เผยแพร่ |
---|
นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาพรวมรายได้ของเกษตรกร วัดจากดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนพฤศจิกายน 2561 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2560 ร้อยละ 4.96 โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นาเดือนพฤศจิกายน 2561 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2560 ร้อยละ 2.12 สินค้าที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความต้องการของ โรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์และมันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น และเป็นช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยวหัวมันสำปะหลังเริ่มทยอยออกสู่ตลาด
สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ยางพารา ราคาลดลงเนื่องจากมีการชะลอซื้อขายในตลาดล่วงหน้า จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศเศรษฐกิจหลักปาล์มน้ำมันราคาลดลงเนื่องจากภาวะการค้าในประเทศรวมทั้งการส่งออกชะลอตัว และไก่เนื้อ ราคาลดลง เนื่องจากผลผลิตไก่เนื้อออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคมีไม่มากนัก
ด้านดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเดือนพฤศจิกายน 2561 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2560 ร้อยละ 2.90 สินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ ส่วนสินค้าสำคัญที่ดัชนีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิ สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาว แวนนาไม
หากมองแนวโน้มดัชนีรายได้เกษตรกรในเดือนธันวาคม 2561 คาดว่า แนวโน้มรายได้ของเกษตรกร ลดลงจากเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 3.84 เป็นผลมาจากดัชนีผลผลิตที่ปรับตัวลดลง ร้อยละ 2.46 โดยสินค้าสำคัญที่มีผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก อ้อยโรงงาน สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และกุ้งขาวแวนนาไม และดัชนีราคาปรับตัวลดลง ร้อยละ 1.41 ซึ่งสินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา สับปะรด ปาล์มน้ำมัน และไก่เนื้อ
ทั้งนี้ สินค้าสำคัญที่มีผลผลิตออกมากในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ได้แก่ ลำไย เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยนอกฤดู อย่างไรก็ตาม เดือนมกราคม 2562 คาดว่า ดัชนีรายได้เกษตรกรจะยังทรงตัว โดยดัชนีราคามีแนวโน้มลดลง ขณะที่ดัชนีผลผลิตคาดว่าใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา