“นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร” ผู้ว่าฯ บึงกาฬ พัฒนา “บึงกาฬ เมืองสะอาดในทุกมิติ”

จังหวัดบึงกาฬ มีค่าดัชนีความสุข ระดับ 6 ส่วนรายได้ต่อหัวต่อครัวเรือน มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ แต่ผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชากรส่วนใหญ่ ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ระหว่างปี 2559-2560 ไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 22,000 ล้านบาท เท่าเดิม จุดเด่น-จุดด้อย ความก้าวหน้าและล้าหลังของจังหวัดบึงกาฬ นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องลงไปแก้ไขให้ตรงจุด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวบึงกาฬในอนาคต

ปัจจุบัน “คุณนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร” นับเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ คนที่ 8 ที่เข้ามานั่งตำแหน่ง “พ่อเมือง” ท่านเป็นผู้ว่าฯ ที่ไม่มีนโยบายส่วนตัว ในฐานะผู้บัญชาการพื้นที่แทนรัฐบาล มุ่งบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามกฎหมาย ดำเนินงานสนองนโยบายรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นสร้างสมดุลในพื้นที่ ยึดหลักรัฐศาสตร์ในการทำงาน ยินดีรับฟังความต้องการของประชาชน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับประชาชน เกิดความผาสุกในทุกพื้นที่ของจังหวัดบึงกาฬอย่างยั่งยืน

คุณนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ

นโยบาย บึงกาฬเมืองสะอาด

“บึงกาฬ” เป็นหนึ่งในระดับกลุ่มจังหวัดขนาดเล็ก ที่ได้รับรางวัลการจัดการขยะมูลฝอย “จังหวัดสะอาด” ระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. 2561 ที่จัดขึ้นโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดยจังหวัดบึงกาฬขับเคลื่อนความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหมู่บ้าน/ชุมชน ในลักษณะ “ประชารัฐ” เพื่อจัดการขยะภายใต้หลักการ “Reduce-ใช้น้อย Reuse-ใช้ซ้ำ Recycle -นำกลับมาใช้ใหม่” แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ลดปริมาณขยะ-คัดแยกขยะมูลฝอย ตั้งแต่ “ต้นทาง” ส่วนระดับ “กลางทาง” คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บ-ขนขยะมูลฝอย อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งกำจัดขยะมูลฝอย ในระดับ “ปลายทาง” อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

ตรวจถนนยางพาราแอสฟัลติก ที่ปากคาด

การร่วมแรงร่วมใจทำงานจัดการขยะอย่างแข็งขัน ทำให้จังหวัดบึงกาฬ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ในกลุ่มจังหวัดขนาดเล็ก ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬชื่นชมกับความสำเร็จที่เกิดขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรากฐานที่มั่นคงของการพัฒนาประเทศไทย เพราะเชื่อว่าการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพจะช่วยพัฒนาบ้านเมืองให้สะอาดสวยงามแล้ว ยังช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการแก้ไขปัญหาขยะ เพิ่มโอกาสและสร้างจุดขายด้านการท่องเที่ยว ผลักดันให้บึงกาฬเติบโต “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” ได้ในอนาคต

คุณนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้ลงพื้นที่พูดคุยกับพี่น้องประชาชนและผู้นำชุมชน จัดรายการ “ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬคุยกับประชาชน” ครั้งที่ 4 ณ สวนขนาบบึง อำเภอบึงโขงหลง พร้อมถ่ายทอดสดทาง สวท. วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวทั่วทั้งจังหวัด และทาง FB live เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับความห่วงใยและนโยบายรัฐบาล ในเรื่องการลดปริมาณขยะ คัดแยก ขาย ก่อนทิ้ง รวมทั้งการแยกขยะอินทรีย์ ไปกำจัดในถังขยะเปียกประจำครัวเรือน ลดปริมาณขยะได้ถึง 60% ตามการส่งเสริมของนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬลงเรือเก็บขยะในแหล่งน้ำ

ขณะเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬได้ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันสร้างบึงกาฬให้เป็นเมืองสะอาด ในทุกมิติ ทั้งมิติบนพื้นดิน มิติระดับสายตา มิติในพื้นน้ำ ตามมาตรการ “บึงกาฬเมืองสะอาด 3 มิติ” และประกาศเดินหน้าสร้างความสะอาดอย่างต่อเนื่องทุกพื้นที่ ตามมาตรการ “Buengkan Big Cleaning Year”

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬประกาศเดินหน้านโยบาย “บึงกาฬจังหวัดสะอาด” ในทุกมิติเพื่อเป็นต้นแบบจังหวัดสะอาดของประเทศต่อไป โดยขอความร่วมมือประชาชนร่วมแก้ไขจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน การจัดระเบียบทางเท้า สิ่งปลูกสร้างตลอดแนวถนนในจังหวัด ดูแลจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อให้บ้านเมืองสะอาดสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ตามคอนเซ็ปต์ บึงกาฬเมืองสิ่งแวดล้อมน่าอยู่ เป็นที่สนใจของผู้มาเยือน เพิ่มโอกาส สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชนโอท็อปนวัตวิถี ตามนโยบายไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาล

 

ชู “บึงโขงหลง” ต้นแบบ

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ยกย่อง “บึงโขงหลง” เป็นต้นแบบของการจัดการขยะเป็นศูนย์ โดยชุมชน จนประสบความสำเร็จ ทุกครัวเรือนจะคัดแยกขยะรีไซเคิลประเภทกระดาษ พลาสติก โลหะ ขวดแก้ว ฯลฯ เพื่อนำไปขายให้กับธนาคารขยะ ส่วนขยะอันตราย ประเภทบรรจุภัณฑ์สารเคมี ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ ฯลฯ จะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี

ส่วนขยะเปียกซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร พืชผัก ผลไม้ ใบไม้ ฯลฯ นำมาใส่ในเสวียนล้อมต้นไม้ ที่ชาวบ้านทำไว้เพื่อกำจัดขยะเปียก เมื่อปริมาณขยะน้อยลง ก็ไม่จำเป็นต้องตั้งถังขยะไว้หน้าบ้านทุกหลัง บึงโขงหลงสร้างปรากฏการณ์คืนถังขยะ สร้างแรงบันดาลใจสู่การเป็น “บึงกาฬเมืองสะอาด” ได้อย่างน่าชื่นชม

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬเก็บสวะวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬกล่าวว่า ทุกวันนี้ ขยะเปียก มีสัดส่วน ร้อยละ 50 ของปริมาณขยะทั้งหมด จึงมุ่งส่งเสริมให้ทุกบ้านเรือนขุดหลุมกำจัดขยะเปียกตั้งแต่ต้นทาง โดยแนะนำให้แต่ละบ้านขุดหลุมในสวนหลังบ้านสำหรับใส่ขยะเปียก เมื่อใส่ขยะจนเต็มจึงค่อยฝังกลบ และขุดหลุมขยะแห่งใหม่สำหรับใช้งานต่อไป ซึ่งขยะเปียกจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินและพืชต่อไป

ทางจังหวัดบึงกาฬได้ร่วมมือกับโรงแรมเดอะวัน ดำเนินโครงการนำร่องส่งเสริมการกำจัดขยะเปียกในลักษณะดังกล่าว ก็ได้ผลดี เพราะลดปริมาณขยะเปียกได้จำนวนมาก กำลังขยายโครงการไปยังโรงเรียน วัด และร้านอาหารทั่วไป  อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในชุมชนเมืองมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ไม่สามารถขุดหลุมฝังกลบขยะเปียกได้ ก็จะให้เทศบาลจัดหาถังขยะเปียกไปตั้งในแหล่งชุมชน และรวบรวมไปฝังกลบในที่ดินสาธารณะต่อไป

 

ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว  

บึงกาฬ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความงดงามตามธรรมชาติมากมาย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นวิวภูเขา น้ำตก วิวชายโขงถึง 4 อำเภอ ทางจังหวัดมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และท่องเที่ยวเชิงศาสนา

“หนองเลิง” หนองน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ เนื้อที่กว่า 3,065 ไร่ ในอำเภอพรเจริญ เทศบาลตำบลดอนหญ้านาง ได้พัฒนาหนองเลิงเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดบึงกาฬ เนื่องจากมีทัศนียภาพที่สวยงามตามธรรมชาติ ทั้งทุ่งบัวแดง บัวหลวง บานสะพรั่งอยู่เต็มเนื้อที่ 500 ไร่ นกน้ำนานาชนิดที่บินหากินอยู่ภายในหนองน้ำแห่งนี้

หนองเลิง มีเรือนแพกว่า 100 หลัง ให้บริการนักท่องเที่ยว ล่องชมธรรมชาติอันสวยงามแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ได้มอบนโยบายให้เทศบาลจัดหาถังขยะและสวิงติดไปกับเรือนแพด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในหนองเลิง โดยใช้เวลาว่างระหว่างล่องแพ ช้อน “จอกหูหนูยักษ์” ซึ่งเป็นวัชพืชตัวร้ายในแหล่งน้ำขึ้นมาใส่ถังขยะบนแพ เพื่อรวบรวมนำไปใช้ทำปุ๋ยสดบำรุงต้นไม้บนชายฝั่ง

บึงโขงหลง” เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำสงคราม ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีระบบนิเวศที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของพืชน้ำ สัตว์น้ำ รวมทั้ง นกน้ำ จำนวน 134 ชนิด มีทุ่งบัวแดงเกือบ 1,000 ไร่ และทุ่งบัวหลวงอีก 800 ไร่

จุดชม “สะดือแม่น้ำโขง” ณ วัดอาฮงศิลาวาส ถือว่าเป็นจุดที่แม่น้ำโขงมีความลึกสุดถึง 200 เมตร น้ำตกถ้ำพระ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ที่ดูอลังการมาก เพราะมีปริมาณน้ำมหาศาล และมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะตัวของลานหินน้ำตก ทำให้น้ำตกดูสวยงามเกินจะบรรยาย

ทุกวันนี้ จังหวัดบึงกาฬ ปลูกต้นยางพารามากที่สุดในพื้นที่ภาคอีสาน กว่าล้านไร่ ทำให้บึงกาฬจัดเป็นเมืองสีเขียวที่มีต้นไม้จำนวนมากช่วยดูดซับสารพิษ กรองอากาศบริสุทธิ์ที่ดีต่อสุขภาพและระบบการหายใจของมนุษย์ ทำให้ชาวบึงกาฬมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬเชิญชวนผู้สนใจแวะมาเยือนจังหวัดบึงกาฬเพื่อพักผ่อน เติมพลังรับอากาศบริสุทธิ์เพื่อฟื้นฟูสุขภาพและจิตใจสักครั้งในหนึ่งปี

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬชมแปลงนาข้าวของเกษตรกร

ปลูกไม้ผล เสริมรายได้

จังหวัดบึงกาฬ ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เมืองแห่งสายน้ำ” เพราะอยู่ติดลำน้ำโขง และมีหนองน้ำที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “กุด” มากถึง 400 แห่ง ทำให้จังหวัดบึงกาฬมีแหล่งน้ำสมบูรณ์เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร และใช้อุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูแลฟื้นฟูความสะอาดริมแม่น้ำโขง เพื่อเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยว และขุดลอกหนองน้ำที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อใช้เก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝน และเป็นแหล่งน้ำสำหรับภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากปัจจุบัน ยางพารา ซึ่งเป็นรายได้หลักของเกษตรกรชาวบึงกาฬ ประสบปัญหาราคาตกต่ำ ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬลงพื้นที่พบปะพี่น้องเกษตรกร

ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬจึงหันมาส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีพื้นที่ทำกินอยู่ใกล้หนองน้ำสาธารณะเหล่านี้ แบ่งพื้นที่ว่างเปล่าที่มีอยู่มาใช้ปลูก “ไม้ผลเศรษฐกิจ” ที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น ทุเรียน เงาะ ลองกอง มังคุด ฯลฯ เพื่อเป็นรายได้เสริมในระหว่างที่ประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งผลไม้จะกลายเป็นสินค้าเกษตรตัวใหม่ที่จะผลักดันสู่การส่งออก เมื่อการก่อสร้างสะพานข้ามโขงแห่งที่ 5 เปิดให้บริการในอนาคต

เนื่องจากการปลูกยางพารา เป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ ทางจังหวัดบึงกาฬจึงสนับสนุนการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ เพื่อประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมยางพาราบึงกาฬ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มการผลิตยาง จากเดิมที่ผลิตแค่ยางก้อนถ้วย ก็พัฒนาเป็นหมอนยางพารา ที่นอนยางพารา ฯลฯ สอดคล้องกับนโยบายเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล