เกษตรกรอยุธยา เลี้ยงแพะเน้นสร้างลูกพันธุ์คุณภาพ เกิดรายได้ตลอดปี

ในยุคนี้แพะเป็นอีกหนึ่งสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เพราะมีการเลี้ยงกันมากขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้เกษตรกรบางรายมีการปรับเปลี่ยนจากสมัยก่อนที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว มาปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรผสมผสานด้วยการเลี้ยงสัตว์เสริมเข้าไปในพื้นที่ ซึ่งแพะเป็นหนึ่งสัตว์เลี้ยงที่เกษตรกรต้องการนำมาเลี้ยงในพื้นที่ เพราะการเลี้ยงไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก และที่สำคัญผลิตลูกพันธุ์ให้ได้ไว จึงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงมีแนวทางการเลี้ยงไปแตกต่างกันไป ตามความถนัดและการตลาดที่ต้องการจะส่งแพะเพื่อจำหน่าย

คุณฮีม ไกรพันธุ์

คุณฮีม ไกรพันธุ์ อยู่บ้านเลขที่ 225/5 หมู่ที่ 6 ตำบลชายนา อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้ที่มีความสนใจในการเลี้ยงแพะ โดยครอบครัวมีความชำนาญในเรื่องของการทำปศุสัตว์อยู่แล้วคือ การเลี้ยงโค จากนั้นนำแพะเข้ามาเลี้ยง จึงทำให้เกิดรายได้หลากหลายช่องทาง ซึ่งการเลี้ยงแพะของเขาจะเน้นผลิตเป็นสายพันธุ์แท้ ส่งผลให้เวลาจำหน่ายสามารถได้ราคาที่สูงขึ้น

โรงเรือน

คุณฮีม เล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกเลี้ยงโคเนื้อเป็นอาชีพหลักของครอบครัว ต่อมาลูกชายรู้สึกสนใจในเรื่องของการเลี้ยงแพะ จึงได้ซื้อเข้ามาเลี้ยงภายในฟาร์มประมาณ 3-4 ตัว ในช่วงนั้น เมื่อเลี้ยงไปเรื่อยๆ แพะที่เลี้ยงสามารถผลิตลูกออกมาได้ดี จึงทำให้เกิดความคิดที่อยากจะเลี้ยงอยากจริงจัง จึงได้ซื้อเข้ามาเลี้ยงเรื่อยๆ และขยายพันธุ์อย่างเต็มที่ โดยสร้างเป็นพันธุ์แท้เพื่อจำหน่ายเป็นพ่อแม่พันธุ์ให้กับลูกค้าที่สนใจ
“แพะที่เลี้ยงทั้งหมดจะเป็นแพะเนื้อพันธุ์บอร์ เพราะตลาดมีความต้องการ แพะนี่สำหรับผมถือว่าผลิตลูกได้เร็ว เลี้ยงประมาณ 5 เดือน ก็สามารถให้ลูกได้แล้ว สำหรับผมจะเน้นเลี้ยงเพื่อสร้างเป็นสายพันธุ์ให้กับลูกค้า ไม่ได้เน้นเลี้ยงขายเป็นแพะเนื้อแบบสั่งกิโลขาย อย่างของเราเน้นเป็นพ่อแม่พันธุ์ ลูกค้าซื้อไปแล้วสามารถนำไปสร้างเป็นแม่พันธุ์หรือพ่อพันธุ์ในฟาร์มของตัวเองได้เลย” คุณฮีม บอก

คอกภายในโรงเรือน

การสร้างโรงเรือนสำหรับให้แพะอยู่นั้น คุณฮีม บอกว่า ต้องสร้างให้มีความสูงระดับที่เหมาะสม เพราะเวลาเข้าไปเก็บกวาดมูลแพะใต้โรงเรือนจะได้ทำงานได้สะดวก ส่วนขยายของโรงเรือนดูตามความเหมาะสม ว่าภายในฟาร์มมีขนาดแพะอยู่ที่เท่าไร ก็จะสร้างโรงเรือนให้มีขยายที่รองรับแพะภายในฟาร์มได้
แพะที่อายุเหมาะสมในการผสมพันธุ์ จะเน้นให้มีอายุอยู่ที่ 1 ปีขึ้นไป โดยการผสมพันธุ์จะมีตัวผู้ที่เลี้ยงเป็นพ่อพันธุ์ไว้เองภายในฟาร์มด้วย จึงทำให้สามารถทำการผสมพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะใช้พ่อพันธุ์ที่มีอยู่ภายในฟาร์เป็นหลัก หลังจากผสมพันธุ์ติดแล้วแม่พันธุ์ใช้เวลาตั้งท้องอยู่ที่ 5 เดือน จากนั้นแม่พันธุ์จะออกลูกมาให้ดูแล ซึ่งการดูแลลูกแพะที่ออกมาใหม่ๆ ไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ถ้าสังเกตเห็นว่าแม่แพะมีน้ำนมที่เลี้ยงลูกน้อย ก็จะหาซื้อนมจากที่อื่นเข้ามาเสริมให้กิน เพื่อให้ลูกแพะมีความสมบูรณ์มากขึ้น

พ่อพันธุ์ที่ใช้ผสมภายในฟาร์ม

“สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงแพะทั้งหมดภายในฟาร์ม ก็จะเป็นหญ้าที่ปลูกเองทั้งหมด เรามีการแบ่งพื้นที่สำหรับปลูกหญ้าเองให้แพะกินด้วย ทำให้เราสามารถประหยัดต้นทุนในการผลิตได้ นอกจากหญ้าแล้วก็มีอาหารเสริมจำพวกอาหารข้นต่างๆ เข้าไปด้วย ให้กินในช่วงเช้าก็จะช่วยให้แพะในฟาร์มมีความสมบูรณ์มากขึ้น ส่วนในเรื่องของการทำวัคซีนนั้น เราก็จะให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์เข้ามาจัดการให้ แพะทุกตัวจะมีแผนการทำวัคซีนทั้งหมดอย่างมีระบบ จึงทำให้ปลอดโรคไม่เกิดโรคระบาดที่ร้ายแรงจนแพะตาย” คุณฮีม บอก

สำหรับลูกแพะที่เลี้ยงจนได้อายุ 4 เดือนแล้ว จะค่อยๆ พรากลูกแพะออกจากแม่ โดยมาขังแยกในคอกอื่นๆ จากนั้นเลี้ยงด้วยอาหารที่เหมือนแพะตัวอื่นๆ ทั่วไปที่โตเต็มที่แล้ว เลี้ยงระยะเวลาไม่นานก็จะติดต่อให้ลูกค้าเข้ามาซื้อได้ทันที

การจำหน่ายแพะพันธุ์บอร์ภายในฟาร์ม คุณฮีม บอกว่า ไม่ต้องไปโทร.หาหรือต้องติดต่อให้ลูกค้าที่ไหนเข้ามารับซื้อ แต่จะมีพ่อค้าหรือกลุ่มลูกค้าที่ต้องการเข้ามาติดต่อซื้อขายเองถึงหน้าฟาร์มอยู่เป็นระยะ เพราะแพะที่จำหน่ายเป็นแพะดีมีคุณภาพ เน้นเป็นสายพันธุ์ที่มีเลือดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ลูกค้าที่ต้องการนำแพะสายพันธุ์นี้ไปสร้างเป็นพ่อแม่พันธุ์ในฟาร์มของตัวเอง ก็จะเข้ามาติดต่อขอซื้ออย่างต่อเนื่องทุกเดือน

“แพะนี่ในเรื่องของการทำตลาด ถ้าเรามีการวางแผนเลี้ยงที่ดี ตลอดปีเราสามารถจำหน่ายได้เรื่อยๆ ซึ่งแพะที่มีอายุอยู่ที่ 5-6 เดือน ราคาขายจะอยู่ที่ตัวละ 25,000-30,000 บาท ต่อตัว ซึ่งต่อตัวราคาจะอยู่ที่ประมาณนี้ อย่างที่บอกแพะเราเน้นขายเป็นพ่อแม่พันธุ์เป็นหลัก ลูกค้าที่ซื้อไปสามารถนำไปปรับปรุงพันธุ์ในฟาร์มเขาได้ทันที ดังนั้น สำหรับเกษตรกรรายอื่นๆ หรือผู้ที่เริ่มอยากจะเลี้ยงแพะ ผมก็จะแนะนำว่า อาจจะหาซื้อลูกพันธุ์ที่เป็นพันธุ์ผสมเข้ามาเลี้ยงก่อน อย่าเน้นไปที่พันธุ์เลือดร้อยมากนัก เพราะจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูง พอการเลี้ยงมีการพัฒนามากขึ้น เกิดความชำนาญจึงค่อยๆ พัฒนาต่อไป สร้างเป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพก็จะช่วยให้จำหน่ายได้ราคาดี ตามไปด้วย” คุณฮีม บอก

คุณฮีมและลูกชาย

สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงแพะต้องการคำปรึกษาในเรื่องต่างๆ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณฮีม ไกรพันธุ์ หมายเลขโทรศัพท์ (086) 251-2206, (089) 815-2702