ไทยเฮ! อียู ปลดใบเหลืองประมง-‘บิ๊กฉัตร’ ปลื้มวางแผนผนึกอาเซียนปลอด ไอยูยู

อียูปลดใบเหลืองประมง – เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 8 ม.ค. 2562 ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) เป็นหัวหน้าคณะทำงานของไทย ร่วมหารือทวิภาคีความร่วมมือด้านการประมงไทย-สหภาพยุโรป กับ นายเคอเมนู เวลลา (Mr.Karmenu Vella) กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries) ณ สำนักงานใหญ่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป

และเมื่อสิ้นสุดการประชุมฯ เวลา 11.00 น. นายเคอเมนู เวลลา กล่าวว่า ทาง อียู ได้พิจารณาปลดใบเหลืองประมงของประเทศไทย ซึ่งเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาครั้งนี้ หลังให้ใบเหลืองเมื่อ 21 เม.ย. 2558 เพราะไทยได้ดำเนินการในการกำกับดูแลและประมงได้เป็นมาตรฐานสากล ส่วนที่สื่อมวลชนได้สอบถามว่าการปลดใบเหลืองของประมงไทยเกิดจากการที่ไทยจะเป็นประชาธิปไตย เพราะมีการกำหนดกรอบเวลาเลือกตั้งชัดเจน ในปี 2562 ทาง อียู ยืนยันว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาใบเหลือง หรือปลดใบเหลืองของการทำประมงที่ยั่งยืน

พล.อ. ฉัตรชัย กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและความสำเร็จที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันพยายามแก้ไขปัญหาการทำประมง ไอยูยู มาโดยตลอด เนื่องจากตลอดช่วงเวลาเกือบ 4 ปี นับตั้งแต่ไทยได้ใบเหลืองเมื่อเดือน เม.ย. 2558 ไทยได้มุ่งมั่นแก้ไขปัญหา ไอยูยู จนมีผลเป็นรูปธรรมอย่างครอบคลุมทั้งในด้านกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การบริหารจัดการกองเรือ การติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) การตรวจสอบย้อนกลับ และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งทำให้ไทยสามารถแสดงความรับผิดชอบและบทบาททั้งในฐานะรัฐเจ้าของธง รัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของท่าและรัฐตลาด ในระดับของมาตรฐานสากล ส่งผลให้สหภาพยุโรปปลดใบเหลืองให้ไทย ซึ่งสะท้อนความสำเร็จที่ไทยได้ยกระดับของการทำประมงเชิงพาณิชย์ ทั้งในและนอกน่านน้ำเข้าสู่มาตรฐานสากล และพร้อมที่จะเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค

“ไทยกำหนดแก้ไขปัญหา ไอยูยู เป็นวาระแห่งชาติ โดยนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ผมมากำกับดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และเชื่อมั่นว่าไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมง ไอยูยู ไว้อย่างสมบูรณ์แล้ว ประกอบด้วย 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ 1. ด้านกฎหมาย 2. ด้านการบริหารจัดการประมง 3. ด้านการบริหารจัดการกองเรือ 4 ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) 5. ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ 6. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย”

พล.อ. ฉัตรชัย กล่าวว่า การดำเนินการระยะต่อไปหลังการเจรจาระดับทวิภาคีร่วมกับ นายเคอเมนู เวลลา กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง และไทย จะดำเนินการตามแผนงานของสหภาพยุโรปเพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมง ไอยูยู หรือ ไอยูยู ฟรี โดยสมบูรณ์ต่อไป รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคของอาเซียน ในฐานะไทยเป็นประธานอาเซียน ในการแก้ไขปัญหาการทำประมง ไอยูยู ร่วมกันด้วย ประกอบด้วย 3 แผนหลัก ได้แก่ 1. การจัดตั้งคณะทำงานไทย-สหภาพยุโรป เรื่องการต่อต้านการทำประมง ไอยูยู โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้การมีจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเป็นกลไกร่วมมือในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง 2. การจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมง ไอยูยู หรือ ASEAN IUU Task Force เนื่องจากประสบการณ์การแก้ไขปัญหาการทำประมง ไอยูยู ที่ไทยสั่งสมเกือบตลอด 4 ปี ที่ผ่านมา ไทยพร้อมที่จะร่วมแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน

“ไทยในฐานะประธานอาเซียนมีแนวคิดหลักที่จะส่งเสริมหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนด้วย โดยไทยได้เสนอที่จะผลักดันการจัดทำนโยบายประมงอาเซียน (ASEAN General Fisheries Policy) ให้มีผลเป็นรูปธรรม รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานร่วมอาเซียนเพื่อป้องกันและปราบปรามการทำประมง ไอยูยู (ASEAN IUU Task Force) เพื่อเป็นกลไกการป้องกันการทำประมงไอยูยูของภูมิภาคด้วย โดยนายกรัฐมนตรีก็ได้แถลงให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทราบถึงความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องนี้แล้ว โดยไทยกำลังเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ASEAN IUU Workshop ในช่วงเดือน เม.ย. 2562 เพื่อผลักดันการจัดตั้ง ASEAN IUU Task Force และซึ่ง อียู พร้อมจะสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับการจัดประชุมฯ”

พล.อ. ฉัตรชัย กล่าวว่า สำหรับประเด็นที่ 3 คือ การส่งเสริมการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมง ไอยูยู หรือ IUU-free Thailand ตามที่ไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการประมงปลอดจากสัตว์น้ำและสินค้าประมงจากการทำประมง ไอยูยู และได้เชิญผู้แทน อียู เข้าร่วมประชุม เมื่อเดือน ธ.ค. 2561 ซึ่งทาง อียู ได้มอบหมายให้ นายโรแบร์โต เซซารี (Roberto Cesari) หัวหน้าฝ่ายนโยบาย ไอยูยู ของกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง (DG MARE) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อนำเสนอการดำเนินงานด้านการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นหนึ่งในแนวทางที่ไทยจะศึกษาเพื่อใช้ในการพัฒนาแผนงานการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำของไทย และนำไปสู่ IUU-freeThailand ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นต่อไป

“ความร่วมมือระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ที่ผ่านมา โดยเฉพาะข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีของการทำประมงที่ยั่งยืนที่ให้แก่ไทยมาโดยตลอด และส่งผลต่อความสำเร็จของไทยในวันนี้ สะท้อนถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปต่อไป ขณะเดียวกันยังแสดงถึงความพร้อมของไทยที่จะมีบทบาทนำในการส่งเสริมความยั่งยืนทางทะเลในทุกมิติในระดับภูมิภาคและในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับสหภาพยุโรปด้วย”

พล.อ. ฉัตรชัย กล่าวว่า รัฐบาลกำหนดระเบียบปฏิบัติเพื่อการปฏิรูปการประมงพร้อมกับปฏิรูปกฎหมายกำกับดูแลประมงรวม 130 ฉบับ การดำเนินแก้ไขปัญหาทั้งหมด พบว่า การจับปลาในน่านน้ำไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นจาก ปี 2558 จากที่จับปลาได้ลำละ 90 ตัน ต่อปี 2559 เพิ่มเป็น 113 ตัน ต่อปี และ 2560 เพิ่มเป็น 125 ตัน ต่อปี เฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 35 ตัน ต่อลำ ภายใต้เป้าหมายแก้ปัญหาทุกภาคส่วน โดยการกำหนดจำนวนเรือ จำนวนท่าเทียบเรือ วิเคราะห์เป้าหมายและกำหนดกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวประมง โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้ชาวประมงปฏิบัติได้ ภายใต้กรอบกติกาสากล, ความยั่งยืน ประกอบด้วย เรือถูกต้อง และแรงงานถูกต้อง การทำประมงถูกต้อง

ปัจจุบัน เรือประมงที่ถูกต้อง มีจำนวน 38,495 ลำ แยกเป็นเรือประมงพาณิชย์ จำนวน 10,565 ลำ หรือพื้นบ้าน จำนวน 27,930 ลำ จากก่อนหน้า ที่ไทยมีเรือจำนวนมากกว่า 50,000 ในของเรือประมงพื้นบ้าน จะบริหารจัดการให้แล้วเสร็จในช่วงปี 2562 เพื่อให้เรือทุกลำเป็นระบบสากล เป็นการยืนยันข้อมูลชาวประมงพื้นบ้านเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและชาวประมง เช่น การประสบภัยพิบัติการเข้าถึงแหล่งทุนเช่นเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์

ด้านแรงงานที่ถูกต้องนั้น ได้ปรับปรุงกฎหมายโดยการออกพระราชกำหนดบริหารแรงงานต่างด้าว พระราชบัญญัติปราบปรามแรงงาน พระราชบัญญัติแรงงานประมงทะเลอยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ตามรัฐธรรมนูญ การแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ส่งเสริมอนุสัญญา องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็นต้น ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลแรงงานประมงด้วย IRIS SCAN จํานวน 171,128 คน เฉพาะในเรือประมง 58,322 คน และใช้เครื่อง IRIS SCAN ที่ศูนย์เข้าออก เรือประมง (PIPO) ส่งเสริมการนําระบบแรงงานสัมพันธ์ในภาคประมงมาใช้โดยแต่งตั้งรองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพร้อมด้วย NGOs นักวิชาการ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของแรงงานประมงไทยและข้ามชาติ ปัจจุบัน หลังจากที่มีการแก้ไขปัญหาแรงงานที่ถูกต้อง ส่งผลให้ไทยได้ปรับเลื่อนอันดับจาก TIER 2 WATCHLIST เป็น TIER 2

พล.ต.ท. จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี ประธานคณะทำงานบังคับใช้กฎหมาย ศปมผ. กล่าวว่า ปัจจุบัน คดีประมงที่ผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ภาคการประมง ตั้งแต่ พ.ศ. 2558-2561 รวมทั้งสิ้น 4,448 คดี พบว่า มีเรือประมงไม่ติดตั้งระบบการติดตามเรือประมง วีเอ็มเอส 2,054 คดี ไม่แจ้งจุดจอดรับเรือภายในเวลาที่กำหนด 171 คดี เรือสนับสนุนการประมงไม่ติดตั้งระบบ วีเอ็มเอส 38 คดี ไม่นำเรือมาทำอัตลักษณ์ 719 คดี เรือประมงนอกน่านน้ำไทย 80 คดี เรือประมงในน่านน้ำไทย 1,001 คดี เรือต่างชาติในน่านน้ำไทย 220 คดี โรงงานและสถานแปรรูปสัตว์น้ำ 77 คดี ค้ามนุษย์ในภาคประมง 88 คดี ปัจจุบัน คดีแล้วเสร็จ จำนวน 3,958 คดี คิดเป็น 89% ขอคดีทั้งหมด