ที่มา | เทคโนโลยีการปศุสัตว์ |
---|---|
ผู้เขียน | มัรวาน หะยีเจ๊ะและ |
เผยแพร่ |
นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน แวะไปที่ PJ. Farm Coat ซึ่งเป็นฟาร์มที่มีการเลี้ยงแพะเนื้อสายพันธุ์บอร์ และด้วยเส้นทางในการลงทุนที่มีไม่มากแต่ค่อยๆ ไต่ขึ้นจนพลิกผันสู้ชีวิตมาเป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงแพะมาถึงทุกวันนี้
คุณประจบ วรินทรเวช บ้านเลขที่ 84 หมู่ที่ 6 ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าว่า เมื่อก่อนพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่มีการปลูกยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน วิถีชีวิตของคนในชุมชนหันมาทำเกษตรแบบผสมผสานโดยการเลี้ยงวัวเข้าไปด้วย สุดท้ายต้องเจอกับปัญหาพื้นที่ในการเลี้ยงที่ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องหันมาศึกษาเรื่องแพะ ซึ่งใช้เวลาในการศึกษาพอสมควรก่อนที่จะซื้อแพะมาเลี้ยง ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ก็ซื้อแพะมา 2 ตัว เป็นเพศเมีย ทั้ง 2 ตัว อายุแค่ 4 เดือน มาปล่อยไว้ในสวนยางพาราเพื่อให้แพะได้เข้ามากินหญ้าเป็นอาหาร หลังจากนั้นอยู่ไม่นาน ก็ได้ซื้อแพะเพศผู้มาอีก 1 ตัว ซึ่งการตัดสินใจซื้อในครั้งนั้นก็เพื่อที่จะนำมาผสมพันธุ์กับตัวเมียที่เคยซื้อก่อนหน้านี้ ต่อมาก็ได้ผสมพันธุ์กันทั้ง 2 ตัว ผลปรากฏว่าการผสมพันธุ์ในครั้งนั้น ก็ได้แพะที่เป็นแฝดทั้งสองแม่ ประกอบด้วยเพศเมีย 3 ตัว และเพศผู้ 1 ตัว ถือว่าเปิดฤกษ์ดีสำหรับคุณประจบ หลังจากที่ได้ผสมพันธุ์แล้วนับเวลาไปอีก 5 เดือน ก็มีชาวบ้านมาขอซื้อแพะตัวผู้ ก็ขายไปในราคา 2,600 บาท คิดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 100 บาท ถือเป็นแรงบันดาลใจที่อยากจะทำอาชีพเลี้ยงแพะ เพราะว่าถ้าเทียบกับราคาที่ขายไปถือว่าคุ้มมากสำหรับช่วงเวลา 16 กว่าปีที่แล้ว
หลังจากนั้น ได้ศึกษาวิธีการเลี้ยงแพะอย่างจริงจัง เนื่องจากในช่วงนั้นแพะเริ่มเยอะขึ้น บวกกับการเลี้ยงแบบทั่วไปคือ ปล่อยเช้าเย็นกลับ ทำให้การจัดการเวลาไม่ทัน เลยหันมาศึกษาและปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงด้วยการจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น หรือการเลี้ยงแบบระบบฟาร์ม และเมื่อมีการเลี้ยงที่เป็นระบบแล้ว ก็เริ่มมีเป้าหมายเพื่อเป็นช่องทางในหารายได้เข้ามาบริหารฟาร์ม ทั้งการส่งแพะเข้าประกวด หรือแม้แต่ศึกษาถึงขั้นทำอย่างไรให้แพะโตเร็วสมบูรณ์น้ำหนักดีพร้อมที่จะนำไปขายทอดสู่ตลาดได้ จนมาถึงโค้งสุดท้ายที่ต้องตัดสินใจอีกครั้งว่าจะเลือกเลี้ยงแพะไปในทางไหน
สุดท้ายก็ได้ที่มาว่าจะเลี้ยงแพะเนื้อ เพราะคิดว่าสามารถทำรายได้ดีกว่า ก็เริ่มลงทุนไปซื้อแพะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ CP มา 2 ตัว ตัวละ 12,000 บาท หลังจากนั้นมา ก็ซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มาเรื่อยๆ จนมาถึงตอนนี้ก็มีแม่พันธุ์ 100 กว่าตัว รวมลูกแล้วราวๆ 200 กว่าตัว ซึ่งเป็นสายพันธุ์บอร์แท้ เหตุผลที่เลือกสายพันธุ์บอร์เพราะว่าลักษณะของสายพันธุ์บอร์คือ ขาว หัวแดง เข้ม อ้วน เนื้อเยอะ สามารถทำอัตราการผลิตต่อเดือนไม่น้อยกว่า 5-7 กิโลกรัม และนี่คือเหตุผลข้อหนึ่งที่เลือกเลี้ยงแพะสายพันธุ์บอร์
“เมื่อก่อนพื้นที่บ้านเราเป็นสวนยางพารา สวนปาล์ม ชีวิตของคนในชุมชนก็ทำการเกษตรผสมผสานส่วนมาก เมื่อก่อนผมได้เลี้ยงวัว พอเจอปัญหาเรื่องพื้นที่ ก็ทำให้ต้องมาศึกษาการเลี้ยงแพะ ต่อมาก็ได้ซื้อแพะตัวเมียมา 2 ตัว ตอนนั้นผมก็ไม่มีตังค์ ก็เลยปล่อยแพะเข้าไปกินหญ้าที่อยู่ในสวนยางพารา หลังจากนั้น ก็ซื้อแพะตัวผู้มาผสมพันธุ์กับตัวเมีย ก็ได้ลูกแฝดทั้ง 2 แม่ ก็ถือว่าได้กำลังใจในการทำงานมาถึงทุกวันนี้” คุณประจบ เล่าที่มาก่อนจะมาเลี้ยงแพะ
เลี้ยงแบบระบบฟาร์มลดต้นทุน
อย่างที่กล่าวเมื่อข้างต้นว่า ในช่วงระยะแรกที่เลี้ยงแพะมีการเลี้ยงแบบทั่วไป คือปล่อยเช้าเย็นกลับ จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือการปรับเปลี่ยนมาจัดการที่เป็นระบบฟาร์มทำให้เห็นได้ชัดว่า เวลาในการเลี้ยงน้อยลงแต่การเป็นอยู่ของแพะดีขึ้น ทั้งวิธีการเลี้ยงแบบระบบฟาร์มนั้นควรให้ความสำคัญทั้งในเรื่องของการให้อาหารและพื้นที่ในการเลี้ยง แน่นอนทั้งหมดทั้งมวลต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับปัญหาที่จะตามมาในภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการจัดการในเรื่องของพื้นที่ในการเลี้ยงที่ต้องใช้พื้นที่มากพอสมควร ขึ้นอยู่กับจำนวนแพะที่เลี้ยง
สำหรับฟาร์มแห่งนี้โรงเรือนยกสูง ใช้พื้นที่ในการเลี้ยง 2×2 เมตร มีทางเดิน มีรางไว้สำหรับให้อาหาร สามารถเลี้ยงแพะได้เต็มที่คือ 4 ตัว ซึ่งทั้ง 4 ตัวนั้นอายุก็จะไล่เลี่ยกัน เรียกได้ว่าเป็นการเลี้ยงที่เหมือนโรงเรียน ที่เริ่มต้นจากคอกที่เป็นอนุบาลไปจนถึงคอกรุ่นใหญ่ ทั้งนี้ การเลี้ยงแบบนี้ยังสามารถควบคุมปริมาณของอาหารทำให้ลดต้นทุนได้อีกด้วย ต่อมาเรื่องของอาหาร ที่ต้องมีให้กินอยู่ทุกวัน ยกตัวอย่างที่ฟาร์มของคุณประจบ ที่ลงทุนโค่นต้นยางเพื่อปลูกหญ้าให้แพะได้กิน หลักๆ แล้วหญ้าที่ปลูกนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นหญ้าวัวชน หญ้าอัตราตัม และหญ้ารูซี่
ผสมพันธุ์แพะภายในฟาร์มเอง
นอกจากนี้ ที่ฟาร์มยังมีการผสมพันธุ์ โดยขั้นตอนการผสมพันธุ์จากทางฟาร์มนั้น เริ่มจากการที่เลี้ยงดูตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งในช่วงแรกก็ต้องมีการแยกลูกออกจากแม่ในตอนเช้า เพื่อไม่ให้แม่เครียด แยกประมาณอยู่ครึ่งวันก่อนที่จะปล่อยเข้า ทำแบบนี้ประมาณ 10 วัน เพื่อฝึกและกระตุ้นเพื่อไม่ให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์เครียด และถ้าหากไม่ทำวิธีนี้แล้ว กว่าจะนำไปผสมพันธุ์อีกครั้งก็ต้องรอนานถึง 3 เดือนกว่า แต่ถ้าใช้วิธีนี้ไม่ต้องรอให้ถึง 3 เดือนก็สามารถผสมพันธุ์ได้แล้ว ต่อมาเมื่อถึงเวลา 3 เดือนจำเป็นที่จะต้องแยกขาด จากนั้นรอไปอีก 1 เดือนกว่าจะขายได้ สรุปแล้วแพะที่จะสามารถขายได้นับตั้งแต่แรกเกิดจนครบกำหนด 4 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน ก็สามารถขายในท้องตลาดได้
ตลาดความต้องการสูง
สำหรับการทำตลาดของแพะในปัจจุบันนี้ถือว่ายังมีอัตราความต้องการสูงเช่นเดิม ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มลูกค้าที่เข้ามารับซื้อนั้นยังเป็นลูกค้าทั้งที่เป็นรายเก่าและรายใหม่ บ้างก็ซื้อไปทำพิธีกรรมทางศาสนา หรือซื้อเพื่อไปเลี้ยงและพัฒนาสายพันธุ์ ส่วนเรื่องของราคานั้นก็เริ่มต้นกันที่ 30,000 ไปจนถึง 70,000 บาท หรือหลักแสนก็มี แล้วแต่อายุของแพะ ซึ่งที่มาของราคาแพะนี้ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลจัดการที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ราคาพึงพอใจต่อความต้องของตลาด
“การตลาดในปัจจุบันนี้ ความต้องการของลูกค้าสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ไม่พอต่อความต้องการด้วยซ้ำ แต่จะทำอย่างไรได้ ธุรกิจมันต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ส่วนเรื่องราคานั้นไม่ค่อยมีปัญหา และลูกค้าส่วนใหญ่พอใจในสินค้าของเรา อาจจะเป็นการดูแลจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น ทำให้ลูกค้าอยากที่จะเข้ามาซื้อ อยากจะเข้ามาดู” คุณประจบ บอก
คุณประจบ ฝากถึงเกษตรกรที่กำลังอยากเลี้ยงแพะนั้นต้องมีเป้าหมาย และให้กลับมาถามตัวเองว่ามีศักยภาพเท่าไร จะไปแนวไหน จะเลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง หรือจะเลี้ยงแบบระบบการจัดการฟาร์ม สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องมีการศึกษาวางแผนล่วงหน้า เพราะในอนาคตไม่มีใครรู้ว่าจะต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง ฉะนั้น ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณประจบ วรินทรเวช หมายเลขโทรศัพท์ 084-059–7859, 095-727–5452
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2564