“นิพนธ์ คนขยัน” จัดงานวันยางพารายิ่งใหญ่ ชู “บึงกาฬโมเดล” ต้นแบบแก้ปัญหายางพารา

นับตั้งแต่ “บึงกาฬ” แยกตัวออกจากจังหวัดหนองคาย “นิพนธ์ คนขยัน” ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนให้รับตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ (อบจ.) คนแรกและคนเดียวของจังหวัดบึงกาฬมาจนถึงทุกวันนี้ คุณนิพนธ์ เป็นผู้นำที่มีความรู้ ความสามารถ มุ่งมั่นพัฒนาบึงกาฬให้เป็นสังคมแห่งความสุข มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

คุณนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ

คุณนิพนธ์ คนขยัน เป็นแกนนำในการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬทุกปี เพราะอาชีพการทำสวนยางพารา เป็นรายได้หลักเลี้ยงปากท้องของประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดบึงกาฬ คุณนิพนธ์สนับสนุนให้ชาวสวนยางรวมตัวกัน ในชื่อ “ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด” สร้างโรงงานแปรรูปหมอนยางพาราออกจำหน่าย เพื่อแก้ปัญหาราคายางตกต่ำและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชาวสวนยางพารา

คุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยกย่องแนวคิดดังกล่าวว่า เป็นต้นแบบที่ดีของการแก้ไขปัญหายางพาราโดยพึ่งพาตัวเองของเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬ เพราะเป็นผู้ผลิตและแปรรูปยางอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากน้ำยางสด-แปรรูปน้ำยางข้น-ผลิตหมอนยางและที่นอนยางพารา ถือเป็นโรงงานแปรรูปยางของชาวสวนยางแห่งแรกของภาคอีสาน จึงถูกเรียกว่า “บึงกาฬโมเดล” ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า น่าจะเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหายางตกต่ำในระยะยาว

สถานการณ์ยางพาราบึงกาฬในวันนี้

เกษตรกรชาวสวนยางบึงกาฬ เหมือนกับชาวอีสานทั่วไปไม่นิยมทำยางแผ่น เพราะขายไม่ได้ราคา ตอนนี้ ราคายางก้อนถ้วยกับยางแผ่นใกล้เคียงกัน ทำให้เกษตรกรเลือกทำยางก้อนถ้วยมากกว่า แม้แต่เกษตรกรภาคใต้ก็แทบไม่ได้ทำยางแผ่นแล้ว ยางก้อนถ้วย หากขายได้ราคา 3 กิโลกรัม 100 บาท เรียกว่ามีรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้สบายๆ ช่วงที่ราคายางร่วงเหลือ 4 กิโลกรัม 100 บาท ก็ยังมีรายได้พอประทังเลี้ยงดูครอบครัวได้

วันนี้ราคายางก้อนถ้วย อยู่ที่ 18-19 บาท ต่อกิโลกรัม หากขายในลักษณะยางก้อนถ้วยเปียก ขายได้แค่กิโลกรัมละ 14 บาท ราคาซื้อขายยางก้อนถ้วยในขณะนี้ เฉียด 6 กิโลกรัม 100 บาทแล้ว ชาวสวนยางบึงกาฬยังอยู่ได้ แต่อยู่ได้แบบทรมาน เพราะเม็ดเงินรายได้หดหายไปเยอะมาก

ยางก้อนถ้วย

ภาครัฐบาลใช้นโยบายลดพื้นที่ปลูกยางลง เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ โดยจ้างให้เกษตรกรตัดโค่นต้นยางเก่า ไร่ละ 1 หมื่นบาท แต่ชาวสวนยางจังหวัดบึงกาฬสนใจเข้าร่วมโครงการตัดโค่นต้นยางในจังหวัดบึงกาฬแค่เพียงบางส่วนเท่านั้น

เกษตรกรชาวสวนยางบึงกาฬส่วนใหญ่ยังสู้ไหว เพราะร้อยละ 80 กรีดยางโดยใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก ขณะเดียวกันเกษตรกรส่วนใหญ่มองว่า การทำสวนยาง มีรายได้เข้ากระเป๋าทุกเดือนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเทียบกับรายได้จากการทำนา ที่ทำได้เพียงปีละครั้ง ดังนั้นเกษตรกรบึงกาฬส่วนใหญ่จึงเลือกฝากอนาคตของพวกเขาไว้กับ “อาชีพการทำสวนยางพารา” เหมือนเดิม

ฝากการบ้านถึงรัฐบาล

คุณนิพนธ์ ฝากการบ้านให้รัฐบาลช่วยปลดล็อกกฎหมายการจัดซื้อสินค้า โดยเปิดโอกาสให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดซื้อผลิตภัณฑ์ยางพาราแปรรูป ซึ่งผลิตโดยสถาบันเกษตรกร เช่น หมอนยางพารา ที่นอนยางพารา สนามเล่นตะกร้อ สนามฟุตซอล ฯลฯ ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงพยาบาล ฯลฯ เพราะนอกจากประชาชนจะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวแล้ว ยังช่วยระบายยางพาราออกจากตลาด ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำไปพร้อมๆ กัน

หากหน่วยงานภาครัฐต้องการสร้างสนามวอลเลย์บอล โดยใช้แผ่นยางปูพื้น จะมีค่าประมูลจัดซื้อ ประมาณ 4 แสนกว่าบาทต่อสนาม แต่หากปลดล็อกกฎหมายประมูลจัดจ้าง เปิดโอกาสให้หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น จากสถาบันเกษตรกรได้ จะประหยัดงบประมาณภาครัฐได้ก้อนโต เพราะสหกรณ์ฯ สามารถผลิตแผ่นยางปูพื้นสนามวอลเลย์บอลได้ในราคาเพียง 150,000 บาท เท่านั้น เท่ากับรัฐบาลมีงบจัดซื้อสนามวอลเลย์บอลใหม่สำหรับท้องถิ่นถึง 3 สนาม โดยใช้วงเงินเท่าเดิม

“ผมอยากให้รัฐบาลพิจารณาปลดล็อกกฎระเบียบใหม่ เปิดทางให้หน่วยงานภาครัฐ เช่น โรงพยาบาลชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 400 แห่ง ทั่วประเทศ รวมทั้งกรมกองทหารที่ฝึกทหารเกณฑ์ สามารถจัดซื้อหมอนยางพารา ที่นอนยางพารา ที่ผลิตโดยกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา ไปใช้ในหน่วยงานของตัวเองได้ วิธีนี้จะช่วยสต๊อกยางพาราในท้องตลาด ยกระดับราคายางให้ปรับตัวสูงขึ้นได้อีกทางหนึ่ง” คุณนิพนธ์ กล่าว

“แปรรูปยาง” สร้างมูลค่าเพิ่มได้ไม่รู้จบ

อาจารย์นพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย ได้แนะนำแนวทางการแปรรูปยางพารา ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้หลากหลายรูปแบบ เช่น “แผ่นยางกันลื่น” ใช้ทดแทนกระเบื้องในห้องน้ำ เป็นสินค้าขายดี มีราคาถูก และเป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง

หมอนยางพารา

“หมอนยางพารา” ผลงานของ ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ จำกัด กำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในประเทศและตลาดส่งออก เพราะสินค้ามีคุณภาพดี ขายราคาถูก เพียงแค่ใบละ 400 บาท ขณะที่หมอนยางพาราที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป อยู่ที่ใบละพันกว่าบาทถึงสามพันบาท ผู้ซื้อทั้งเวียดนามและจีนสนใจสินค้าหมอนยางของชุมชนสหกรณ์ฯ จำนวนมาก สำหรับจีนได้ยื่นขอจดทะเบียนการค้าว่า “บึงกาฬ” ก่อนนำไปวางขายในประเทศจีนในปีนี้

เปิดโรงงานแปรรูปยาง 5 แห่ง ใน ปี’ 62

ภายหลังจากรัฐบาลได้รับอนุมัติงบประมาณกลุ่มจังหวัด จำนวน 193.7 ล้านบาท เพื่อนำไปสร้างโรงงานแปรรูปยางพารา จำนวน 5 แห่ง บนพื้นที่ 37 ไร่ บ้านตาลเดี่ยว ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ ประกอบด้วย

1. โรงงานแปรรูปหมอนยางพารา มีกำลังการผลิต 6,000 ใบ/วัน ใช้น้ำยางสด 30 ตัน/วัน

2. โรงงานแปรรูปที่นอนยางพารา กำลังการผลิต 100 ผืน/วัน รวมใช้น้ำยางสด 40 ตัน/วัน

3. โรงงานแปรรูปยางแผ่นรมควัน ใช้น้ำยางสดประมาณ 15 ตัน

4. โรงงานแปรรูปน้ำยางข้น

5. โรงงานแปรรูปยางลูกขุน ใช้ยางแผ่นมาอัดเป็นก้อน โดยต้องการใช้น้ำยางสดสำหรับแปรรูป วันละ 85 ตัน/วัน

คุณนิพนธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการก่อสร้างโรงงานทั้ง 5 แห่ง คืบหน้าไปมากแล้ว คาดว่าการก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 3-4 เดือนข้างหน้า และพร้อมเปิดดำเนินงานประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2562 เมื่อการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ทางจังหวัดบึงกาฬวางแผนส่งมอบโรงงานดังกล่าวให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ เป็นผู้ดูแลกิจการต่อไป ซึ่ง อบจ. บึงกาฬ จะมอบให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มสถาบันเกษตรกรเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจการดังกล่าวแทน

โรงงานแปรรูปยางของสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ “บึงกาฬรับเบอร์กรุ๊ป”

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้บริหารสำนักงบประมาณ ได้มีโอกาสเดินทางไปตรวจเยี่ยมกิจการแปรรูปยางพาราของจังหวัดบึงกาฬ และชื่นชมความสำเร็จของ “บึงกาฬโมเดล” ที่เกิดจากการผลักดันของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ท่านพินิจ จารุสมบัติ เนื่องจากการแปรรูปยาง เป็นวิธีแก้ไขปัญหายางพาราได้ดีที่สุด เพราะเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราและช่วยระบายยางพาราออกจากตลาดได้มาก

“ในอนาคต ทาง อบจ. บึงกาฬ จะมุ่งพัฒนาต่อยอดให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราในรูปแบบใหม่ๆ เช่น นำยางแผ่นมาแปรรูปเป็นยางแผ่นปูพื้นสนามฟุตซอล สนามวอลเลย์บอล สนามเตะตะกร้อ แผ่นยางปูรองสระ รองเท้ายาง ฯลฯ ” คุณนิพนธ์ กล่าว

สร้างถนนยางพาราเพิ่มขึ้น

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้นำเสนอนวัตกรรม “ถนนยางพาราดินซีเมนต์”ผลงาน ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ ที่ทดลองใช้น้ำยางสดไปผสมกับปูนซีเมนต์สำหรับสร้างถนน ปรากฏว่าถนนยางพาราใช้งานได้ดี ทนทานต่อการใช้งาน เพราะลดการซึมผ่านของน้ำ ลดการเเตกร้าว เพิ่มความยืดหยุ่น โดยได้ความเเข็งจากปูนและได้ความยืดหยุ่นจากยางพารา ระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้ยางพาราประมาณ 200 ตัน เป็นการส่งเสริมการแปรรูปยางในประเทศอีกรูปแบบ และส่งผลดีต่อเกษตรกรชาวสวนยางพาราในอนาคต

ในปีนี้ อบจ. บึงกาฬ วางแผนก่อสร้างถนนยางพาราเพิ่มมากขึ้นโดยสร้างถนนยางพารา เชื่อมโยงระหว่างตำบล ในเบื้องต้นคำนวณค่าจัดซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกร ในอัตรา กิโลกรัมละ 65 บาท แต่ทุกวันนี้ น้ำยางสด ขายในราคากิโลกรัมละ 32 บาท เท่ากับต้นทุนการทำถนนยางพารามีราคาถูกลง มีต้นทุนต่อตารางเมตรไม่เกิน 300 บาท เรียกว่า สามารถสร้างถนนที่มีต้นทุนต่ำ แต่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะนี้ อบจ. บึงกาฬ กำลังรอให้กรมบัญชีกลาง เป็นผู้อนุมัติแผนการจัดซื้อน้ำยางสดจากสหกรณ์การเกษตรฯ สำหรับใช้ก่อสร้างถนนยางพาราเสียก่อน หากปลดล็อกกฎระเบียบดังกล่าว จะเปิดโอกาสให้ อบจ. บึงกาฬ สามารถประมูลจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที เพื่อขยายการก่อสร้างถนนยางพาราให้มากขึ้นเท่าที่จะทำได้

การสร้างถนนยางพาราบึงกาฬ

“ในช่วงจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ มจพ. เตรียมทดลองสร้างถนนยางพารารูปแบบใหม่ โดยรองพื้นถนนด้วยดินลูกรัง ความหนา 25 เซนติเมตร บดอัดแน่น ให้ดินลูกรังเหลือ 15 เซนติเมตร เทราดด้วยน้ำยางสดอีกครั้ง หากสร้างถนนยางพาราระยะทาง 1 กิโลเมตร ใช้น้ำยางสดประมาณ 1 ตัน ก็คงจะเพียงพอที่จะทำให้ถนนยางพารามีความแข็งแรงทนทานสำหรับการใช้งานตามที่ต้องการ” คุณนิพนธ์ กล่าว

ปัจจุบัน ถนนยางพาราที่กรมทางหลวงดำเนินงานก่อสร้างใช้น้ำยางพาราเพียงแค่ 5% เท่านั้น แต่นวัตกรรมการก่อสร้างถนนยางพารา ของ มจพ. ใช้ปริมาณน้ำยางสดในปริมาณที่มากกว่า ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้หน่วยงานที่สนใจนำแนวคิดไปใช้ ช่วยเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางพารามากขึ้นในอนาคต

จัดงานยางพาราบึงกาฬอย่างยิ่งใหญ่

การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬในช่วงปลายปีนี้ อบจ. บึงกาฬ ในฐานะผู้จัดงานหลัก เตรียมนำเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับการปลูก การแปรรูป และด้านตลาดยางพาราอย่างครบวงจร ตอกย้ำบทบาทผู้นำตลาดยางพาราของจังหวัดบึงกาฬ ภายในงานจะมีการแข่งขันฟุตซอล ซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมา สนามฟุตซอล นับเป็นนวัตกรรมการแปรรูปยางพาราอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ช่วยเพิ่มสนามกีฬาให้เยาวชนได้ใช้ออกกำลังกายห่างไกลจากยาเสพติด

ในปีนี้ อบจ. บึงกาฬ เตรียมเชิญผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศเข้ามาเยี่ยมชมงานวันยางพาราบึงกาฬ เพื่อเรียนรู้แนวคิด “บึงกาฬโมเดล” ที่ใช้แก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรอื่นๆ ได้ต่อไป

การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลดีในหลายประการ เช่น

1. พัฒนาการผลิตยางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ช่วยให้เกษตรกรได้เรียนรู้การผลิตยางพาราที่ดีมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการแปรรูปยาง และขยายตลาดยางพาราของไทยสู่เวทีตลาดโลก สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล

2. ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางให้เกิดความเข้มแข็ง เช่น ชุมนุมสหกรณ์ฯ เจ้าของกิจการโรงงานแปรรูปหมอนยาง

3. เมื่อโรงงานแปรรูปยางพารา 5 แห่ง เสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดดำเนินการ จะมุ่งรับซื้อน้ำยางสดเป็นหลัก ช่วยให้เกษตรกรทำงานได้ง่ายขึ้น ประหยัดต้นทุน ไม่ต้องเสียเงินซื้อกรดน้ำส้ม ประหยัดเวลาการทำงาน แถมมีสุขภาพดีขึ้น เพราะไม่ต้องเสี่ยงสูดดมสารเคมี และไม่มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกับการผลิตยางก้อนถ้วย

จังหวัดบึงกาฬ และองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)บึงกาฬ  ขอเชิญชวนเกษตรกรชาวสวนยางพาราและผู้สนใจเข้าร่วมชมงาน “วันยางพาราบึงกาฬ 2562” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 13-19 ธ.ค.2561 ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ  จังหวัดบึงกาฬ ภายใต้แนวคิด“บึงกาฬ ศูนย์กลางยางพารา เศรษฐกิจก้าวหน้า การค้าก้าวไกล”

กิจกรรมไฮไลท์ในวันยางพาราบึงกาฬ

สำหรับการจัดงาน “วันยางพาราบึงกาฬ 2562” ในครั้งนี้ จัดงานยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งที่ผ่านมา  โดยจัดแบ่งโซนนิทรรศการและกิจกรรมออกเป็น 12 โซน อาทิ โซนบึงกาฬรวมใจ เทิดไท้องค์ราชา จัดแสดงสวนไฟเฉลิมพระเกียรติอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมด้วยนิทรรศการ “ปกแผ่นดิน…บดินทร” เล่าเรื่องจากปกหนังสือพิมพ์ หนังสือ และนิตยสารต่างๆ ตั้งแต่ประสูติจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงนิทรรศการภาพกิจกรรมจิตอาสาโครงการ “เราทำความดีด้วยหัวใจ” และภาพที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวบึงกาฬ โซนบึงกาฬเมืองก้าวหน้า นำเสนอยุทธศาสตร์ทิศทางการพัฒนาและวิสัยทัศน์ในการสร้างบึงกาฬให้น่าอยู่ ยุทธศาสตร์และผลงานที่พร้อมผลักดันให้ชุมชนเข้มแข็งขององค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ เรียนรู้ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กับศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา พร้อมกิจกรรมร่วมแสดงความคิดเห็น “ไปไหนดีที่บึงกาฬ”

โซนบึงกาฬลานเด็กเล่น ปีนี้มีความพิเศษที่กิจกรรมห้องเรียนธรรมชาติ กับการสอนทักษะดูนกเบื้องต้น และพาไปดูนกที่บึงโขงหลง พื้นที่ชุ่มน้ำโลกในจังหวัดบึงกาฬ ที่มีนกกว่า 167 ชนิด, ห้องเรียนท้องฟ้าและวิทยาศาสตร์ สนุกได้ความรู้กับการดูเมฆ, ห้องเรียนศิลปะกับเทคนิคการระบายสีไม้ สีน้ำ วาดการ์ตูน และกิจกรรมมหัศจรรย์การพับกระดาษแบบโอริงามิ “เสกกระดาษ…สร้างศิลป์สนุก”

นอกจากนี้มี โซนเปิดโลกยางพารา นวัตกรรมการค้าและการลงทุน นำเสนอนิทรรศการความสามัคคีในกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดบึงกาฬ นำไปสู่การรวมกลุ่มกันจัดตั้งสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ “บึงกาฬรับเบอร์กรุ๊ป” รวมถึง “บึงกาฬโมเดล” นำเสนอความเปลี่ยนแปลงและการเติบโตอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ถือเป็นจุดแข็งในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของบึงกาฬที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศ  ในโซนนี้ ยังได้นำเสนอการต่อยอดไปสู่นวัตกรรมต่างๆ อาทิ สนามฟุตซอลจากยางพารา 100% และหมอนยางพารา ของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดบึงกาฬ

โซนนวัตกรรมยางพารา ของ กยท. (แฟ่มภาพการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2560 )

โซนเวทีปราชญ์ชาวบ้าน รวบรวมหัวข้อเสวนา และวิทยากรที่ดีที่สุดมาให้ความรู้ในเรื่องยางพารา เพื่อสร้างความรู้สู่รายได้ ด้วยการให้ความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป และการวิจัยอุตสาหกรรมยางพารา จากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมถึงปราชญ์แผ่นดิน และเกษตรกรตัวอย่าง อาทิ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำเสนอผลงานนวัตกรรมจากยางพารา, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กับนวัตกรรม “สารจับยาง IR” สำหรับน้ำยางพาราความเข้มข้นต่ำ ที่ใช้สำหรับแยกเนื้อยางพาราออกจากน้ำ ช่วยแก้ปัญหาน้ำยาง DRC (Dry Rubber Content) ต่ำ พร้อมการเสวนา “ถนนยางพาราดินซีเมนต์ ทางรอดของการใช้ยางพารา” อีกหนึ่งผลงานการต่อยอดยางพาราจาก มจพ.

และ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) จะมาให้ความรู้ พร้อมกับการจัดแสดงผลิตภัณฑ์เพื่อชาวสวนยางพารา อาทิ “สารบีเทพ (BeTHEP)” สำหรับรักษาสภาพน้ำยางสดเพื่อแปรรูปยางแผ่น ช่วยยืดอายุยางสดได้นานกว่าเดิม, “ParaFIT” น้ำยางพาราข้นสำหรับทำผลิตภัณฑ์โฟมยางที่มีจุดเด่นเรื่องปริมาณแอมโมเนียต่ำกว่าน้ำยางพาราข้นทางการค้า 30 – 75% และ “กาวดักแมลงจากน้ำยางพารา (ParaTRAP)” พัฒนาและออกแบบให้สะดวกต่อการใช้งาน

ในโซนนี้ยังมีกิจกรรมสาธิตเมนูอาหาร โดยเชฟจารึก ศรีอรุณ อาจารย์ประจำหลักสูตรอุตสาหกรรมอาหารและการบริการ และผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ศูนย์ปฏิบัติการอาหารนานาชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เพื่อให้พี่น้องที่สนใจได้นำความรู้ไปเป็นช่องทางเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับไฮไลท์สำคัญในภาคบันเทิงของงานปีนี้ คือ การแข่งขัน “ไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ 2019” แชมป์ชนแชมป์ จากโรงเรียนแชมป์ถ้วยพระราชทานฯ ได้แก่ โรงเรียนเทพมิตรศึกษา จ.สุราษฎร์ธานี, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการนนทบุรี, โรงเรียนปักธงชัยประชานิรมิต จ.นครราชสีมา, โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์ จ.อ่างทอง, โรงเรียนบึงกาฬ จ.บึงกาฬ และโรงเรียนประจำอำเภอ ทั้ง 7 อำเภอของจังหวัดบึงกาฬ ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 500,000 บาท โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดนตรีระดับประเทศ ได้แก่ ครูสลา คุณวุฒิ, ครูเทียม ชุติเดช ทองอยู่, และครูเรืองยศ พิมพ์ทอง มาเป็นคณะกรรมการตัดสิน

การแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ประเทศไทย

ภายในงานยังมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกอีกมากมาย อาทิ การแข่งขันกรีดยางพาราชิงแชมป์ประเทศไทย, การแข่งขันลับมีดกรีดยางพารา, การแข่งขันกองเชียร์ยางพารา และพลาดไม่ได้กับครั้งแรกของการแข่งขันบึงกาฬฟุตซอลคัพ 2019 รวมทั้งคอนเสิร์ตส่งท้ายปีจากศิลปินระดับประเทศ รวมไปถึงกิจกรรม “Check in Bueng Kan” ที่ให้ผู้เข้าร่วมงานได้โพสต์ภาพบรรยากาศภายในงาน พร้อมติด #RubberDay2019 และกิจกรรม “Bueng Kan Passport” เพื่อลุ้นรับของรางวัลสุดพิเศษภายในงาน