สกว.หนุนวิจัยเสริมขีดสมรรถนะหน่วยงานไทย ปรับตัวรับ ไคลเมท เชนจ์

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ จัดงานเสวนา “ขีดสมรรถนะในการขับเคลื่อน วาระการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพ โดยมี ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน

รศ.ดร.สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ นักวิจัยจากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต หัวหน้าโครงการวิจัย

รศ.ดร.สิตานนท์ เจษฎาพิพัฒน์ นักวิจัยจากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต หัวหน้าโครงการวิจัย “ขีดสมรรถนะที่จำเป็นของหน่วยงานไทยในการสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” สกว. กล่าวว่า เวทีเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยของโครงการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ความคืบหน้าด้านการดำเนินงานและประสบการณ์ในปัจจุบันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและวงการวิชาการ โดยโครงการนี้คณะผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องมือที่จะใช้ประเมินขีดสมรรถนะโดยปรับจากเครื่องมือที่พัฒนาแล้วของ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) และ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ที่นำไปประยุกต์พร้อมปรับใช้มาแล้วในหลายโครงการ จากนั้นนำเอาเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นมานำไปทดสอบ-แล้วปรับให้ตรงกับวัตถุประสงค์เฉพาะของหน่วยงานและของโครงการและนำเครื่องการประเมินสมรรถนะไปใช้จริงกับ 2 หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย

เวทีเสวนา “การขับเคลื่อนการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ”

ด้าน รศ.ดร.ชนาธิป ผาริโน ผู้อำนวยการฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “ปัญหาโลกร้อน” เป็นปัญหาระดับโลกที่กระทบทุกประเทศ แม้จะไม่เท่ากันและจะโดยสถานการณ์และรูปแบบยากที่จะคาดการณ์ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า การสั่งสมของก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาได้เกินระดับปลอดภัย อันตรายที่จะเกิดกับมนุษย์และระบบนิเวศอาจรุนแรงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มนุษย์จำเป็นต้องเตรียมรับมือมากขึ้นกว่าเดิมเป็นปกติอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีความเปราะบางและสุ่มเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติเช่นประเทศไทยและประเทศยากจนทั้งหลาย การรับมืออย่างเป็นระบบหรือการปรับตัว โดยมีระบบและแผนงาน การปรับตัวมีความสำคัญและควรจะต้องได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ ให้ประเทศมีการวางกลไกและสามารถนำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อประโยชน์แก่การเรียนรู้และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ดังนั้น การปรับตัวต้องเป็นภารกิจโดยตรงของพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบโดยมีหน่วยงานสนับสนุนทางยุทธศาสตร์และเทคนิคจากภาครัฐ ทั้งนี้ ต้องอาศัยการพัฒนาขีดสมรรถนะที่ประเทศและหน่วยงานที่มีอยู่ให้เพียงพอกับการรับมือควบคู่ไปกับการสนับสนุนการเข้าถึงสารสนเทศที่ถูกต้องและทันการณ์แก่ภาคส่วนที่มีส่วนได้เสียทั้งหมด ซึ่งการประเมินขีดสมรรถนะของหน่วยงานภาครัฐถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานมีนโยบาย แผนงาน และกลไกเพื่อสนับสนุนแผนการปรับตัวอยู่แล้วทั้งในระดับชาติและในระดับสาขา ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการประเมินขีดสมรรถนะของหน่วยงานอย่างเป็นระบบ ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สำคัญยิ่งสามารถนำข้อมูลการประเมินที่ได้ไปจัดทำแผนงานและแผนงบประมาณเพื่อการพัฒนาและเพิ่มขีดสมรรถนะขององค์กรให้สามารถสนับสนุนการปรับตัวให้บรรลุเป้าประสงค์ได้ การจัดงานในวันนี้ สกว. มีความคาดหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สังคมตระหนักและมีความรู้ด้านการเตรียมรับปรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดทำร่างแผนการพัฒนาขีดสมรรถนะขององค์กรโดยใช้ประโยชน์จากผลการประเมินสมรรถนะ นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนา “การขับเคลื่อนการปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ” ที่มีตัวแทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทในการวางแผนนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และหน่วยงานที่มีแนวนโยบายหรือพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับปรับตัวต่อปัญหาดังกล่าว อันประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมพูดคุยและให้ข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศที่เข้าร่วมงานครั้งนี้