ที่มา | ภูมิปัญญาไทย |
---|---|
ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
ใช้เวลากันมายาวนานแล้วสำหรับการรณรงค์เพื่อหยุดการแพร่ขยายของผักตบชวา ซึ่งจัดว่าเป็นพืชที่สามารถขยายพันธุ์และเจริญเติบโตปกคลุมพื้นที่ผิวน้ำได้อย่างรวดเร็ว ความหนาแน่นของผักตบชวาในแม่น้ำลำคลองและบึงต่างๆ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น ขัดขวางการสัญจรทางน้ำ ปิดกั้นทางระบายน้ำของคลองระบายน้ำและเขื่อนต่างๆ ทำให้น้ำเสียและเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลา ประชาชนไม่สามารถใช้น้ำอุปโภคบริโภคได้ แม่น้ำลำคลองจะตื้นเขินเร็วขึ้นและยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำ อันเป็นพาหะของพยาธิหรือเชื้อโรคด้วย จนดูเหมือนเจ้าผักตบชวาจะกลายเป็นผู้ร้ายเสียแล้ว
คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ได้มีงานวิจัยออกเผยแพร่พร้อมถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชนบ้านผักตบชวา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อนำไปผลิตเป็นสิ่งของหลายอย่างสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ทางคณะยังต่อยอดงานวิจัยนำไปผลิตเป็นกระดาษใช้ในหลายกิจกรรม หรืองานวิจัยที่ฮอตอยู่ขณะนี้คือการนำผักตบชวามาผลิตเป็นผ้าเพื่อใช้บุฉากกั้นห้อง ทำเป็นผ้าม่าน หรือผลงานที่ได้รับรางวัลมาหมาด หมาดคือนำมาตัดเป็นเสื้อผ้าสวมใส่ได้อย่างสวยงามไม่แพ้วัสดุชนิดอื่น
และทั้งหมดเป็นความภาคภูมิใจของอาจารย์สัมภาษณ์ สุวรรณคีรี หัวหน้าโครงการวิจัยพร้อมคณะทำงานทุกคน ที่ต่างล้วนทุ่มเทสรรพความรู้กับผลงานวิจัยดังกล่าวภายใต้วัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยเหลือชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม
ลักษณะเด่นงานวิจัย
อาจารย์สัมภาษณ์ เผยว่าเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยที่กำชับว่างานวิจัยทุกชิ้นจะต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง และบอกต่อว่าแนวคิดเรื่องการนำผักตบชวามาใช้ประโยชน์เพื่อหารายได้เป็นความบังเอิญที่คณะชุมชนบ้านไม้ตรา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ไปพบงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศูนย์ประชุมไบเทค จึงมีความสนใจพร้อมเสนอว่าถ้าใช้ผักตบชวามาทำผลิตภัณฑ์อย่างที่มาแสดงน่าจะทำได้เช่นกัน
แนวคิดดังกล่าวจึงจุดประกายให้คณะทำงานวิจัยได้เปิดฉากหาข้อมูลศึกษาความเป็นไปได้เพื่อทดลองนำผักตบชวามาประดิษฐ์เป็นวัสดุตกแต่ง แต่การสร้างความน่าสนใจจะต้องแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ที่ทำกัน ฉะนั้นจึงเป็นการใช้วัสดุจากเส้นใยของผักตบชวามาขึ้นเป็นเส้นด้าย โดยผ่านกระบวนการBlow room และกระบวนการ Drawing Carding และกระบวนการ Spinning เพื่อผลิตเป็นเส้นด้าย นำไปทอหรือผลิตด้วยการอัด สามารถนำไปผลิตเป็นกระดาษ โดยการนำไปผสมกับเส้นใยชนิดยืนแล้วนำมาผ่านกระบวนการฟอกย้อม กระบวนการย้อมสี นำเส้นใยไปผลิตเป็นกระดาษหรือเส้นด้าย
ผลงานวิจัยที่ออกมาเป็นนวัตกรรมซึ่งแต่ละชิ้นประกอบขึ้นจากองค์ความรู้ด้านต่างๆ ดังนั้นเมื่อได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการจึงได้มีการรวบรวมนักวิจัยที่มีความสามารถด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องกล ด้านสิ่งทอ ด้านเคมี และด้านการออกแบบ ทั้งหมดจะมาทำงานร่วมกันโดยเป็นงานที่สกัดเส้นใยจากผักตบชวา ผ่านกระบวนการฟอกย้อม กระบวนการย้อมสี แล้วนำเส้นใยเหล่านั้นมาผลิตเป็นกระดาษและเส้นด้าย ต่อจากนั้นจึงนำกระดาษผักตบชวาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ส่วนเส้นด้ายนำไปทักทอเป็นผืนผ้า หรืออาจแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จากนั้นจึงนำความรู้จากงานวิจัยทั้งหมดถ่ายทอดไปสู่ชุมชนบ้านผักตบชวา อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ส่วนจุดมุ่งหมายที่เน้นการใช้ผักตบชวาเพราะในปัจจุบันมีปริมาณมากในทั่วประเทศ การนำไปใช้ก็เพื่อช่วยลดปริมาณลงและยังสร้างรายได้ให้ชุมชน ส่วนมากที่เห็นจะเป็นงานจักสานทั่วไปธรรมดาไม่ซับซ้อน เพราะขาดการส่งเสริมทางด้านการวิจัยและพัฒนา
เป็นการทำงานร่วมกันของนักวิจัย
กับกลุ่มชาวบ้านที่เข้มแข็ง
อาจารย์สัมภาษณ์ให้รายละเอียดว่าต้นผักตบชวามีลักษณะแตกต่างกันทั้งความยาวและความอ้วน อายุของต้นที่พอเหมาะจะอยู่ประมาณ 8 เดือน ทั้งนี้ความสมบูรณ์ของแต่ละต้นขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำนั้นเป็นสำคัญด้วย สรุปคือจะใช้ต้นที่มีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตรและอายุประมาณ 8 เดือน ต่อจากนั้นนำมาตากแห้ง 15 วันเพื่อป้องกันเชื้อรา อันเนื่องมาจากเป็นต้นไม้ที่ชุ่มน้ำมาก จากนั้นจึงนำมาผ่านกระบวนการสกัดเส้นใย
ด้านการออกแบบ หัวหน้าทีมวิจัยอธิบายต่อว่า ที่ผ่านมาแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆระหว่างนักออกแบบของทีมงานกับกลุ่มชาวบ้านมักสวนทางกัน เขาบอกว่าเหตุผลที่เป็นเช่นนั้น เพราะแต่ละฝ่ายต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือช่วยเหลือชุมชนเพียงแต่มองคนละด้านเท่านั้น ดังนั้นจะต้องปรับความคิดและเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทั้งสองฝ่ายให้ตรงกันด้วยมุมมองทางการตลาดเป็นเป้าหมายหลัก เพราะเมื่อผลิตออกมาตามความต้องการของตลาดแล้วจะต้องขายได้ทั้งในและต่างประเทศ
การผลิตจะเริ่มต้นด้วยการออกแบบก่อน ซึ่งกว่าต้นแบบจะได้รับความเห็นชอบจะต้องผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ทั้งการผลิตและการตลาดก่อน รวมไปถึงรูปแบบที่นำเสนอว่าถูกต้องตามความต้องการหรือไม่ จึงต้องมีการแก้ไขจนถูกใจบนหลักเหตุผลของทุกฝ่าย จากนั้นทีมนักวิจัยจึงจะนำความรู้ รวมถึงเทคโนโลยีไปถ่ายทอดต่อให้กับชุมชน โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 45 วัน
ดังนั้นผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาจึงเป็นศิลปะงานร่วมสมัยที่เป็นการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกิดจากการมัด สาน ถัก ทอ พร้อมกับสร้างสรรค์งานศิลปะให้เกิดเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้ภายใต้ทีมนักวิจัยที่อุดมไปด้วยความรู้ ความสามารถคอยให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการผลิตและออกแบบ สำหรับผลิตภัณฑ์ของตกแต่งที่ทำจากผักตบชวาที่ชาวบ้านทำอยู่ขณะนี้ได้แก่ตุ๊กตาประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นคนและสัตว์, กล่องเส้นใยเพ้นท์สี, กล่องใส่กระดาษทิชชู, กล่องเส้นใยเอนกประสงค์, ดอกไม้, กล่องใส่นามบัตร, พวงกุญแจเป็นต้น
ผลจากความร่วมมือทุกฝ่าย
นำมาสู่รางวัลที่มีความภูมิใจ
ขณะนี้ผ้าที่ทำขึ้นมาจากผักตบชวาเมื่อนำมาถักทอลายแล้วเกิดความสวยงามมาก สามารถนำไปใช้ผลิตเป็นพาดิชั่นหรือฉากกั้นห้อง หรือนำมาใช้เย็บเป็นผ้าม่าน นอกจากนั้นล่าสุดยังต่อยอดด้วยการนำมาเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่สวยไม่แพ้ผ้าชนิดอื่น และจากความร่วมมือกันเป็นอย่างดีระหว่างชาวบ้านและทีมนักวิจัยจนได้รับความสำเร็จในการส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศมาแล้วหลายรายการ
“อยากส่งเสริมให้นำผักตบชวามาผลิตกันให้มากๆ เพราะวัตถุดิบมีมาก ราคาถูก หาได้ง่าย หากทุกคนร่วมกันทำคิดว่าจะช่วยลดปริมาณผักตบชวาที่มีอยู่ลงได้ แล้วยังเป็นการช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติให้เหมาะสม” หัวหน้าทีมนักวิจัยกล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร หมายเลขโทรศัพท์ (02) 629-9154-7 ต่อ 3009 หรือสนใจผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาติดต่อที่บ้านผักตบชวา 5 หมู่ 2 ต.ไม้ตรา อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา โทรศัพท์/โทรสาร 035-238-364 หรือwww.phuktop.com