวก ตุ๊กตาน่ารักๆ อีกมากมาย สินค้านำไปโพสต์ขายในเฟซบุ๊ก ปรากฏว่าสามารถจำหน่ายสินค้าได้เป็นจำนวนมาก

และนำสินค้าส่วนหนึ่งไปวางขายที่ร้านเค้กกนิษฐา ศูนย์รวมของฝากและจุดพักรถจังหวัดตรัง ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาเลือกซื้อของขวัญของฝากของจังหวัดตรัง ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อหรือศึกษาดูงานอบรมอาชีพได้ที่ กศน. อำเภอนาโยง หรือกลุ่มถักหมวกไหมพรม บ้านหนองยวน เลขที่ 201 หมู่ที่ 5 ตำบลละมอ อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง

กศน. ร่วมสืบสานตำนานความอร่อย
“บ๊ะจ่างน้ำด่าง” จากภูมิปัญญาชาวบ้าน

บ๊ะจ่างน้ำด่าง (กีจ่าง) เป็นขนมหวานไม่มีไส้ ทำจากข้าวเหนียว เนื้อมีสีเหลืองใส ห่อด้วยใบไผ่ นิยมกินคู่กับน้ำตาลทรายแดง น้ำตาลจาก (น้ำตาลที่ได้จากต้นจาก) หรือน้ำกะทิสด บ๊ะจ่างน้ำด่างนับวันจะหากินได้ยาก เพราะขาดคนทำเป็น และนิยมใช้ในช่วงเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างเท่านั้น

นางเขียว รักสุไหอุเป วัย 73 ปี ชาวบ้านอำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านขนมพื้นบ้าน เกรงว่าความรู้เรื่องการทำบ๊ะจ่างน้ำด่างจะสูญหาย เพราะขาดผู้สืบทอด จึงร่วมมือกับ นางสาวรอฮานี อาแวกาจิ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง เปิดหลักสูตรอบรมความรู้เรื่องการทำบ๊ะจ่างน้ำด่าง เพื่อสืบสานตำนานความอร่อยของ “บ๊ะจ่างน้ำด่าง” และสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้าน

สำหรับขั้นตอนการทำบ๊ะจ่างน้ำด่าง เริ่มจากเตรียมใบไผ่ป่า หรือใบไผ่ตง มาล้างทำความสะอาด นำข้าวเหนียวมาล้างให้สะอาดและแช่น้ำไว้ประมาณ 3-5 ชั่วโมง หากใช้ข้าวเหนียวเก่าต้องแช่น้ำประมาณ 10 ชั่วโมง จากนั้นนำข้าวเหนียวมาพักไว้ให้หมาด นำผงด่าง หรือน้ำด่าง (จากการเผาเปลือกนุ่นหรือเปลือกทุเรียน) ผงกรอบ หรือน้ำประสานทองเล็กน้อย คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน จากนั้นนำไปห่อด้วยใบไผ่ ผูกด้วยเชือกเป็นพวง แล้วนำไปต้มในน้ำเดือดนานกว่า 4 ชั่วโมง ยกนำมาตั้งไว้ให้เย็น ก่อนนำบ๊ะจ่างน้ำด่างไปกินคู่กับน้ำตาลทรายแดง หรือน้ำตาลจาก

กศน. ส่งเสริมเลี้ยงเป็ดไข่ในสวนปาล์ม
แปรรูป “ไข่เค็มใบเตยหอม” ออกขาย ทำกำไร

ชาวบ้านคลองน้ำนิ่ง อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ประสบปัญหาขาดแคลนรายได้ จากสภาวะราคายางพาราและปาล์มน้ำมันตกต่ำ เกษตรกรในพื้นที่ตำบลกะลาเส อำเภอสิเกา จึงรวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มเลี้ยงเป็ดไข่” เพื่อเลี้ยงเป็ดไข่กว่า 500 ตัว ในสวนปาล์ม โดยเก็บไข่สด ส่งขายและแปรรูปเป็นไข่เค็มใบเตยหอม

โดย นางจุฑาภรณ์ พงษ์ประวัติ ครู กศน. ตำบลกะลาเส อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง แนะชาวบ้านกลุ่มเลี้ยงเป็ดไข่ “ทำไข่เค็มใบเตยหอม มันไร้กลิ่นคาว” เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นพี่เลี้ยงสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม การทำบัญชีครัวเรือน การแปรรูปไข่เค็มใบเตยหอม รวมทั้งออกแบบฉลากและบรรจุภัณฑ์

ในแต่ละวันเป็ดจะออกไข่ 400-450 ฟอง ส่งขายไข่ดิบ ราคาฟองละ 3.50 บาท แปรรูปเป็นไข่เค็มใบเตยหอม จะขายได้ในราคา ฟองละ 8 บาท ซึ่งไข่เค็มที่กลุ่มนำมาแปรรูปจะใช้วัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติ ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค

ขั้นตอนการทำ จะใช้ดินสอพอง 3 ส่วน เกลือ 1 ส่วน ใบเตยหอม 1 ส่วน และน้ำสะอาดพอสมควร นำทุกอย่างมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วนำมาพอกไข่เป็ดที่ล้างสะอาด พักไว้ 7 วัน ก็สามารถนำมาประกอบอาหารได้นานาชนิด เช่น ไข่ดาว ยำไข่เค็ม ไส้ขนมต่างๆ
ข้อดี ของไข่เค็มใบเตยหอมจะได้ไข่เค็มที่หอม ลดกลิ่นคาว เนื้อไข่จะแดง กลม

ทั้งนี้ ดินสอพองจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาไข่เค็มอยู่ได้นานถึง 1 เดือน ปัจจุบันสินค้าของกลุ่มขายดี เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อจำนวนมาก ลูกค้านิยมซื้อไปบริโภคและเป็นของฝาก ทางกลุ่มจึงเร่งขยายกำลังการผลิตให้ทันต่อความต้องการของตลาด

กศน. ร่วมเผยแพร่ความรู้ การทำ “ขนมลา”
ขนมพื้นบ้านชาวไทยมุสลิมจังหวัดตรัง

“ขนมลา” เป็นขนมพื้นบ้านของภาคใต้ นิยมใช้ในงานบุญสำคัญทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม ปัจจุบัน เยาวชนรุ่นใหม่ไม่รู้จักกับขนมลากันมากนัก นางสาวรอฮานี อาแวกาจิ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง เล็งเห็นคุณค่าความสำคัญของขนมลา และต้องการสืบสานตำนานความอร่อยของขนมลาให้อยู่คู่กับภาคใต้ต่อไป จึงสนับสนุน ให้ ครูวริยา ไชยมล กศน. ตำบลตะเสะ เปิดกลุ่มผู้สนใจเพื่อพัฒนาอาชีพ “การทำขนมลา กินได้ ทำขายรวย”

นางสาวสุภาพร ไชยมล ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านขนมพื้นบ้าน ในพื้นที่ตำบลตะเสะ อำเภอหาดสำราญ ทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมอาชีพการทำขนมลา สูตรโบราณ ที่ใช้วัตถุดิบน้อย ราคาถูก แต่ได้ปริมาณขนมเยอะ

การทำขนมลาสูตรโบราณ ผลิตจากวัตถุดิบ คือ แป้งข้าวเจ้า 1 กิโลกรัม แป้งมันสำปะหลัง 2.5 กรัม น้ำตาลทราย 6 กรัม และน้ำสะอาด 1 ถ้วย ขั้นตอนการทำเริ่มจากนำน้ำสะอาดเทผสมกับน้ำตาลทรายคนให้ละลาย แล้วเทแป้งข้าวเจ้า แป้งมันสำปะหลังลงไปผสม จากนั้นนวดแป้งให้เข้ากันแล้วหมักทิ้งไว้ 40 นาที

จากนั้นนำแป้งที่หมักได้ที่แล้วมานวดอีกครั้ง จากนั้นก็นำแป้งใส่ในภาชนะที่ทำจากกะลามะพร้าว ที่เจาะรูที่ก้นกะลาเพื่อให้แป้งไหลผ่านได้ แล้วนำไปร่อนในน้ำมันที่ร้อนปานกลาง หลังจากนั้น ใช้ไม้ไผ่ขนาดเท่าไม้ตะเกียบ ยาว 1 ฟุต เคาะที่กะลาเพื่อให้แป้งไหลลงอย่างช้าๆ จะได้เส้นขนมลาที่สวยงาม ก่อนใช้ไม้ไผ่มาพับขนมลา แล้วยกไปพักเพื่อให้สะเด็ดน้ำมัน เป็นอันเสร็จสิ้น

นางสาวเบ็ญจพร แข็งแรง ครู กศน. กล่าวถึงที่มาของชื่อ “ขนมลา” ว่า ในอดีตชาวบ้านจะใช้กะลามะพร้าวมาเจาะรูเพื่อเป็นภาชนะในการใส่แป้ง จึงเชื่อกันว่า ชื่อ “ขนมลา” มาจาก คำว่า “กะลา” นั่นเอง

ปัจจุบัน ขนมลาที่ชาวบ้านผลิตขึ้น จะนำไปฝากขายที่ร้านค้าชุมชนในหมู่บ้าน และตลาดประชารัฐ จำหน่ายในราคา 2 ชิ้น 5 บาท เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นราคาที่ถูกมากๆ ผู้สนใจเรื่องการทำขนมลา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ กศน. อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง

กศน. อบรมตลาดออนไลน์
ช่วยเพิ่มยอดขายสินค้าชุมชน

นางสาวพัทธยา พุฒด้วง ครู กศน. ตำบลปากแจ่ม สำรวจความต้องการด้านอาชีพของประชาชนในพื้นที่ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง พบว่า ประชาชนมีพื้นฐานความรู้ภูมิปัญญาในการจักสานของใช้จากวัสดุธรรมชาติ จึงเปิดอบรมอาชีพการถักเชือกป่าน เช่น ถักตะกร้า กระเป๋า หมวกปีก หลังจบหลักสูตร ชาวบ้านไม่มีช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า

นางอุมาภรณ์ มโนภิรมย์ ผู้อำนวยการ กศน. อำเภอห้วยยอด สนับสนุนให้แก้ปัญหาดังกล่าวโดยจัดสอนโครงการสร้างเครือข่ายดิจิทัลชุมชนระดับตำบล 2 หลักสูตร คือความเข้าใจดิจิทัล (Digital literacy) และหลักสูตรการค้าออนไลน์ (E-commerce) ชาวบ้านที่ผ่านการฝึกอบรมมาได้เปิดเพจ facebook “ของดีสุดแจ่ม By ชาวปากแจ่ม ตรัง” ทำให้สินค้าชุมชนเป็นที่รู้จักของตลาดในวงกว้าง ลูกค้าสามารถเลือกลวดลาย สี ขนาด ได้ตามความต้องการ มีลูกค้าสั่งจองสินค้าล่วงหน้า และยอดขายสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภายหลังจาก กศน. อำเภอห้วยยอด ได้ส่งเสริมความรู้เรื่องระบบตลาดออนไลน์มาใช้กับกลุ่มถักเชือกป่าน ปรากฏว่า สามารถแก้ปัญหาด้านการตลาดได้เป็นอย่างดี ช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีโอกาสสร้างช่องทางการขายสินค้าและเพิ่มพูนรายได้ในชีวิตประจำวัน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้พ้นจากความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้กับประชาชนอย่างยั่งยืน

ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อผลิตภัณฑ์สินค้า “ของดีสุดแจ่ม By ชาวปากแจ่ม ตรัง” ได้ที่ https://www.facebook.com/ของดีสุดแจ่ม By ชาวปากแจ่ม ตรัง หรือโทรศัพท์หมายเลข 064-851-4935