ตลาดคมบาง เสน่ห์ตลาดชุมชนบ้านๆ อายุกว่า 100 ปี ที่จันทบุรี

ตลาดคมบาง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ห่างจากจังหวัดจันทบุรี 12 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางถนนสุขุมวิท ก่อนถึงจังหวัดตราด 54 กิโลเมตร เป็นตลาดชุมชนดั้งเดิมเล็กๆ ที่มีอายุกว่า 100 ปี คนซื้อ คนขาย อยู่ในชุมชนด้วยกันที่ใครมีอะไรในสวน ในไร่ หรือทำอาหาร ขนมอะไรเป็นก็นำมาขาย บางรายเป็นแม่ค้า พ่อค้ารายใหญ่ในท้องถิ่นนำผัก หมู ไก่ ของทะเลสดๆ มาขาย บางรายเป็นพ่อค้าเร่นำเครื่องใช้ เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์โทรศัพท์ เครื่องมือทำสวนเล็กๆ ตลอดจนเสื้อผ้าราคาถูกมาขายเช่นเดียวกับตลาดนัดทั่วไป

ปัจจุบันตลาดคมบางเป็นที่รู้จักมากขึ้น มีผู้คนจากตำบล อำเภอ และจังหวัดใกล้เคียง หรือผู้ที่ผ่านไป-มาแวะเวียนมาเที่ยวชมและจับจ่ายเพิ่มขึ้น  ด้วยความพิเศษและมีเสน่ห์ของตลาด 2-3 อย่าง คือ

1. เสน่ห์ของตลาดแบบบ้านๆ อาคารไม้เก่าอายุเกือบ 100 ปี อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เรียงรายสองฟากถนน มีถนนเล็กๆ ตัดกัน 3-4 เส้น เป็นทางแยกที่มุมหัวตลาด-ท้ายตลาด

2. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคมบางได้ทำข้อตกลงกับชุมชน ทั้งบ้านที่เปิดร้านขายของเองหรือบ้านที่ไม่ใช่ร้านค้าที่บริเวณริมถนนในตลาด ยอมให้ใช้พื้นที่บริเวณหน้าบ้านนำของมาวางขายได้ฟรีๆ แถมปิดถนนให้คนเดินซื้อได้อย่างสะดวกสบาย

3. ความน่ารักของตลาด เป็นตลาดผู้ซื้อพบผู้ขายโดยตรง ชาวบ้านในท้องถิ่นมีพืชผัก ผลไม้สดๆ ที่ปลูกและอาหาร-ขนมพื้นบ้านที่ทำมาขายราคาไม่แพง แสดงให้เห็นถึงอัธยาศัย น้ำใจ ไมตรีของผู้คน

4. ตลาดสดเช้าตรู่แบบธรรมชาติ ไม่มีการจัดวางระเบียบ ปรุงแต่งความสวยงามเหมือนตลาดชุมชนทั่วๆ ไป เริ่มตั้งแต่เวลา 05.30-08.30 น. ทุกวัน ช่วงเวลาเพียง 3 ชั่วโมง ผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของกันพลุกพล่านประมาณ 800-1,000 คน จะหายไป พร้อมๆ กับพ่อค้าแม่ค้าที่รับผิดชอบทำความสะอาดพื้นผิวถนนบริเวณหน้าบ้านที่วางสินค้าสองฝั่ง และถนนจะถูกแปรเปลี่ยนเป็นเส้นทางสัญจรตามปกติ

ตลาดชุมชนย่านการค้า อายุกว่า 100 ปี

ตู้โบราณร้านค้าสมัยรุ่นคุณพ่อ ของ อาจารย์เอนก ท่าม่วง

อาจารย์เอนก ท่าม่วง วัย 65 ปี บ้านเกิดที่ บ้านคมบาง ตำบลคมบาง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนแหลมสิงห์วิทยาคม อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า ตลาดคมบาง คาดว่ามีมามากกว่า 100 ปี ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อที่เปิดร้านค้าขายของจิปาถะอยู่ที่นี่และลูกๆ ได้สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ตลาดชุมชนแห่งนี้เดิมเป็นตลาดใหญ่ มีชุมชนใกล้เคียงบ้านหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี มาซื้อ-ขายจับจ่ายซื้อของที่นี่ด้วย อาชีพหลักทำสวนผลไม้ ส่วนใหญ่เป็นสวนมังคุด ลองกอง เงาะ และทุเรียน บ้านเรือนที่สร้างในตลาดเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น มีระเบียงไม้ชั้น 2 ประตู เป็นบานเฟี้ยม หลังคามุงกระเบื้องว่าว

“ส่วนใหญ่ 60 เปอร์เซ็นต์ ยังอนุรักษ์ไว้ มีเปลี่ยนแปลงสร้างบ้านแบบใหม่ๆ และปล่อยให้เก่าผุพังไปบ้าง เพราะเจ้าของบ้านไม่ได้อยู่เอง ให้เช่าและไม่ได้ดูแล บ้านเรือนเดิมๆ บางหลังเป็นร้านค้าจำหน่ายสินค้า ข้าวของที่จำเป็นแทบทุกอย่าง ตลอดจนอุปกรณ์ทำสวน ปัจจุบันแม้จะมีตลาดนัดชุมชนต่างๆ เกิดขึ้นมาก แต่ตลาดคมบางยังเป็นตลาดที่ชาวบ้านนิยมมาจับจ่ายซื้อของและยังมีความคึกคักอยู่ ซึ่งทางองค์การบริหารส่วนตำบลคมบางได้เข้ามาช่วยดูแลปรับพื้นผิวถนน ทำข้อตกลงกับชาวบ้านและบรรดาพ่อค้าแม่ค้า จัดแบ่งพื้นที่ให้คนละประมาณ 2 ตารางเมตร ให้ค้าขายฟรีบนผิวถนน แต่เน้นย้ำให้ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด เพื่อตลาดแห่งนี้อยู่ได้อย่างยั่งยืน”

อาจารย์เอนก บอกด้วยว่า เช้าตรู่ตั้งแต่ตี 5 พ่อค้าแม่ค้าทั้งคนพื้นบ้านและคนต่างถิ่นนำของมาขาย ช่วงเวลาตี 5 ครึ่ง ถึง 8 โมงครึ่ง ชาวบ้านจะมาจับจ่ายซื้อของ ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำในท้องถิ่นและละแวกบ้านใกล้เคียง 3-4 ตำบล พ่อค้าแม่ค้าที่ขายจะเป็นเจ้าประจำ 60-80 ราย และมีรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเป็นครั้งคราวบ้าง ผู้คนจะหาซื้อของกินของใช้กันอย่างคึกคัก ชั่วระยะเวลาเพียง 3 ชั่วโมง ตลาดนี้จะปิดลง เส้นทางถนนที่วางของขายจะเก็บกวาดสะอาดเรียบร้อย เปลี่ยนเป็นเส้นทางสัญจร ไม่เหลือร่องรอยของตลาดให้เห็นเป็นอย่างนี้ทุกวัน

ปัจจุบันตลาดคมบางเติบโตมากขึ้น เพราะรอบๆ ชุมชนเต็มไปด้วยสวนผลไม้ ล้งผลไม้ที่ต้องใช้คนงานจำนวนมาก โดยเฉพาะฤดูกาลเก็บเกี่ยว บริเวณใกล้เคียงวัดคมบางพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ศูนย์เรียนรู้ มีเส้นทางปั่นจักรยานและเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังตลาดชุมชนใกล้เคียงที่บ้านหนองบัว ทำให้มีการจับจ่ายซื้อของเพิ่มมากขึ้น ต้องการให้มีตลาดแบบนี้ตลอดไปเพราะอยู่ตลาดใกล้บ้าน ชุมชนได้รับความสะดวก สบาย ประหยัดค่าใช้จ่าย แถมชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น

ฤดูผลไม้ เส้นทางท่องเที่ยว
ตลาดขายดี เพิ่ม 1-2 เท่าตัว

นอกจากแม่ค้า พ่อค้าในชุมชนรายย่อย ที่เอาของในสวนที่มีหรือทำเองมาขายแล้ว ยังมีแม่ค้า พ่อค้าเร่ อีก 5-10 ราย ที่เร่ขายของไปตามตลาดนัดหลายแห่ง เช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ไฟฟ้า-โทรศัพท์ รวมทั้งแม่ค้าพ่อค้าประจำรายใหญ่ที่ขายของจำนวนมาก ต้องขนย้ายไปขายตลาดนัดอื่นๆ ด้วย เช่น ผัก เนื้อหมู ปลาทะเลสด

คุณปานเดชา ประชุมเวช เจ้าของร้านขายหมู “ร้านหมูหน้าตาดี” เล่าให้ฟังว่า เป็นชาวจังหวัดกาญจนบุรี มาเช่าบ้านเปิดร้านขายหมูมาเกือบ 10 ปีแล้ว เพราะเห็นว่าตลาดขายดี ตอนเช้าจะขายเนื้อหมูที่ตลาดคมบางตั้งแต่เวลา 05.30-12.30 น. ส่วนช่วงบ่าย 14.00-17.00 น. ไปขายที่ตลาดพลับพลา อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ที่อยู่ห่างออกไป 16 กิโลเมตร อีกแห่งหนึ่ง

“ตลาดคมบางผู้คนน่ารัก อยู่ได้อย่างมีระเบียบเรียบร้อยด้วยไม่ต้องมีใครมาดูแล คนขายไม่เสียค่าเช่า อาจจะมีบ้างบ้านที่เก็บค่าเช่าเล็กๆ น้อยๆ หน้าบ้าน เนื้อหมูส่วนใหญ่มีลูกค้าประจำ 20-30 ราย ซื้อกันทุกวัน ปกติขายเนื้อหมูเฉลี่ยวันละ 300-400 กิโลกรัม เพราะมีชุมชนตำบลใกล้เคียงและอำเภอขลุง มาซื้อด้วย แต่ถ้าเป็นช่วงเก็บผลไม้จะขายได้เพิ่มอีกเท่าตัว รวมทั้งอาหารทะเลสด พืชผักเครื่องใช้ต่างๆ ขายดีไปด้วยกัน ที่นี่ลูกค้าบางคนทอนเงินผิดไป 400-500 บาท หลายวันยังเอามาคืน ต้องการให้ชุมชนช่วยกันรักษาตลาดแห่งนี้ไว้ให้ยั่งยืนเพราะมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้น เพราะเป็นศูนย์จำหน่ายขายส่งผลไม้ และมีการพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน เป็นเส้นทางจักรยาน เป็นทางผ่านให้ผู้คนมาจับจ่ายเพิ่มมากขึ้น” คุณปานเดชา กล่าว

ด้าน คุณเรียม ถนอมจิตร แม่ค้าผักรายใหญ่ เล่าให้ฟังว่า เป็นคนพื้นเพในบ้านเนินโพธิ์ ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ขายผักมา 25 ปี โดยเช้าตรู่มาขายที่ตลาดนัดคมบาง เก็บของเสร็จ สายๆ ประมาณ 10.00 น. จะย้ายไปขายต่อที่ตลาดใกล้เคียงที่บ้านบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

ผักที่นำมาขายจะรับซื้อมาจากแม่ค้าขายส่งและมีผักของชาวบ้านแทบทุกชนิด เช่น ตะไคร้ ใบมะกรูด มะนาว พริกขี้หนูรวมอยู่ด้วย ผักที่ขายดีคือ ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ที่ตลาด ผักจะขายไม่แพงและดูเลือกให้มีคุณภาพ ที่นี่ไม่เสียค่าที่วางขายแต่ต้องดูแลจัดเก็บความสะอาดให้เรียบร้อยทุกครั้ง

ส่วน คุณอภิวัฒน์ สายทอง อายุ 38 ปี ชาวบ้านในตลาดคมบาง เล่าว่า บ้านที่เช่ามาตั้งแต่รุ่นปู่ ตัวเองเช่าต่อจากคุณอาที่เคยทำร้านตัดผม อายุบ้านเกือบ 100 ปี เจ้าของบ้านให้เช่าและให้ดูแลและซ่อมแซมเอง ด้วยคิดค่าเช่าเพียงเดือนละ 550 บาท เช่าอยู่กับภรรยา ทำอาชีพเลี้ยงครอบครัวด้วยการขายข้าวเหนียวไก่ย่างที่ตลาดมาร่วม 10 ปี โดยจะซื้อไก่จากตลาดสดมาย่างแบบแห้งๆ โดยไม่ใส่สี และทำน้ำจิ้ม และนึ่งข้าวเหนียวขายทุกวัน ปกติวันละ 10 กิโลกรัม แต่ถ้าเป็นช่วงเก็บผลไม้จะเพิ่มเกือบเท่าตัว ประมาณ 100 กิโลกรัม

เสน่ห์ตลาดคมบาง
ซื้อขายตามธรรมชาติไม่ปรุงแต่ง

คุณมยุรี แก้วมาดีงาม ลูกค้ารายหนึ่งของตลาดคมบาง เล่าว่า เป็นชาวชลบุรี แต่มาทำงานรับราชการที่จังหวัดตราด และก่อนเดินทางกลับบ้านทุกอาทิตย์ เช้าตรู่จะแวะมาซื้อของฝากทางบ้านในตลาดคมบาง เป็นลูกค้ามาประมาณปีเศษๆ สิ่งที่ชอบมากคือ บรรยากาศของตลาดที่เป็นบ้านโบราณๆ ที่เป็นธรรมชาติของการซื้อ-ขายจากพ่อค้าแม่ค้าในชุมชนล้วนๆ บางคนอายุมากแต่มีรอยยิ้มที่น่ารัก ใสๆ มานั่งขายเอง เชื่อว่าพืชผักพื้นบ้านปลอดสารเคมี อาหาร ขนมที่วางขายเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่มี ราคาถูก บางอย่างเป็นของหายาก และตลาดไม่มีการปรุงแต่งสีสัน จัดระเบียบเหมือนตลาดชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวดังๆ เป็นของเดิมล้วนๆ ปัจจุบันไม่ค่อยมีให้เห็น บางแห่งสร้างเป็นตลาดนัดติดแอร์ไปแล้วด้วย

สนใจเที่ยวชมตลาดคมบาง ช่วงเวลาที่ฮ็อตคือ 06.00-07.30 น. ไปยลเสน่ห์ตลาดชาวบ้านที่ซื้อขายกันด้วยรอยยิ้ม