“สมใจนึก” เครื่องแกงโกอินเตอร์ ใช้ความเป็นไทยบุกตลาดโลก

ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เครื่องแกงสมใจนึก

จากกองทัพผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารของไทยและต่างประเทศ 1,800 ราย ใน 4,600 คูหา ที่จัดทัพมาร่วมงาน “ไทย เฟค-เวิล์ด ออฟ ฟู้ด เอเชีย 2016” (THAIFEX-World of Food Asia 2016) ที่อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการไทยที่นำสินค้ามาเปิดตัว และโดนใจผู้ที่มาเดินชมงาน นั่นก็คือ เครื่องแกง แบรนด์ไทย “สมใจนึก” ของดีจากจังหวัดสงขลา

“สมใจนึก” มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยไม่แพ้ชาติใดในโลก จัดว่าเป็น “เครื่องแกง โกอินเตอร์” ทำให้ตัวเองให้สวยตั้งแต่ก้าวแรก ด้วยการนำวัตถุดิบทางเกษตร ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงที่มาจากธรรมชาติ 100% ทั้ง ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก และมะนาว เป็นต้น มาใส่กระบวนการผลิตแปรรูปจนมีรูปลักษณ์สวยงาม ราคาไม่แพง

คุณสารภี อิสโร โชว์ซองเครื่องแกง “สมใจนึก” ที่ใช้เวลาต่อสู้ถึง 12 ปี
คุณสารภี อิสโร โชว์ซองเครื่องแกง “สมใจนึก” ที่ใช้เวลาต่อสู้ถึง 12 ปี

โดย คุณสารภี อิสโร เจ้าของสูตรเครื่องแกง “สมใจนึก” บอกกับ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ว่าปีนี้ใครจะยอดขายไม่ดี แต่สำหรับน้ำพริกสมใจนึก มียอดขายดีกว่าทุกปีเลยทีเดียว

 

ใช้เวลา 12 ปี กว่าจะขายดี

จากจุดเริ่มต้นผลิตเครื่องแกง โดยการรวมกลุ่มภายใต้ชื่อ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครื่องแกงสมใจนึก” มีสมาชิก 13 คน แบ่งกลุ่มกันทำงานอย่างเป็นระบบ ทั้งฝ่ายบริหาร ฝ่ายผลิต และฝ่ายการตลาด

“สมาชิกมี 13 คน จะแบ่งหน้าที่กัน แบ่งเป็นไลน์ๆ ออกไป แล้วตอนนี้พัฒนาจนได้รางวัล เบสท์ ออฟ สงขลา (Best of Songkhla) และพัฒนาจนได้ 5 ดาว” คุณสารภี เล่าให้ฟังถึงความสำเร็จ ซึ่งยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะจะต้องนำแบรนด์ “สมใจนึก” ไปขยายกำลังการผลิต จึงต้องวางแผนจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท ตามคำแนะนำของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐได้สะดวกขึ้น รวมทั้งมีโอกาสในการพัฒนาตัวเองขึ้นสู่การเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อย่างเต็มตัว

ส่วนความเป็นมาของเครื่องแกง “สมใจนึก” นั้น มาจากจุดเริ่มต้น ความมีฝีมือทำอาหารของคุณสารภี จากการเปิดร้านอาหารจนมีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา มาสู่การรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านในท้องถิ่น ก่อตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ขึ้นมา

“เมื่อก่อนพี่เปิดร้านอาหารที่สะเดา มีลูกค้ากลางถึงบน มีลูกค้ามาเลเซียเข้ามาทาน พอทานเสร็จแล้ว ลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซียบอกว่า เอาแต่เครื่องแกง เดี๋ยวผักเขาไปใส่เอง แกงส้มใส่แต่ปลา เดี๋ยวไปใส่ผักเอง ตอนหลังมาเขาก็มาซื้อแต่น้ำแกงไป ก็เลยทำเครื่องแกงขายคู่กับร้านอาหารตั้งแต่ปี 2547 พอมีออเดอร์เครื่องแกงก็หยุดทำร้านอาหารมา 2-3 ปีแล้ว” คุณสารภี เล่าถึงความทุ่มเทในการทำสูตรเครื่องแกง ซึ่งต้องใช้เวลากว่าจะหน้าตาเครื่องแกงจะมีรูปโฉมทันสมัย

ลูกสาวกำลังขายเครื่องแกงในงาน “ไทย เฟคฯ 2016”
ลูกสาวกำลังขายเครื่องแกงในงาน “ไทย เฟคฯ 2016”

ที่สำคัญ คุณสารภียังได้อาศัยลูกสาวคนโตเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการประกอบธุรกิจ เพราะเรียนจบปริญญาตรี ด้านวิทยาศาสตร์การอาหารมาโดยเฉพาะ ซึ่งจะมาดูแลเรื่องการพัฒนาสูตรให้ปลอดภัย สะอาด มีระบบบรรจุภัณฑ์ทันสมัย และเอกสารต่างๆ ส่วนลูกสาวอีกคนจบด้านภาษาจีน วางแผนว่าจะให้มาดูแลเรื่องการตลาด

“ปี 2547 ที่เริ่มทำเครื่องแกงขาย ลูกสาวคนโตเพิ่งจะอยู่ ม.5-ม.6 ตอนนั้นไปมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) นำเครื่องแกงไปเช็กเชื้อว่าจะอยู่ได้นานเท่าไร ราคาค่าเช็กเชื้ออยู่ที่ 2 แสนบาท แต่ไม่แน่ใจน่ะว่าอายุของเครื่องแกงจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ตอนหลังพาลูกไปเช็กเชื้อด้วย เพราะ 6 เดือน หรือปีหนึ่งต้องไปเช็กครั้งหนึ่ง ซึ่งเราไต่มาจากชาวบ้าน เราไม่มีทุน ก็เลยกลับไปนอนเงียบเลยเพราะไม่มีเงิน และทีนี้ลูกสาวคนโตสอบได้โควต้าได้ทันตแพทย์ ที่ มอ. แต่พอมีปัญหาเรื่องฟู้ดส์ ก็เลยบอกว่า ลูกสอบเข้าฟู้ดส์ให้แม่ได้ไหม เขาก็บอกได้ พอลูกเรียนฟู้ดส์ เขาทำเป็นโปรเจ็กต์ พี่ก็ไม่ต้องจ่ายค่าเช็กเชื้อ พี่ก็เลยตั้งชื่อน้ำพริกว่า สมใจนึก พอเขาทำโปรเจ็กต์ เขาก็ไปเช็กเชื้อให้ และทำโปรเจ็กต์เอง กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ก็ยังอยู่ แต่เราบริหารอีกแบบหนึ่งคือ การบริหารเราทำเป็นหน้างาน มีค่าแรงก็รับหน้างานไป และมีส่วนกลาง 10% เวลาหน่วยงานไหนมีอบรม ก็เอาเงินส่วนกลางไปอบรม และร่วมกันหาวัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิต โปรเซสการผลิต ตอนนี้ในไลน์การผลิตมี 4 คน และจะมีฝ่ายติดสติ๊กเกอร์อีกส่วนหนึ่งก็ใช้วิธีแจกจ่ายงานกันไป” คุณสารภี เล่าให้ฟังอย่างอารมณ์ดี  

“จุดเด่นของพริกแกงสมใจนึกคือ ความสะอาด เราชัวร์ บางที่ปั่นจะเป็นน้ำ ของเราจะแห้ง และที่อื่นไม่มีวันหมดอายุ แต่เรามีวันหมดอายุบอกให้ รวมทั้งใส่บรรจุภัณฑ์มิดชิด เมื่อแพ็กซองเสร็จแล้ว ก็ยังนำไปผ่านระบบการฆ่าเชื้ออีกรอบหนึ่ง รับรองความปลอดภัย 100%” คุณสารภี เล่าให้ฟัง

1469421009

พร้อมกับบอกว่า ราคาเครื่องแกงที่มีส่วนผสมของวัตถุดิบทางการเกษตรนั้น มาจากท้องถิ่นในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ทำให้มั่นใจวัตถุดิบได้ว่า ปลอดภัยและมาจากธรรมชาติ เช่น น้ำมะนาวซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในพริกแกง จะใช้น้ำมะนาวแท้ ไม่ปรุงแต่งกลิ่น เพื่อรักษารสชาติความเป็นไทยของพริกแกง ที่ต้องมีรสชาติมะนาวแท้ รวมไปถึงความสะอาดที่ผู้บริโภคมั่นใจได้ 

 

“ราคา-แพ็กเกจจิ้ง” โดนใจผู้บริโภค

ปัจจุบันเครื่องแกง “สมใจนึก” มีทั้งหมด 9 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ต้มยำ แกงป่า แกงส้ม ต้มส้มโตนด คั่วกลิ้ง แกงกะทิ ผัดเผ็ด แกงไตปลา และน้ำยากะทิ นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดคือ ซาลาเปาไส้คั่วกลิ้ง ที่ผ่านกระบวนการฟรีซ (freeze) สามารถรับประทานได้ทันที

“ช่วงนี้ เดือนหนึ่งผลิต 5,000-6,000 ซอง สูตรที่ขายดีสุดคือ แกงส้ม แกงคั่วกลิ้ง และน้ำยาไตปลา เป็นสินค้าใหม่ปีนี้ ตอนแรกจะทำเป็นแกงส้มอย่างเดียว ตอนหลังก็เพิ่มมาเป็นต้มยำคั่วกลิ้ง ผัดเผ็ด แกงป่า น้ำยา และแกงไตปลา ตัวนี้รสชาติของเราเป็นสูตรของเราเอง และตอนนี้มีชาวญี่ปุ่นสั่งออเดอร์มา 20 ชุด ขอเป็นอัดก้อน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เข้ามาช่วยรับไปดูเรื่องอัดก้อนให้อยู่ กำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยอยู่ คาดว่าปีหน้าจะออกวางตลาดได้แล้ว”

1469420998

ส่วนตลาดปัจจุบันวางจำหน่ายในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต สาขาหาดใหญ่ ตลาดสด อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ร้านดอยคำ ร้านภูฟ้า ตลาดเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) 7 สาขาของริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ตจังหวัดเชียงใหม่ และส่งไปจำหน่ายที่มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย โดยเริ่มเปิดตลาดเล็กจากการมีผู้ซื้อที่เป็นคนไทยนำไปจำหน่ายเองในประเทศนั้นๆ

สำหรับตลาดต่างประเทศ เครื่องแกง “สมใจนึก” นับว่าเป็นเหมือนเด็กเพิ่งก้าวเดินก้าวแรกในการทำตลาดต่างประเทศ เพราะแม้จะมีออเดอร์มาบ้างแล้ว แต่เป็นเพียงลูกค้ารายย่อย ยังไม่ได้รับออเดอร์จากตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบใหม่ของสูตรคั่วกลิ้ง ภายใต้บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ที่ออกแบบโดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาด้านการตลาด จากนั้นให้ผู้ประกอบการนำไปพิมพ์เอง ซึ่งสำหรับเครื่องแกง “สมใจนึก” ได้รูปโฉมใหม่ล่าสุด สวยงาม สามารถบรรจุซองเครื่องแกงได้ 12 ซอง จำหน่ายในราคาซองละ 40 บาท

เพราะฉะนั้น โฉมหน้าของ “เครื่องแกง” ใน พ.ศ. 2559 นี้ จึงทุบรูปแบบเครื่องแกงแบบเดิมๆ แต่ยังคงกลิ่นอายความเป็นเครื่องแกงของไทย นั่นคือ มีเจ้าของสูตรเครื่องแกง เป็นพรีเซ็นเตอร์ และนำมาเป็นโลโก้บนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งถูกพัฒนาจากใส่ถุงพลาสติก มัดหนังยาง และใส่กระปุก มาใส่ซองพลาสติก และกล่องกระดาษที่ผ่านการออกแบบด้วยเทคโนโลยีอย่างดี ชวนให้คนยุคใหม่ซื้อเครื่องแกงไปทำ “กับข้าว” รับประทานเองในครอบครัว

ด้วยเทคนิคทางการตลาดในการให้รายละเอียดเรื่องบรรจุภัณฑ์ของเครื่องแกง “สมใจนึก” จึงทำให้ก้าวมาสู่ความสำเร็จในระดับหนึ่ง ทำให้รูปแบบของน้ำพริกน่าจับต้อง และน่าลิ้มลอง

คุณสารภี ก็ยังถ่อมตนว่า ไม่เก่งเรื่องการตลาด อยากหานักการตลาดมาช่วยเรื่องการขยายตลาดเครื่องแกงในตลาดต่างประเทศ

“เราไม่เก่งแต่อยากได้การตลาด อยากได้คนที่มีความรู้เรื่องการตลาดมาวางแผนให้เรา เพราะตอนนี้เรามีสูตรแน่นอนทุกปี แต่อยากเจอแบบว่า ให้เพิ่มตลาดได้มากขึ้น เราไม่รู้ว่าเราจะเดินยังไง”

“ตลาดพริกแกงเฉพาะจังหวัดสงขลา มีผู้ทำพริกแกงอย่างเดียวร้อยกว่าเจ้า คนทำขายเยอะมาก จึงหยุดพัฒนาไม่ได้ คนทานเน้นเรื่องเครื่องแกงว่าต้องมี จีเอ็มพี ซึ่งของสมใจนึกปลอดภัยแน่นอนและก็สะดวก เป็นซองผสมน้ำได้เลย ทำอาหารทานในครอบครัว ก็มีความสุข” คุณสารภี กล่าวทิ้งท้ายว่า 

ใครที่สนใจอยากจะสอบถามข้อมูลหนึ่งในสินค้าเกษตรแปรรูป ที่มีเส้นทางการต่อสู้จากประสบการณ์จริงๆ และยลโฉมเครื่องแกง โกอินเตอร์ แบรนด์สัญชาติไทย “สมใจนึก” ติดต่อสอบถามได้โดยตรงที่ คุณสารภี อิสโร ประธานกลุ่มสมใจนึก เลขที่ 82/15 ซอยเหรียญรุ่งโรจน์ ถนนกาญจนวณิชย์ ตำบลสะเดา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เบอร์โทรศัพท์ (074) 460-855, (081) 479-7189