พัฒนาที่ดิน พลิกฟื้นผืนดินเสื่อมโทรม ให้ทำกินอย่างยั่งยืน

พบปัญหาเกี่ยวกับดินมากมายในพื้นที่

ดิน เป็นปัจจัยพื้นฐานของการทำเกษตรกรรม แต่จากการสำรวจ พบว่าดินที่ใช้ในการทำเกษตรกรรมส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังขาดความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างจะมีปัญหาของสภาพดินที่แตกต่างกันไปตามลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งปัญหาในภาพรวม นอกจากพบปัญหาการชะล้างพังทลายของดินแล้ว ยังมีปัญหาดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินพรุ ในพื้นที่ทำการเกษตร เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพเกษตรกรรมของเกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง

แต่อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้น กรมพัฒนาที่ดิน โดยสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 ได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของกรมพัฒนาที่ดิน โดยยึดหลักตามแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนา ฟื้นฟูพื้นที่นาร้างให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเพื่อปลูกข้าวและปาล์มน้ำมัน และสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินในการทำเกษตรกรรมอื่นๆ ได้อย่างยั่นยืน

นายปรีชา โพธิ์ปาน
นายปรีชา โพธิ์ปาน

นายปรีชา โพธิ์ปาน ผู้อำนวยการ สำงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 เปิดเผยว่า สภาพพื้นที่ของภาคใต้ขนาบด้วยทะเลทั้ง 2 ฝั่ง สภาพดินในภาคใต้ส่วนใหญ่จึงเป็นดินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาดินเปรี้ยว ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำกร่อยซึ่งเป็นบริเวณที่เคยได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลท่วมถึงมาก่อน อีกทั้งยังมีดินอินทรีย์หรือดินพรุในพื้นที่ทำการเกษตร รวมถึงปัญหาการชะล้างของดิน ทำให้เกิดดินตื้น ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 จังหวัดสงขลา เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของดินในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มาโดยตลอด

ที่ผ่านมาได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องตามนโยบายของกรมพัฒนาที่ดิน โดยยึดหลักตามแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

การดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาดินของสำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 มีนโยบายที่เน้นการขยายผลแนวทางแก้ไขปัญหาตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานแนวทางไว้ เช่น

การแก้ปัญหาดินเปรี้ยว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวทางแก้ไข ที่เรียกว่า โครงการแกล้งดิน ซึ่งดำเนินการที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองจนประสบความสำเร็จ สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 จึงได้น้อมนำแนวทางของพระองค์มาดำเนินการแก้ไขและขยายผลในพื้นที่รับผิดชอบทั้ง 7 จังหวัด จนประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

โครงการพัฒนาพื้นที่นาร้าง โดยเน้นส่งเสริมปลูกข้าว ปาล์มน้ำมัน รวมไปถึงไม้ผล โดยได้สนับสนุนด้านการปรับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเข้าไปสนับสนุนการขุดยกร่อง เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่ม จึงต้องขุดยกร่องเพื่อให้พ้นน้ำ

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนวัสดุปรับปรุงดินและพันธุ์พืช โดยบูรณาการร่วมกับกรมการข้าว ที่เข้ามาร่วมส่งเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกข้าว และแจกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ปลูก

เกษตรกรสามารถกลับมาใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น
เกษตรกรสามารถกลับมาใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น

ผลจากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรสามารถกลับมาใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตร และสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น จากเดิมเคยได้ 10-20 ถัง ต่อไร่ ก็เพิ่มเป็น 40-50 ถัง ต่อไร่ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถยังชีพอยู่ได้

พร้อมกันนี้ สำนักงานพัฒนาที่ดิน เขต 12 มีเป้าหมายที่จะขยายผลการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดินไปสู่พื้นที่ของเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

1469691914

“กรมพัฒนาที่ดิน มุ่งเน้นการนำผลสำเร็จของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาขยายผลสู่พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงมาโดยตลอด เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ที่ได้ดำเนินการฟื้นฟูดินเปรี้ยวจัดจนสามารถผลิตข้าวให้มีผลผลิตสูงขึ้น หรือกระทั่งตัวอย่างด้านการพัฒนาที่ดินเพื่อทำการเกษตรแบบผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ผ่านเครือข่ายหมอดินอาสาที่มีอยู่ในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมี เพื่อให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินที่มีศักยภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิต สร้างรายได้ที่มั่นคง” นายปรีชา กล่าวในที่สุด