แนะวิธีปราบด้วงหมัดผัก แมลงตัวร้ายทำลายผักกวางตุ้ง

ในช่วงฝนตกและมีความชื้นในอากาศสูงแบบนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกผักกวางตุ้งให้เฝ้าระวังสังเกตการเข้าทำลายของด้วงหมัดผัก สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของผักกวางตุ้ง

โดยจะพบตัวอ่อนด้วงหมัดผักเจาะชอนไชเข้าไปกัดกินอยู่บริเวณโคนต้นหรือรากของผักกวางตุ้ง ทำให้ต้นผักเหี่ยวเฉา ไม่เจริญเติบโต หากรากถูกทำลายมาก จะส่งผลทำให้ต้นผักตายได้

ตัวเต็มวัยของด้วงหมัดผักจะชอบกัดกินผิวใบด้านล่าง ทำให้ใบเป็นรูพรุน อาจกัดกินผิวลำต้นและกลีบดอกด้วย ด้วงหมัดผักชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ตัวเต็มวัยของด้วงหมัดผักเมื่อถูกกระทบกระเทือนจะกระโดดหนี และสามารถบินได้ไกล

สำหรับแนวทางในการป้องกันและแก้ไข หากพบการระบาดที่ไม่รุนแรงของด้วงหมัดผักในแหล่งปลูกผักใหม่ ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโพรไทโอฟอส 50% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร จะให้ผลในการกำจัดด้วงหมัดผักได้ดี

 

ส่วนในแหล่งที่ปลูกผักเป็นประจำ เกษตรกรควรใช้สารฆ่าแมลงฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 50 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซีทามิพริด 20% เอสพี อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารโทลเฟนไพแร็ด 16% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร จะให้ผลที่ดีกว่า

นอกจากนี้ ให้เกษตรกรใช้วิธีเขตกรรมในการป้องกันและลดการระบาดของด้วงหมัดผัก โดยใช้การไถตากหน้าดินไว้เป็นเวลานานพอสมควร เพื่อทำลายตัวอ่อนและดักแด้ที่อาศัยอยู่ในดิน

และควรเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ด้วงหมัดผักไม่ชอบ วิธีนี้จะช่วยลดการระบาดได้ดีอีกทางหนึ่ง รวมถึงให้เกษตรกรพ่นหรือราดด้วยไส้เดือนฝอย (Steinernema carpocapsae) อัตรา 4 ล้านตัว ต่อพื้นที่ 20 ตารางเมตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน เพื่อฆ่าตัวอ่อนด้วงหมัดผักในดิน